ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553

นักเรียนนอก



โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                 ท่านผู้อ่านที่เคยเดินทางไปต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางเพื่อท่องเที่ยวหรือไปกิจธุระอื่นๆ  คงได้สังเกตเห็นว่าในระยะหลังนี้ นักท่องเที่ยวเดินทางที่เป็นชาวจีนมีมากเหลือเกิน  เฉพาะที่เดินทางมาเที่ยวในประเทศไทยเราที่ว่ามากแล้ว เมื่อเทียบกับชาวจีนที่เดินทางไปในแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆทั่วโลก เป็นเพียงเศษเสี่ยวเล็กๆส่วนหนึ่งเท่านั้น  ที่น่าสังเกตยิ่งกว่าคือ ในช่วงระยะหลังนี้นักเดินทางที่เป็นชาวจีนดูจะอายุน้อยลง เป็นหนุ่มเป็นสาวเสียมากกว่า  เดิมว่ากันว่าชาวจีนวัยกลางคนเป็นกลุ่มที่มีเงินออม และเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของการเดินทางท่องเที่ยว แต่ในปัจจุบันนักท่องเที่ยวที่อยู่ในวัยทำงานต้นๆ เริ่มมีมากขึ้นคิดเป็นร้อยละสี่สิบของผู้เดินทางท่องเที่ยวนอกประเทศจีน  อีกกลุ่มหนึ่งที่เพิ่มมากขึ้นในระยะหลังคือนักเรียนนักศึกษาจีน ที่เดินทางไปเรียนต่อต่างประเทศ  ทั้งระยะสั้นเพื่อเรียนภาษา และระยะยาวเพื่อเรียนเอาปริญญา มีทั้งในระดับมัธยมศึกษาและระดับมหาวิทยาลัย


                 นับตั้งแต่กลางทศวรรษที่1990เป็นต้นมา ทุกๆปีในช่วงเวลาประมาณนี้ ( มีนาคม -เมษายน)  จะเป็นช่วงวุ่นวายวิ่งสมัครหาสถานที่เรียนต่อในต่างประเทศ โกลาหลทั้งตัวว่าที่นักเรียนนอกและผู้ปกครอง เฉพาะเมื่อปีที่ผ่านมา สำนักข่าว ซินหัว รายงานเคยรายงานอ้างตัวเลขของกระทรวงศึกษาจีนระบุว่า มีนักเรียนจีนที่เดินทางออกไปศึกษาต่อต่างประเทศมากถึง 229,300 คน ตัวเลขนี้ไม่นับรวมกลุ่มนักเรียนที่ออกไปเรียนภาษาระยะสั้นในต่างประเทศ และไม่รวมนักเรียนจีนระดับมัธยมปลายที่ศึกษาอยู่ต่างประเทศ ในช่วงห้าปีหลังนี้ อัตราเพิ่มของการเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศในระดับปริญญาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ27ต่อปี  ที่น่าสนใจเป็นพิเศษก็คือ  กว่าร้อยละ92ของนักเรียนนอกเหล่านี้  ไปศึกษาต่อต่างประเทศด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัว  มีไม่ถึงร้อยละสิบที่เป็นทุนรัฐบาลหรือทุนการศึกษาของบริษัท  แตกต่างอย่างสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับสามสิบปีที่แล้ว จีนส่งนักศึกษาทุนรัฐบาลรุ่นแรกๆออกไปเรียนต่อในตะวันตก ปีละไม่ถึงพันคน  และไม่มีนักเรียนทุนส่วนตัวแม้เพียงคนเดียว


                 แน่นอนว่าการเพิ่มขึ้นของนักเรียนนอกที่ว่ามาข้างต้นนี้ส่วนหนึ่งสะท้อนภาพเศรษฐกิจครัวเรือนระดับบนของจีน เมื่อมีฐานะดีขึ้น ก็ย่อมมองเห็นคุณค่าการศึกษา และเลือกลงทุนการศึกษาที่ดีที่สุดในลูกหลาน ในเวลาเดียวกันก็สะท้อนค่านิยมและระบบความเชื่อของคนจีนสมัยใหม่  พัฒนาเป็นความเชื่อว่าการได้ศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของชาติตะวันตก จะเปิดแต้มต่อให้กับอนาคตของตนหรือลูกหลาน พร้อมๆกันนั้นก็เปิดโอกาสให้เกิดอาชีพนายหน้าหาที่เรียนต่อต่างประเทศ  สภาพอาจคล้ายกับที่เป็นอยู่ในประเทศไทย  แต่เนื่องจากขนาดของตลาดว่าที่นักเรียนนอกในจีนนั้นใหญ่มาก  ก็เลยเป็นธรรมดาว่าต้องมีการหลอกลวงและฉ้อโกงเกิดมากเป็นเงาตามตัว  จากสถิติของกระทรวงศึกษาจีน แต่ละปีจะมีนักเรียนเป็นพันคนที่ถูกหลอกลวงฉ้อโกง อันที่จริงรัฐบาลจีนแลเห็นปัญหานี้มาตั้งแต่ปี 2003 และได้เปิดสายด่วนติดตามปัญหาดังกล่าว พร้อมทั้งจัดตั้งเว็ปไซต์เปิดโปงกลโกงของนายหนน้าเรียนนอกกว่า 47 ตัวอย่างกรณีศึกษา
                 ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะเหมือนในบ้านเราหรือไม่  แต่หนึ่งในตัวอย่างกลโกงที่ชาวเน็ตในจีนส่งข้อความเตือนกันอยู่เสมอก็คือ ข้ออ้างเชิงโฆษณาของบริษัทนายหน้าที่ว่าจะสามารถส่งเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดังได้ทุกแห่งทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป หากสมัครเข้าเรียนภาษาก่อนในสถาบันที่นายหน้าเสนอแนะ  พอนักเรียนสมัครไปตามที่นายหน้าจัดหา กลับเจอว่าเป็นโรงเรียนห้องแถว มีห้องเรียนไม่กี่ห้องอาจารย์ฝรั่งไม่กี่คน  ทำท่าว่าพร้อมจะปิดกิจการหนีได้ทุกเมื่อ  มีนักเรียนหลงมาเยอะก็สอนไป นักเรียนเหลือน้อยเมื่อไรก็ปิดโรงเรียนหนีลอยแพเด็กต่างชาติได้ทันที  หลายแห่งทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับมหาวิทยาลัยชื่อดัง  แต่กลับปลอมแปลงออกประกาศนียบัตรอบรมภาษาในนามของมหาวิทยาลัยดังที่แอบอ้าง
                 กรณีที่ฮือฮาและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันหนัก เห็นจะได้แก่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดกับนักเรียนจีนกลุ่มหนึ่งที่หลงเชื่อบริษัทนายหน้า สมัครไปเรียนวิทยาลัยเตรียมภาษาในประเทศออสเตรเลีย  พอเรียนจบหนึ่งปีตามที่ตกลง สอบผ่านวิชาภาษาอังกฤษ แต่กลับไม่สามารถเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยที่สมัครไว้ก่อนหน้า  พอถามไถ่หาคำอธิบาย  ก็ถูกปฏิเสธทั้งจากโรงเรียน และมหาวิทยาลัยว่าไม่รู้เห็นเกี่ยวข้องตามข้ออ้างของบริษัทนายหน้า และไม่ใช่เพียงแห่งเดียว แต่ปรากฏว่าทำแบบเดียวกันอีกหลายแห่ง ทั้งในประเทศออสเตรเลีย และประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นสองประเทศที่นักเรียนจีนนิยมเดินทางไปในช่วงสามสี่ปีหลัง  เดือดร้อนเป็นเรื่องเป็นราวไปถึงระดับรัฐบาล มีโรงเรียนเอกชนแบบที่ว่านี้ปิดหนีไปหลายแห่งในทั้งสองประเทศ ท้ายที่สุดทางการจีนเมื่อปีที่แล้วจึงตัดสินใจจัดทำบัญชีรายชื่อวิทยาลัยสอนภาษา15,000 แห่งใน 33 ประเทศที่รัฐบาลจีนให้การรับรอง
                ในปีนี้ รัฐบาลจีนประมาณว่าอาจมีนักเรียนที่สนใจไปศึกษาต่อต่างประเทศไม่ต่ำกว่า250,000ราย และดูเหมือนปัญหาใหม่สำหรับปีนี้จะเป็นนายหน้าออนไลน์ที่รับสมัครเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยชื่อดังในตะวันตก  โดยสามารถสมัครเรียนจากระบบทางไกลได้ปริญญาโทในสองปี โดยต้องชำระเงินล่วงหน้าทั้งค่าลงทะเบียน ค่าบริการระบบเรียนทางไกล และค่าลงทะเบียนใบปริญญาบัตรล่วงหน้า คิดเป็นเงินเบ็ดเสร็จร่วมสองแสนหยวน(แพงกว่าที่โฆษณาในบ้านเรานิดหน่อย) ฟังเรื่องราวนักเรียนนอกจากเมืองจีนข้างต้น ก็ทำให้ต้องนึกย้อนกลับมาดูประเทศไทยด้วย  เพราะเราเองก็คุ้นเคยกับกลโกงนายหน้าหาที่เรียนต่อเมืองนอกทำนองคล้ายกัน  ทั้งที่มีช่องทางรับสมัครโดยตรงและถูกต้องจากมหาวิทยาลัยต่างๆอยู่แล้ว  ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศจีนและประเทศไทย  จึงเป็นเรื่องน่าสนใจติดตามอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ต้องกำกับดูแลเรื่องเหล่านี้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น