ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ความมั่นคงทางอาหารของจีน

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


                 ปี 2010 นี้ จัดได้ว่าเป็นปีที่จีนต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ค่อนข้างผันผวนรุนแรงมากเป็นพิเศษ  ท่านผู้อ่านที่ได้ติดตามข่าวสารต่างประเทศเป็นประจำ  คงได้สังเกตเห็นเช่นเดียวกับผมว่ามีข่าวฝนตก น้ำท่วม ดินถล่ม มากเป็นพิเศษจากประเทศจีน  ตั้งแต่พื้นที่ห่างไกลในภาคตะวันตกตอนในอย่างมณฑลกานสู่ ฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ และมณฑลที่เป็นขาประจำน้ำท่วมในภาคใต้และตะวันออกเฉียงใต้ของจีน  มีความรุนแรงตั้งแต่น้ำท่วมขังเฉยๆไปถึงผู้คนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก  ในคอลัมน์นี้ ผมก็เคยนำเสนอข่าวไปบ้างแล้วเมื่อตอนเริ่มฤดูกาลฟ้าฝนใหม่  มาวันนี้ สืบเนื่องจากสภาพภูมิอากาศอีกเหมือนกัน  ผู้คนที่คิดการณ์ไกลมองไปข้างหน้า เริ่มพูดคุยแสดงความคิดเห็นและห่วงใยไปถึงผลกระทบของสภาพอากาศรุนแรง ที่อาจมีต่อผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งก็ยังไม่ปรากฏตัวเลขว่าได้รับความเสียหายไปเท่าใดแล้ว


                 ที่ผ่านมามีข่าวปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ของจีนหลายฉบับ ที่รายงานการประชุมวิเคราะห์สถานการณ์โดยกลุ่มกรรมาธิการรัฐสภาจีนนำโดยประธานนาย อู๋ปังกั้ว     เรียกร้องให้นานาชาติร่วมมือกันทุ่มเทความพยายามในการสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางอาหารของโลก  เพราะไม่ใช่เพียงประเทศจีนเท่านั้นที่ต้องเจอกับสภาพอากาศอันเลวร้าย  หลายประเทศทั่วโลกก็กำลังเจอผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป  และหากสถานการณ์ยังเป็นไปตามยถากรรมแบบนี้ แน่นอนว่าในอนาคตคนที่จะเดือดร้อนมากที่สุด ก็คือบรรดาประเทศยากจนและประเทศเล็กๆที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย
                
           ผลจากการประชุมหารือกันของคณะกรรมาธิการในรัฐสภาจีนว่าด้วยประเด็นความมั่นคงทางอาหารของชาติ ได้กำหนดข้อเสนอให้รัฐบาลจีนเร่งพัฒนาการนำเทคโนโลยีชั้นสูงเข้ามาใช้ กับการผลิตในภาคเกษตร โดยผ่านกฎหมายส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรและเมล็ดพันธุ์พืชที่มีอยู่แล้ว ทั้งนี้กรรมาธิการชุดดังกล่าวได้ส่งทีมสำรวจลงพื้นที่ทั่วประเทศในช่วงเดือนที่แล้วและในเดือนกันยายนนี้  เพื่อสังเกตการณ์การบังคับใช้กฎหมายของฝ่ายบริหารระดับมณฑล ว่ายังปล่อยให้เกษตรกรในพื้นที่ทำการเกษตรในวิธีดั่งเดิมไม่พัฒนา อันเท่ากับเป็นการใช้ที่ดินอย่างไม่คุ้มค่าอีกหรือไม่ มากน้อยเท่าใด อีกทั้งยังหวังว่าทีมสังเกตการณ์ของรัฐสภา จะสามารถกระตุ้นให้ข้าราชการท้องถิ่นเอาใจใส่ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ ให้ทั่วถึงและเป็นที่รับรู้ของเกษตรกรทุกรายในพื้นที่รับผิดชอบ ถือว่าเป็นหน้าที่สำคัญของข้าราชการเหล่านี้ เพราะไม่เพียงจะเป็นการเพิ่มผลผลิตอาหารให้กับประเทศชาติ แต่ยังช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรอีกด้วย


                 ที่จีนออกมาตื่นตัวห่วงใยประเด็นความมั่นคงทางอาหาร ไม่ใช่เพียงเพราะปัญหาเรื่องฝนฟ้าภัยธรรมชาติอย่างเดียว สาเหตุอีกประการหนึ่งอาจมาจากข่าวลือที่แพร่กันในหมู่ประชาชนคนชั้นกลางทั่วไปมาเป็นเวลาสองสามเดือนแล้ว  ว่าที่จริงก็ไม่ใช่ข่าวลือแบบโคมลอย  เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อมีผู้นำผลวิจัยสำรวจของกลุ่ม Green Peace ที่ว่าด้วยอนาคตของวิกฤตการณ์อาหารมาเผยแพร่ในInternetของจีน  แต่ที่ทำให้ลือกันมากก็เพราะตัดมาเฉพาะส่วนที่เป็นการพยากรณ์ผลผลิตของจีน  ตามข้อมูล Green Peace วิเคราะห์ไว้ว่าเมื่อถึงปี 2050 ผลผลิตธัญพืชอาหารหลักทั้งหมดของจีนจะลดลงถึงร้อยละ 23 เทียบจากที่เคยผลิตไดในปี 2000 อันสืบเนื่องจากปัญหาโลกร้อน พื้นที่ทำการเกษตรที่หดน้อยลง และปัญหาการสูญเสียแหล่งน้ำ พอข่าวแพร่ออกไปคนจีนก็เลยลือกันใหญ่  รัฐบาลเองคงเห็นเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่อาจปล่อยผ่านไปเฉยๆ ก่อนหน้านี้ประมาณเดือนมิถุนายนก็เคยมีหน่วยงานพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรออกมาแก้ข่าวอยู่ แต่ก็ดูเหมือนความวิตกและการวิพากษ์วิจารณ์ของสาธารณชนมิได้เบาบางลงแต่อย่างใด
                 ว่าที่จริงแล้ว เราต้องยอมรับกันว่าจีนได้พัฒนาไปมากทางด้านการเกษตร โดยเฉพาะสายพันธุ์ธัญพืชที่เป็นอาหารหลัก เช่นข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพดและถั่วเหลือง ตัวอย่างเช่นผลงานของศาสตราจารย์ หยวน  หลงปิง ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยวิศวพันธุกรรมสายพันธุ์ข้าวแห่งชาติ ซึ่งเพิ่งจะนำเสนอข้าวสายพันธุ์ใหม่รุ่นที่สามที่แกพัฒนาขึ้นมา ในงานประชุมWorld Expo เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ข้าวสายพันธุ์รุ่นที่สามนี้ว่ากันว่าสามารถให้ผลผลิตได้สูงถึง13.5ตันต่อหนึ่ง hectare (1hectareเท่ากับ15.18หมู่จีน หรือเท่ากับ6.25ไร่)  ในขณะที่จีนมีพื้นที่รวมเพาะปลูกข้าวเท่ากับ440ล้านหมู่ (2.43หมู่เท่ากับ1ไร่ ) แต่มีเพียงร้อยละ57ของพื้นที่ ที่ทำการปลูกข้าวด้วยสายพันธุ์พิเศษได้  และในหลายมณฑลทางตะวันออกเฉียงใต้สามารถปลูกข้าวได้ปีละสามรอบ
                 อย่างไรก็ดี ในขณะที่เทคโนโลยีการผลิตทางการเกษตรและสายพันธุ์พิเศษรุ่นใหม่ๆของจีนพัฒนาไป  จีนกลับพบกับปัญหาว่าพื้นที่ทำนาจำนวนไม่น้อยกำลังถูกลักลอบใช้ในกิจกรรมที่ไม่ใช่การเกษตรอันเป็นผลมาจากการขยายตัวของเขตเมือง  ในหลายมณฑลทางตะวันออกที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำสำคัญมาแต่โบราณ เช่นเจียงซู เจ้อเจียง ฟู่เจียน กวางตงฯลฯ เมืองสมัยใหม่เติบโตอย่างรวดเร็ว และเบียดขับพื้นที่เพาะปลูกข้าวเพื่อเปิดที่ทางให้กับกิจกรรมนอกภาคเกษตรทุกปี(ฟังดูคุ้นๆคล้ายบ้านเรามาก) แม้ในระยะหลังรัฐบาลกลางจะเข้มงวดและออกมาตรการอนุรักษ์พื้นที่เกษตร แต่ในระดับปฏิบัติ ก็ยังมีการลักลอบสมยอมกันระหว่างชาวนากับผู้ประกอบการภาคธุรกิจให้เห็นอยู่  ในภาคเกษตรเองก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี2008-2009  พื้นที่ปลูกข้าวเกือบร้อยละสาม ถูกแปลงสภาพเพื่อปลูกข้าวโพดสายพันธุ์ที่ให้แป้งสูง  ข้าวโพดเหล่านี้ไม่ได้ถูกแปรรูปเพื่อเป็นอาหาร แต่กลับถูกนำไปผลิตแอลกอฮอล์เพื่อใช้เป็นพลังงาน
                 โดยภาพรวมของสถานการณ์ที่เป็นอยู่ จึงอาจสรุปได้ว่า แม้จีนจะพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรและสายพันธุ์ไปได้มากแล้ว  แต่ก็ยังคงต้องแข่งกับการคุกคามที่มาจากความต้องการใช้ที่ดินเกษตรเพื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจรูปแบบอื่น และต้องแข่งขันกับความต้องการพลังงานทดแทนหรือพลังงานสีเขียวที่เข้ามาแย่งพื้นที่เพาะปลูกอาหารเลี้ยงคน ก็ไม่ทราบว่าใครจะแพ้ชนะกันอย่างไรในที่สุด รู้แต่ว่าถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ ประเด็นความมั่นคงทางอาหารยังจะเป็นเรื่องน่าห่วงไปอีกนาน ไม่ใช่เพียงประเทศจีนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบรรดาประเทศข้างเคียงอย่างเราด้วย คงต้องช่วยกันคิดอ่านว่าจะปลูกอะไรส่งไปขายดี



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น