ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันอังคารที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ข้อตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ จีน-ไต้หวัน

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์




                 นิตยสาร Beijing Review เคยนำเสนอข่าวเด่นการลงนามในความตกลงร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและไต้หวัน ว่าที่จริงจะบอกเป็นข่าวเก่าก็ได้ เพราะลงนามกันไปเรียบร้อย และเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ฮือฮาขึ้นมาในช่วงไม่นานมานี้ พิธีการลงนามจัดขึ้นที่มหานครฉงชิ่ง หรือเมืองจุงกิงอย่างที่เรารู้จักกัน จัดว่าเป็นสถานที่อันมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวัน เพราะเมืองจุงกิงนี้เคยเป็นเมืองหลวงของรัฐบาลก๊กมินตั๋ง เมื่อครั้งถอยร่นการรุกรานของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง ในงานมีผู้แทนทั้งสองฝ่ายคือ ประธานสมาคมความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบไต้หวัน Chen Yunlin และ Chiang Pin-kung ประธานมูลนิธิแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนาม



                 ผมเองเคยนำเสนอว่าขนาดของการลงทุนที่นักธุรกิจชาวไต้หวันไปลงไว้ในจีนนั้น มีมากเหลือเกิน ทว่าที่ผ่านมา การลงทุนและการเข้ามาประกอบธุรกิจของชาวไต้หวันในประเทศจีน ยังมีลักษณะออกไปในแบบเอกชนเข้ามากันเอง แม้รัฐบาลที่ไทเปรู้เห็น แต่ก็ได้ได้ส่งเสริมอย่างออกหน้าออกตาชัดเจน แต่ข้อตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ(ECFA) ที่ลงนามกันเที่ยวนี้ มีความสำคัญเป็นที่จับตากัน เพราะจะเป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ ส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีกมาก ได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั้งกับประเทศจีน กับไต้หวัน และกับประชาคมเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง อีกทั้งในระยะยาวยังจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาแนวทางความร่วมมืออย่างสันติทางการเมืองระหว่างพี่น้องคนจีนสองฝั่งช่องแคบ
h
                
                เนื้อหาสาระหลักๆของข้อตกลงนี้  คือการตัดภาระทางภาษีเหลือศูนย์ในสินค้ากว่า800 รายการ  ครอบคลุมร้อยละ16ของการส่งออกที่ไต้หวันส่งไปจีนปัจจุบัน และคิดเป็นร้อยละ 10.5 ของสินค้าจากแผ่นดินใหญ่ที่ส่งไปขายในไต้หวัน  เปิดตลาดภาคบริการให้ไต้หวันสามารถเข้าไปทำธุรกิจได้อย่างกว้างขวาง  นอกจากนี้กรอบความร่วมมือยังส่งเสริมให้สินค้าและบริการในรายการอื่นๆ ทยอยลดภาระและเงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ในเวลาอันเร็ว ภายใน 6 เดือนหลังประกาศใช้ข้อตกลง
                 ผลที่ได้เฉพาะหน้าชัดเจนจากกรอบความร่วมมือการค้าเสรีระหว่างสองฝั่งช่องแคบ คือช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของไต้หวันที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์การเงินระดับโลกในช่วงที่ผ่านมา ผมเองไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ และก็ไม่มีตัวเลขว่าช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้ ไต้หวันเจ็บตัวเสียหายจากการไปลงทุนทางการเงินและตลาดอสังหาริมทรัพย์ในอเมริกาและในยุโรปเท่าใด  แต่ก็เป็นที่ทราบกันทั่วไป ว่าเศรษฐกิจภายในและการส่งออกของไต้หวันมีปัญหาตามมามาก จะมีก็เพียงการลงทุนในจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ไต้หวันไม่ได้รับผลกระทบทางลบใดๆเลย  การลงนามข้อตกลงคราวนี้ ก็ยิ่งสร้างหลักประกันให้เกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น ว่าไต้หวันจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว หากเทียบกับนักลงทุนชาติอื่นๆในจีนแล้ว ไต้หวันจึงอยู่ในสถานะได้เปรียบมากที่สุดจากข้อตกลงนี้ บวกเข้ากับเงื่อนไขที่ได้เปรียบอยู่ก่อนแล้ว ทั้งทางภาษา วัฒนธรรม และตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ ย่อมจะสามารถเชื่อมโยงดึงเอาการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนมากระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในของไต้หวัน จากผลการวิจัยศึกษาของสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจ จุกหัว ของไต้หวัน กรอบข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ลงนามกันไปนี้ ทันที่ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ จะสามารถกระตุ้นยกระดับGDP ของไต้หวันอีกไม่ต่ำกว่าร้อยละ1.65 -1.72 ส่งผลต่อการส่งออกของไต้หวันเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 4.99 การนำเข้าวัตถุดิบจะเพิ่มอีกร้อยละ7.07 ในระยะยาวจนถึงปี2016 มูลค่าการลงทุนจากภายนอกจะเพิ่มขึ้นเป็น 8.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ  งานวิจัยนี้สอดรับกับการวิเคราะห์ของสถาบัน Peterson Institute for International Economicsของสหรัฐฯ ซึ่งประเมินว่าข้อตกลงใหม่นี้ จะเพิ่มGDPไต้หวันอีกร้อยละ 4.5

                 ในอีกด้านหนึ่ง ผลกระทบทางอ้อมที่จะได้จากกรอบข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ คือทำให้เกิดบรรยากาศทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่ชัดเจนและสร้างสรรค์ขึ้นในไต้หวัน จากที่ก่อนหน้านี้สังคมไต้หวันเคยแตกแยกแบ่งกันเป็นฝักเป็นฝ่าย ทั้งพวกที่เอาด้วยกับแผ่นดินใหญ่ พวกที่ไม่ว่ายังไงก็ไม่เอาแผ่นดินให้ กับพวกกลางๆที่มุ่งแต่ผลได้ทางเศรษฐกิจ  มาบัดนี้ก็จะได้เกิดความชัดเจนในทีท่าของรัฐบาลทั้งสองฝั่งว่าคงต้องเดินหน้าสร้างความสัมพันธ์ร่วมมือกันโดยสันติ ความขัดแย้งต่างๆในไต้หวันก็อาจลดลง พอมีเวลาจะได้หันหน้าเข้าหากันฟื้นฟูพัฒนาประเทศต่อไป เฉพาะอย่างยิ่งปัญหาทางสังคมที่มีหมักหมมอยู่ไม่น้อยในสังคมไต้หวัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความขัดแย้งของผู้ใช้แรงงาน ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ปัญหาคนว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงสามปีที่ผ่านมา และที่สำคัญที่สุดปัญหาคอรัปชั่นและเสถียรภาพรัฐบาล
                 สำหรับฝ่ายจีน  ผลดีที่นักวิเคราะห์ต่างเห็นตรงกัน ก็คือการลดบทบาททั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นที่เคยมีอยู่ในภูมิภาคให้น้อยลง อันจะสงผลให้กรณีความสัมพันธ์กับไต้หวัน  สามารถพัฒนาคลี่คลายได้ง่ายยิ่งขึ้น  ในด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยีการเกษตรและหัตถะอุตสาหกรรมหลายแขนงของจีน จะได้รับประโยชน์จากการลงทุนของไต้หวัน ทั้งนี้รวมทั้งอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรและการบรรจุหีบห่อ ซึ่งเป็นสาขาที่ไต้หวันมีความชำนาญสูง
                 สำหรับผมแล้ว ในฐานะที่ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์และไม่ได้รู้เรื่องค้าขาย  ผลจากข้อตกลงกรอบความร่วมมือดังกล่าว แม้จะต้องรอเวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อพิสูจน์ว่าดีจริงหรือไม่  แต่อย่างน้อยก็เกิดผลดีอย่างสำคัญ คือทำให้บรรยากาศโดยรวมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกดูดีขึ้นในทันที่ พี่น้องชาวจีนเชื้อชาติเดี่ยวกัน ไม่ต้องมานั่งคอยหวาดระแวง ผมว่าแค่นี้ก็คุ้มแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น