ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันอังคารที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2553

จีนกับอาเซียน

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์





                 เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่พัฒนาขึ้นอย่างมากหลังเสร็จสิ้นการประชุมอาเซียนและคู่เจรจาจัดขึ้นในปีนี้ มีการวิเคราะห์และประเมินตัวเลขมูลค่าการค้าขายระหว่างอาเซียนกับประเทศจีน ปรากฏว่าในระยะหลังสามปีมานี้ จีนเป็นประเทศคู่ค้าที่มาแรงมากที่สุด ยังไม่นับความสัมพันธ์ด้านอื่นๆที่ก็พัฒนาเพิ่มมากขึ้นอย่างยิ่ง
                 รายงานข่าวการวิเคราะห์จากหนังสือพิมพ์เหรินหมิงของจีนฉบับเมื่อวานนี้ เฉพาะรอบครึ่งปีที่ผ่านมามูลค่าการค้าขายระหว่างจีนกับอาเซียนพุ่งทะลุ ๑๓๖,๕๐๐ล้านเหรียญสหรัฐเรียบร้อยแล้ว เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ๕๕ และทำให้กลุ่มประเทศอาเซียนขยับมาเป็นคู่ค้าใหญ่อันดับที่ ๔ ของจีน ปัจจัยหลักสำคัญที่ส่งผลให้ปริมาณการค้าขายพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ก็คงเป็นเพราะผลของข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างจีนกับอาเซียน ที่เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อ ๑ มกราคมปีนี้  เรียกได้ว่านับแต่วันนั้นการค้าขายระหว่างจีนกับอาเซียนได้พัฒนาเข้าสู่ยุคใหม่เรียบร้อย  หากเข้าไปดูรายละเอียดของตัวเลขการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนในครึ่งปีแรก  จีนเป็นฝ่ายนำเข้าสินค้าจากอาเซียน ๗๒,๐๐๐ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๖๔ จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อาเซียนนำเข้าจากจีน ๖๔,๖๐๐ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๔๕  จากปีที่แล้ว ในด้านการลงทุนร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจ การลงทุนของกลุ่มอาเซียนในประเทศจีนเพิ่มขึ้นจาก ๒,๙๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐในปี ๒๐๐๓  เป็น ๔,๗๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐในปี ๒๐๐๙  ในช่วงเวลาเดียวกันฝ่ายจีนลงทุนในประเทศกลุ่มอาเซียนเพิ่มขึ้นจาก ๒๓๐ ล้านเหรียญ เป็นกว่า ๓,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง๑๓เท่าตัว  หากนับรวมจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาหรือรอบครึ่งแรกของปีนี้ มูลค่าสะสมรวมการลงทุนทางเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย มีมูลค่าสูงถึง ๖๙,๔๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ  แยกเป็นการลงทุนจากกลุ่มอาเซียน ๕๙,๘๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ การลงทุนของฝ่ายจีน ๙,๖๐๐ล้านเหรียญสหรัฐ


                 หากพิจารณาแยกตามสาขาของกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จารการขยายตัวทางการค้าการลงทุนของทั้งสองฝ่าย ปรากฏว่ามีทั้งสินค้าและการลงทุนในภาคเกษตร อุตสาหกรรม การแปรรูปอาหาร และภาคบริการ โดยเฉพาะในส่วนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว  จำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนที่หลั่งไหลเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวต่างๆในกลุ่มอาเซียน เพิ่มสูงขึ้นจาก ๑.๙๑ ล้านคนในปี ๒๐๐๓ เป็น๔.๕ ล้านคนในปี ๒๐๐๙
                 ก่อนหน้านี้  นักวิเคราะห์ชาวตะวันตก มักมองกันว่าประเทศจีนจะเป็นปัจจัยหลักสำคัญในการช่วยประคับประคองภาวะเศรษฐกิจของโลกไม่ให้ตกต่ำจนเกินไปจากวิกฤตการณ์ซับไพร์มในซีกโลกตะวันตก อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากอัตราการเติบโตโดยรวมของกลุ่มประเทศอาเซียน และระดับความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียนอย่างที่เป็นอยู่  ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ากลุ่มประเทศอาเซียนกำลังกลายเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญอีกตัวหนึ่งของเศรษฐกิจโลก เพราะกลุ่มประเทศอาเซียนไม่ได้เป็นแต่เพียงผู้ส่งออกเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูงสำหรับสินค้าของประเทศตะวันตกด้วย แม้ว่าจะมีความห่วงใยจากกลุ่มนักวิเคราะห์บางสำนักที่ประเมินในมุมมองเศรษฐศาสตร์การเมือง ว่าอาเซียนกำลังถูกผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจจีน หากระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจจีน-อาเซียนยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเสียสมดุลจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่อาเซียนมีต่อประเทศหรือกลุ่มประเทศอื่นๆ เช่นสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ประชาคมยุโรป หรือร้ายกว่านั้น(แน่นอนว่าในสายตาของฝรั่ง) จีนอาจสามารถผนวกรวมระบบเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและอาเซียนเข้าเป็นเขตเศรษฐกิจเดียว ซึงจะกลายเป็นกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจที่ใหญ่และมีอัตราการเติบโตสูงที่สุดของโลกในสมัยปัจจุบัน
                 แต่ดูเหมือนจีนจะไม่ได้สนใจการวิพากษ์วิจารณ์ของตะวันตกเท่าใดนัก ในเวที่การประชุมกลุ่มประเทศอาเซียนครั้งที่ ๑๗ ที่ผ่านมา รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของจีน ในฐานะคู่เจรจาฝ่ายจีน ได้ประกาศต่อที่ประชุมว่าจีนมีความตั้งใจจริงและมุ่งมั่นที่จะขยายขอบเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับกลุ่มอาเซียนให้มากยิ่งขึ้นในหกด้านคือ ประการที่หนึ่ง ร่วมกันยกร่างแผนงานการร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจเฉพาะหน้าระหว่างปี ๒๐๑๑-๒๐๑๕ เพื่อกำหนดแผนการทำงานร่วมกันทางเศรษฐกิจ ในโอกาสที่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและอาเซียนจะครบรอบปีที่๒๐ในปีหน้า ประการที่สอง ร่วมมือกันขจัดข้อกีดขวางที่ยังมีเหลืออยู่และเป็นอุปสรรคต่อข้อตกลงเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน หากเป็นไปได้ต้องยกเลิกภาระภาษีและเงื่อนไขการส่งออกสินค้าทุกชนิด ประการที่สาม ดำเนินการให้กองทุนความร่วมมือในการลงทุนจีน-อาเซียนซึ่งจัดตั้งขึ้นแล้ว สามารถทำหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้น  ประการที่สี่ ส่งเสริมให้มีความร่วมมือกันมากยิ่งขึ้นในด้านการเงิน แก้ไขปัญหาความยากจน การอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เสถียรภาพและความมั่นคงของภูมิภาค ประการที่ห้า ส่งเสริมความร่วมมือและแลกเปลี่ยนในภาคประชาชนระหว่างสองฝ่าย เช่นการแลกเปลี่ยนเยี่ยมเยือนกันของสื่อมวลชน เยาวชน และหน่วยงานที่ไม่ใช่ภาครัฐ ประการสุดท้าย สร้างเสริมความเป็นเอกภาพในประเด็นปัญหาระดับโลกและจุดยืนในระดับนานาชาติ
                 หากพิจารณาดูเป้าหมายที่จีนวางไว้ทั้งหกประการ ก็พอเข้าใจได้ว่าเหตุใดฝรั่งตะวันตกถึงได้เป็นห่วง  แต่สำหรับผมแล้ว ข้อสำคัญที่น่าห่วงใยมากกว่าก็คือ ในท่ามกลางการพัฒนาระหว่างจีน-อาเซียนที่กำลังโตวันโตคืน ประเทศไทยกำลังทำอะไรและอยู่ในตำแหน่งไหนของการไหลเลื่อนทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองระดับภูมิภาคที่สำคัญยิ่งนี้ ใครรู้ก็ช่วยบอกผมด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น