ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันพุธที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2553

นครเสิ่นเจิ้นแห่งตะวันตกเฉียงเหนือ

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


                   ผมได้เคยนำเสนอเรื่องราวของนครเสิ่นเจิ้น ในโอกาสครบรอบสามสิบปีของการจัดตั้งและพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกของจีน  ในบทความชิ้นนั้นผมได้เล่าให้ท่านผู้อ่านที่รักได้ทราบถึงความสำเร็จที่ผ่านมาของเมืองมหัศจรรย์แห่งนี้ รวมทั้งแนวทางการพัฒนาในอนาคตของเสิ่นเจิ้น ที่ทางรัฐบาลกลางของจีนได้กำหนดไว้ แต่เนื่องจากพื้นที่คอลัมน์ไม่ได้มีมากมาย ผมก็เลยยังติดค้างเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้อง เป็นบทบาทภาระใหม่ของนครเสิ่นเจิ้น  แต่มัวเล่าเรื่องอื่นๆจนผ่านไปหลายสัปดาห์ ลืมไปแล้วจริงๆครับ  มาเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมานี้ เหลือบไปเห็นหน้าปกนิตยสาร Newsweek ฉบับประจำวันที่ 4 ตุลาคม ( เป็นฉบับที่ขายในเอเชีย หลายเรื่องไปโผล่ในฉบับ online ก่อนหน้าแล้ว ) จั่วหัวเรื่องการพัฒนาเมืองใหม่ทางตะวันตกของจีนบนหน้าปก  เลยทำให้ความจำของผมกลับคืนมา ว่ายังมีหนี้ค้างชำระที่ต้องเล่าให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบเพิ่มเติม สืบเนื่องเกี่ยวข้องกับนครเสิ่นเจิ้น



                  
   รายงานของนิตยสารNewsweek แจ้งว่านับแต่ปีกลายเป็นต้นมา รัฐบาลจีนได้ทุ่มงบประมาณจำนวนมากในแผนพัฒนาที่จะผลิกโฉม เมือง Kashgar ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ให้กลายมาเป็นนครเสิ่นเจิ้นแห่งที่สอง  โดยมอบหมายให้นครเสิ่นเจิ้นทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงและร่วมอุดหนุนงบประมาณ คงต้องเริ่มต้นด้วยการทำความรู้จักก่อนว่าไอ้เมืองที่ว่านี้อยู่ที่ไหนกัน  เมือง Kashgar นี้เป็นชื่อเรียกตามแบบตะวันตก ในภาษาจีนคือเมือง คาสือ ในเขตปกครองตนเองชนชาติอุยเกอร์ซินเจียง เป็นเมืองโอเอสีสชุมทางการค้าขายโบราณ มีปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์จีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นยุคแรกๆ มามีชื่อเสียงมากเป็นพิเศษในสมัยราชวงศ์หยวนหรือมองโกลในฐานะจุดแวะพักสำคัญบนเส้นทางสายไหม แต่กระนั้นก็ยังนับว่าไกลจากศูนย์กลางของจีนมาก แยกตัวออกจากชนชาวฮั่นส่วนใหญ่ด้วยทะเลทรายทาคลีมากานอันเวิ้งว้าง เกือบจะติดชายแดนด้านประเทศทาจีคีสถานและประเทศเคอร์กีสถาน หากบินจากปักกิ่งก็ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าหกชั่วโมง ประชากรเกือบทั้งหมดจากประมาณ4ล้านคนเป็นชาวมุสลิมอุยเกอร์ สภาพทางเศรษฐกิจล้าหลัง ทรัพยากรธรรมชาติมีน้อย  จุดเด่นประการเดียวคือตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ 

 
 
                  ที่ทำให้นานาชาติต้องจับตาดูเป็นพิเศษก็คือเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมปีนี้ รัฐบาลที่ปักกิ่งได้ประกาศยกระดับให้เมืองคาสือเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษล่าสุดของประเทศ หลังจากที่ว่างเว้นไม่ได้ประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่มาถึง 15 ปี(เมืองก่อนหน้าผมเข้าใจว่าคือเขตเศรษฐกิจพิเศษจูไฮ่ ถ้าจำผิดก็ขออภัย) ต้องถือว่าเป็นสัญญาณที่ชัดเจนที่สุดว่ารัฐบาลจีนเอาจริงกับเรื่องนี้ เพราะการประกาศให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น หมายความว่าจีนประสงค์จะดึงเอาทุนภายนอกให้เข้ามาร่วมพัฒนาพื้นที่อย่างจริงจัง ซึ่งจะทำให้เกิดบรรยากาศความเป็นนานาชาติและเมืองสมัยใหม่ ไม่ใช่เป็นเพียงการยักย้ายงบประมาณบริหารภายในเพื่อเอาใจและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ระหว่างฮั่นกับอุยเกอร์ ที่ประทุรุนแรงในช่วงสี่-ห้าปีที่ผ่านมา

               ที่ผมเกริ่นไว้ตอนต้นว่าเรื่องนี้สืบเนื่องเกี่ยวข้องกับนครเสิ่นเจิ้นก็เพราะ เพื่อให้สามารถเร่งรัดแผนของรัฐบาลกลางในการพัฒนาเมืองคาสือ ปักกิ่งได้มอบหมายให้มหานครกวางเจาและนครเสิ่นเจิ้นทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการพัฒนา พร้อมทั้งสั่งการให้ถ่ายโอนงบประมาณกว่า 9,800 ล้านหยวนให้กับเขตเศรษฐกิจพิเศษคาสือในระยะเวลา 5 ปี ตามนโยบาย มณฑลรวยช่วยมณฑลยากจน เป้าหมายเฉพาะหน้าคือยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้มีความทันสมัยทัดเทียมกับส่วนอื่นๆของประเทศ  ทำให้เมืองคาสือ กลายมาเป็นมหานครระดับนานาชาติที่เชื่อมโยงติดต่อกับเอเชียกลาง เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และยุโรปตะวันออก ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว นั้นหมายถึงต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม เท่าที่ผมทราบมา ตอนนี้ก็เริ่มมีบริษัทและนักลงทุนจำนวนหนึ่งจากนครเสิ่นเจิ้นและกวางเจา เข้าไปใช้ประโยชน์จากความเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของคาสือ (ได้รับยกเว้นภาษี และสิทธิประโยชน์การนำเข้าส่งออกสินค้าบางประเภท) เตรียมลู่ทางลงทุนในระบบทางรถไฟความเร็วสูง การก่อสร้างถนนทางด่วน ซึ่งสอดคล้องตามแผนการพัฒนา เพราะเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา รัฐบาลจีนกับอิหร่านเพิ่งจะบรรลุข้อตกลงให้จีนเข้าไปสร้างทางรถไฟจากเตหรานไปชายแดนอิรักเพื่อเปิดทางออกสู่ทะเล เส้นทางรถไฟนี้ ตามแผนในภาพรวมจะต่อเชื่อมกับทางรถไฟที่จีนจะลงทุนขยายจากคาสือไปยัง ทาจีคีสถาน เคอร์กีสถาน เตหราน และทะเลอาหรับ หรือเส้นทางรถไฟสายคาสือ อิสลามาบัด ท่าเรือน้ำลึกกวาดาร์ (Gwadar ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลอาหรับทางตะวันตกเฉียงใต้ของปากีสถาน รัฐบาลจีนไปสร้างท่าเรือน้ำลึกเตรียมไว้แล้ว สำหรับขนถ่ายน้ำมันจากตะวันออกกลาง และส่งสินค้าจีนไปตะวันตก) ทั้งหมดนี้เป็นส่วนย่อยส่วนหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจและความมั่นคงทางพลังงาน (หรือจะรวมความมั่นคงทางการทหารด้วยก็ไม่รู้ )ของจีนในระยะ30ปีข้างหน้า เมืองคาสือได้ก้าวจากหัวเมืองเล็กๆที่ซบเซามานาน พอๆกับเส้นทางสายไหมหลังยุคมองโกล บัดนี้กลับฟื้นคืนชีพเป็นศูนย์กลางเส้นทางสายไหมเหล็ก(ทางรถไฟ ตามสมญานามที่สำนักข่าวในจีนตั้งให้) ทำหน้าที่เป็นตัวต่อเชื่อมในแผนการยุทธศาสตร์ใหญ่ ที่มีความสำคัญไม่ใช่เพียงต่อประเทศจีน  แต่จะกลายมาเป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางต่อเชื่อมทางยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาค นับแต่การประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ผู้คนจำนวนมาก (แน่นอนว่าส่วนใหญ่คือชาวฮั่นจากมณฑลทางตะวันออกที่รวยกว่า) กำลังแห่กันเข้ามาจับจองทำเลทองและโอกาสทางธุรกิจที่กำลังขยายตัว ราคาห้องชุดและอสังหาริมทรัพย์รูปแบบอื่นๆสูงขึ้นจากเดิมกว่าร้อยละ30 จำนวนนักท่องเที่ยวจากส่วนอื่นๆของประเทศ เพิ่มขึ้นสามเท่าตัว  อัตราการเจริญเติบโตสูงถึง ร้อยละ17.4 เป้าหมายในอนาคตคือต้องเรียนรู้จากเสิ่นเจิ้นและเติบโตให้ได้อย่างเสิ่นเจิ้น คือเฉลี่ยที่ร้อยละ 25 ต่อปี แต่ทั้งหมดนี้ผมอย่างสรุปตอนท้ายแบบไม่สร้างสรรค์สักหน่อยว่า ได้ถามได้คุยกับชาวอุยเกอร์บ้างหรือยัง?
  
      

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น