ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันพุธที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ปฏิรูปช่องว่างทางสังคม

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


                     เมื่อไม่นานมานี้ มีเวทีประชุมระดมสมองที่สำคัญเกิดขึ้นในประเทศจีน  เป็นเวทีประชุมนักวิชาการการระดับกูรูทั้งชาวจีนและชาวต่างชาติ เพื่อที่จะวางแผนกำหนดยุทธศาสตร์ตั้งรับสถานการณ์และแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้น และส่งผลให้ช่องว่างระหว่างเมืองและชนบทของจีนถ่างกว้างขึ้นทุกที  เจ้าภาพหลักของงานนี้คือ คณะกรรมาธิการการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของพรรค ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมนำร่องการปฏิรูปชนบท ตามแผนพัฒนาฉบับที่12ของจีน ซึ่งกำลังยกร่างกันอยู่ และจะมีผลใช้กำกับนโยบายการพัฒนาของประเทศจีนในช่วงปี 2011-2015  ผมติดตามข่าวดู ทำให้นึกถึงเป้าหมายงาน คปร. ของท่านอานันท์ ปันยารชุน คล้ายปัญหาบ้านเราที่กำลังหาทางปฏิรูปแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งเชื้อกันว่าใหญ่กว่าปัญหาไพร่กับอำมาตย์ ผมเลยขออนุญาตนำมาเล่าสู่ให้ท่านพิจารณากัน


                 อันที่จริง ผมเคยนำเสนอข้อมูลไว้ในคอลัมน์นี้มาครั้งหนึ่งแล้ว ว่าจีนกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาวิกฤติอย่างสำคัญ คือการที่เมืองเดินหน้าพัฒนาไปมากจนละทิ้งชนบทไว้เบื้องหลัง ทำให้เกิดความแตกต่างอย่างสุดขั้วในหลายเรื่อง และปัญหาความแตกต่างเหล่านี้นับวันจะสลับซับซ้อนและแก้ไขยากขึ้นทุกที  คนชนบทจำนวนมากที่อพยพเข้ามาหางานทำในเมือง ส่วนใหญ่ก็มาด้วยสาเหตุหลักของความแตกต่างทางสังคมนี่แหละ  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้ สาธารณูปโภคพื้นฐาน การบริการสาธารณสุข โอกาสทางการศึกษา และอื่นๆอีกมาก  งานใหญ่ที่รอการแก้ไข คือทำอย่างไรจึงจะสามารถปฏิรูปปรับเปลี่ยนแบบแผนทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ที่สามารถเชื่อมโยงเมืองและชนบทของจีนเข้าด้วยกัน ทำให้ชนบทและผู้คนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 60 ของประเทศ ได้รับประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แม้ไม่ถึงกับเสมอหน้าเท่าเทียมกัน แต่อย่างน้อยก็อย่าให้แตกต่างกันมากจนเกินไป เรื่องแบบนี้หากพูดในประเทศคอมมิวนีสต์แบบจีนเมื่อ 30 ปีที่แล้ว คงไม่มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ แต่ทุกวันนี้มันเป็นอย่างนั้นจริงโดยไม่ต้องสงสัย

                 ในที่ประชุม ได้มีการนำเสนอเหตุปัจจัยต่างๆที่นำไปสู่ช่องว่างระหว่างเมืองและชนบทของจีน เฉิน ซีเหวิน รองประธานคณะทำงานกลางการแก้ไขปัญหาชนบท ระบุปัญหาที่ดินในฐานะสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง ที่ดินจำนวนมากในเขตชนบท ถูกปรับเปลี่ยนการใช้เพื่อสนองตอบความต้องการของเมืองที่ขยายใหญ่ขึ้น เขาเรียกร้องให้รัฐบาลส่วนกลางเข้าไปกำกับการใช้ที่ดิน และอนุรักษ์พื้นที่เกษตรเพื่อป้องกันการสูญเสียอาชีพของเกษตรกร ในหลายมณฑล การใช้อำนาจเวนคืนหรือบังคับซื้อสิทธ์ในที่ดินการเกษตรเพื่อการพัฒนาเมือง ได้ก่อให้เกิดหายนะอย่างสำคัญในหมู่ประชาชนที่ไม่มีอาชีพอื้นรองรับ ชุมชนที่ก่อตัวและยึดโยงกันเหนียวแน่นต่อเนื่องนับหลายร้อยปี สลายหายวับไปในชั่วข้ามคืน พร้อมๆกับรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ประชาชนจำนวนมากของจีนกำลังสูญเสียทั้งที่ดิน อาชีพ และรากเหง้าจิตวิญญาณ
                 ชี่ ฝู่หลิน ประธานสถาบันการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ เรียกร้อยให้สำรวจและพัฒนาสถานภาพของกลุ่มแรงงานอพยพ( ตัวเลขล่าสุดในปี 2009 มีมากถึง150ล้านคน) กำหนดกติกาทางสังคมที่เปิดโอกาสให้กับแรงงานอพยพด้วยการปฏิรูประบบทะเบียนราษฎร์ของจีน เพื่อกำหนดสถานภาพที่ชัดเจนของแรงงานเหล่านี้ ยุติปัญหาการเข้าถึงสิทธิ์ในการรับบริการทางสาธารณสุข และบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานอื่นๆที่แรงงานเหล่านี้สมควรได้รับ ในฐานะที่เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศ ยุติปัญหาการโยกย้ายเร่ร่อนหางานทำอย่างไม่รู้จบสิ้น     แก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทั้งทางรายได้ ค่าเช่าที่อยู่อาศัย และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล (ความแตกต่างของรายได้ระหว่างแรงงานในเมืองและแรงงานอพยพในปี2009 เท่ากับ 3.3เท่า ในเวลาเดียวกันแรงงานอพยพต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลแพงกว่า2.8เท่า)  เขาเสนอให้เริ่มต้นนับรวมแรงงานเหล่านี้   ในฐานะประชากรของเมืองที่ทำงานอยู่ตั้งแต่ปี2011เป็นต้นไป เพื่อไม่ให้สับสนว่าเป็นประชากรเป้าหมายการพัฒนาจากส่วนของเมือง หรือของชนบท
                 ในชนบทเอง ที่ประชุมได้ถกเถียงกันเกี่ยวกับแนวทางปฏิรูปที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัจจัยทั้งทางด้านภาษี ระบบการประกันสังคมหรือบำนาญเกษตรกร ปัญหาการบริการสาธารณสุขในชนบท ความอ่อนแอขององค์กรรากหญ้า อีกด้านหนึ่งตัวแทนจาก UNDP เสนอในที่ประชุม ให้ประเทศจีนเร่งรัดจัดการกับปัญหาการใช้ที่ดินเกษตรเพื่อกิจกรรมอื่นที่ไม่ใช่เกษตรกรรม อันเป็นต้นตอสำคัญของแรงงานอพยพ และต้องชะลอการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเขตเมือง เพื่อเปิดโอกาสพัฒนาและแก้ไขปัญหาในภาคชนบทให้ไล่ทันความเปลี่ยนแปลงและความเสียหายที่เกิดจากการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมในช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา
                 ว่ากันตามจริง เวทีประชุมเที่ยวนี้ ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลจีนเริ่มเป็นกังวลกับปัญหาที่เกิดขึ้นในชนบท ก่อนหน้านี้รัฐบาลตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี เจียง เจ๋อหมิน ก็เคยเร่งรัดกระจายการพัฒนาไปสู่ชนบทในภาคตะวันตกของประเทศ เร็วๆนี้เองตอนต้นปี นายกรัฐมนตรีเหวิน ก็เคยแถลงในที่ประชุมพรรคว่าจะเร่งแก้ไขปัญหาความแตกต่างของรายได้ระหว่างเมืองและชนบทและสร้างเสถียรภาพทางสังคมให้ได้  แต่ปัญหาใหญ่อยู่ที่ว่าจีนจะทำเรื่องเช่นว่านี้ไปพร้อมๆกับการรักษาระดับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศได้หรือ  หรือพูดตามสำนวนแบบท่านนายกเหวิน เจียเป่าที่ว่า ประเทศจีนจะไม่เพียงทำให้ก้อนขนมเค้กของการพัฒนาเศรษฐกิจใหญ่ขึ้นเท่านั้น แต่ยังจะจัดการให้การแบ่งก้อนขนมเค้กเป็นธรรมมากยิ่งขึ้นด้วย
                 ผมไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ แต่ก็พอมองออกว่างานนี้ไม่ง่าย การรักษาระดับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการจัดการกระจ่ายรายได้อย่างเท่าเทียมเป็นธรรม ดูจะเป็นเรื่องสวนทางกันและเป็นปัญหาโลกแตกมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ยากพอๆกับการทำให้สังคมเสมอภาพเท่าเทียมกันอย่างที่เคยคิดจะทำในสมัยท่านประธานเหมานั้นแหละครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น