ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2553

มรดกทางวัฒนธรรมของจีน

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



                   ในประเทศจีนทางการได้ประกาศให้มีกิจกรรมสัปดาห์มรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติ มีกิจกรรมต่างๆมากมายทั้งทางวิชาการและบันเทิง ซึ่งปีนี้ถือเป็นการจัดงานครั้งที่ห้า เมืองหลักที่รับเป็นเจ้าภาพในการจัดงานคือเมืองซูโจว เมืองเอกทางวัฒนธรรมของทางใต้ ในมณฑลเจียงซู(เมืองหลวงของมณฑลคือนานกิง) ท่านผู้อ่านคงคุ้นเคยชื่อกันดี เพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญคู่กับเมืองหางโจว บรรดาบริษัททัวร์บ้านเรามักจะพากรุ๊ปทัวร์ชาวไทยไปเที่ยวเสมอ นอกจากสวยงามมากแล้วยังอยู่ไม่ไกลเท่าไร อยู่ใกล้ๆกับมหานครเซี้ยงไฮ้ บินไปแค่4ชั่วโมงเศษก็ถึง  เสียค่าใช้จ่ายไม่มากนัก ยิ่งปีนี้ เห็นว่ากรุ๊ปทัวร์ชาวไทยคึกคักเป็นพิเศษ เพราะเหมารวมอยู่ในรายการเดียวกันกับงาน Expo ที่เซี้ยงไฮ้



                 ปีนี้นอกจากงานสัมมนาทางวิชาการมากมายแล้ว ไฮไลท์สำคัญยังอยู่ที่การจัดอันดับ 10 สุดยอดถนนสายประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของประเทศ มีการส่งชื่อเข้าประกวดจากทุกมณฑลนับร้อยราย ก็คงคล้ายๆกับการจัดอันดับสุดยอดแหล่งท่องเที่ยวในบ้านเรานั่นแหละครับ เพียงแต่ว่าของเขาทำกันยิ่งใหญ่กว่าเรามาก ที่จริงเมืองที่เข้ารอบสุดยอดถนนสายประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่คัดเลือกกันในปีนี้ จัดว่าเป็นรุ่นที่สอง เพราะก่อนหน้านี้ในปี2008 ทางสำนักงานส่งเสริมและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติของจีน ได้เคยจัดอันดับไปแล้วรุ่นหนึ่ง  แต่ไม่ได้หมายความว่ารุ่นสองจะเป็นรองกว่ากัน ทางผู้จัดการประกวดเปิดให้เมืองต่างๆได้มีโอกาสในการทำการปรับปรุงพัฒนาเมืองโบราณของตน ใครเสร็จก่อนก็ส่งเข้าประกวดก่อน ใครที่ยังอยู่ในขั้นการพัฒนาปรับปรุง ก็สามารถรอเข้าชิงในการจัดอันดับครั้งต่อๆไป ซึ่งแน่นอนว่ายังจะต้องมีการประกวดแข่งขันกันอีกหลายครั้งหลายรุ่น เพราะตอนนี้แต่ละเมืองต่างก็มีนโยบายขุดเอาแหล่งสำคัญทางทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในเมืองของตนออกมาพัฒนา เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวเหมือนๆกันไปหมด  คงคล้ายกับตลาดร้อยปีบ้านเรา ที่มีเกิดใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากกระแสการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมกำลังเป็นที่นิยม


                 สำหรับถนนสายประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมดีเด่นที่ได้รับการจัดอันดับในปีนี้ ได้แก่ 1 ถนนย่านสะพานชิง-หมิงเมือง อู๋-ซวี มณฑลเจียงซู  2ถนนฉีชวี้โค่ว มหานครฉงชิ่ง 3ถนน ตัวหลุน มหานครเซี้ยงไฮ้ 4 ถนน ตงก่วน เมืองหยางโจว 5 ถนนหมายเลขที่ห้า นครเทียนจิน 6 ถนนซานถัง เมืองซูโจว 7เมืองอานกังซี มณฑล เฮยหลงเจียง 8 ถนนยานไต้มหานครปักกิ่ง 9 ถนนโบราณเขตเมืองเก่า จังโจวมณฑล ฟู่เจี้ยน 10 ถนน จงซานเมือง กวนโจว


                 อย่างทีได้เรียนไว้ตอนต้น  การประกวดจัดอันดับสุดยอดถนนสายประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของจีนมีมาตั้งแต่ปี 2008  วัตถุประสงค์หลักอยู่ที่การส่งเสริมให้มีการจัดการดูแล และปรับปรุงพัฒนาย่านชุมชนที่มีเอกลักษณ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ที่โดดเด่นของแต่ละเมือง  ทำให้ประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของผู้คนยังคงสามารถอยู่ร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ กล่าวคือเป็นการอนุรักษ์ของโบราณโดยไม่ต้องขับไล่ผู้คนออกไป เท่ากับเป็นการสร้างชีวิตชีวาให้สถาปัตยกรรมย้อนยุคกลับมาคึกคักมีชีวิตใหม่  เกณฑ์การให้คะแนนตัดสินเพื่อจัดอันดับ แยกออกเป็นหกด้านด้วยกัน คือ 1ความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ 2ความโดดเด่นของวัฒนธรรม 3ความสมบูรณ์ของการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพ 4กิจกรรมทางเศรษฐกิจคึกคักมากน้อยเพียงใด 5ความเป็นชุมชนสังคมที่แท้จริง(ไม่ใช่เอาคนมาเข้าฉากแสดง) 6การจัดระเบียบและการบริหารจัดการที่ดีโดยชุมชนเจ้าของสถานที่ หลังจากแต่ละเมืองได้นำเสนอจุดเด่นของตนแล้ว คณะกรรมจัดประกวดก็จะเปิดโอกาสให้สาธารณชนทั่วไปเป็นผู้ให้คะแนนโหวต  จนถึงปัจจุบัน มีผู้เข้าร่วมโหวตแล้วกว่า หนึ่งล้านสี่แสนคนจากทั่วประเทศ  โดยมีข้อแม้ว่าผู้โหวตต้องเคยไปเยี่ยมชมในสถานที่จริงมาก่อน  การโหวตสามารถดำเนินต่อไปได้เรื่อยๆ ไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด ซึ่งหมายความว่าคะแนนที่แต่ละเมืองได้จะไม่หยุดนิ่ง สามารถเพิ่มขึ้นหรือลดลง ฉะนั้น ในบรรดาสองร้อยกว่าเมืองที่เข้าร่วมแข่งขัน หากทำการปรับปรุงพัฒนาได้ดี ก็อาจติดอันดับหนึ่งในสิบสุดยอด ไม่ปีใดก็ปีหนึ่ง ในทางกลับกัน เมืองที่เคยอยู่ในอันดับต้นๆ หากไม่พัฒนาต่อเนื่อง ก็อาจหลุดจากตำแหน่งได้เหมือนกัน



                 ในงานเดียวกันนี้ นอกจากการประกวดจัดอันดับสิบสุดยอดถนนสายประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแล้ว  ยังมีกิจกรรมทางวิชาการและการจัดงานส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอื่นๆอีกหลายกิจกรรม  ตัวอย่างเช่น ตลอดทั้งสัปดาห์นี้ จะเป็นคิวของมณฑลเจียงซู ในการรับเหมาการจัดแสดงโชว์ทางศิลปวัฒนธรรมทั้งหมดในงานExpoที่มหานครเซี้ยงไฮ้ ซึ่งอยู่เขตติดต่อกัน  การสัมมนาทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่ค้นพบใหม่  และปิดท้ายสัปดาห์นี้ ด้วยงานประกาศสิบสุดยอดงานขุดค้นทางโบราณคดีของรอบปี2009  สถาบันอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละมณฑล ต่างก็ส่งงานสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีของตนเข้าร่วมประกวดแข่งขัน งานนี้จะใช้กรรมการผู้ตัดสินกว่าร้อยคน จากสถาบันโบราณคดีทั่วประเทศ มาร่วมพิจารณาให้คะแนน  จนถึงเวลาที่ผมกำลังเขียนต้นฉบับบทความนี้อยู่  การตัดสินก็ยังไม่รู้ผลเด็ดขาด รู้แต่ว่ามาถึงรอบตัดเชือกให้เหลือ24แหล่งการสำรวจขุดค้น กว่าจะรู้ผลตัดสินชัดเจน ก็อาจต้องเลยวันพุธไปแล้ว  แต่ที่แน่ๆ แหล่งโบราณคดีเมืองอานหยางที่เชื่อกันว่าเป็นสุสานมหาอุปราชโจโฉแห่งยุคสามก๊ก ซึ่งผมเคยนำเสนอในคอลัมน์นี้ คงเข้ารอบได้เป็นสุดยอดหนึ่งในสิบการค้นพบทางโบราณคดีปี2009ค่อนข้างแน่นอน  เพราะจัดว่าเป็นข่าวอื้อฉาวถกเถียงกันมากที่สุดข่าวหนึ่งของปีที่แล้ว ไม่ว่าในหมู่นักวิชาการ หรือของจีนชาวบ้านทั่วไป
                 งานมหกรรมมรดกทางวัฒนธรรมครั้งที่ห้าที่เมือง ซูโจว ในปีนี้ปิดฉากลงด้วยการฉลองเทศกาลแข่งเรือมังกร หรือเทศกาลขนมบ๊ะจ่างที่เราชาวไทยคุ้นเคยรู้จักดี ซึ่งตรงกับวันขึ้นห้าค่ำเดือนห้าของจีน หรือก็คือวันนี้ พุธที่16 มิถุนายนนั้นเอง ถ้าจะเรียกอย่างเป็นทางการ ก็คือเทศกาล ตวนหวู่(端午)  หลังจบงาน คงจะได้รับทราบข่าวประกาศผลสิบสุดยอดการค้นพบทางโบราณคดีจีน ถ้ายังไม่เบื่อ ผมคงมีโอกาสเอามาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้ทราบในคราวต่อๆไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น