ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันพุธที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2553

น้ำท่วมกับเขื่อนยักษ์

โดย รศ. พรชัยตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



                    ข่าวน้ำท่วมน้ำหลากในประเทศจีน มีปรากฏครอบครองพื้นที่หน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ในประเทศจีน  อันที่จริงจะบอกว่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติตามฤดูกาลก็คงไม่ผิด ไม่ถึงกับต้องเอามาบอกกล่าวให้ท่านผู้อ่านที่รักรกหูรกตาก็ได้  แต่หลายวันมานี้ จากที่ผมติดตามดูข่าว ประกอบกับเสียงสะท้อนของชาวจีนเองที่ปรากฏในแวดวงอินเตอร์เน็ต ดูเหมือนน้ำท่วมน้ำหลากในประเทศจีนปีนี้จะไม่ธรรมดา  เพราะโดยปรกติเรามักรับรู้แต่ว่ามีพายุเข้าถล่มภาคใต้หรือภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีนในฤดูมรสุมเป็นประจำ มีน้ำท่วมแผ่นดินถล่มในบางจุดที่สภาพดินไม่มีความมั่นคง   ทว่าในปีนี้ ไม่เพียงพื้นที่ทางใต้และตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น หลายพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็เจอเข้ากับภัยน้ำท่วมและแผ่นดินถล่มอย่างรุนแรงเช่นกัน พื้นที่หลายแห่งไม่เคยโดนมาก่อน มาปีนี้ก็ต้องพลอยโชคร้ายไปด้วย  ตัวอย่างล่าสุดเช่นในเมือง จี้หลิน ทางวันออกเฉียงเหนือของจีน โดนพายุฝนอย่างหนัก ขนาดมีคนตายและสูญหายนับร้อยคน ในคราวเดียว ถือว่าเป็นเรื่องไม่ปรกติธรรมดา
                 จากข้อมูลตัวเลขของสำนักงานจัดการปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งแห่งชาติ  จนถึงเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว   มีประชากรทั้งสิ้นใน 28 มณฑลและเขตปกครองพิเศษที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากภัยน้ำท่วม   มีผู้เสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันแล้ว 928 คน สูญหายอีก 477 คน มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจประเมินในขั้นต้น ไม่ต่ำกว่า176,000ล้านหยวน 
                 ความรุนแรงของภัยธรรมชาติอันเนื่องมาจากฝนฟ้าในปีนี้ ทำให้รัฐบาลกลางที่ปักกิ่งต้องออกแรงแก้ไขมากเป็นพิเศษ เมื่อวานนี้เองทั้งท่านประธานาธิบดีหู และนายกรัฐมนตรีเหวิน ต้องออกมากำชับเตือนบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐบาลทั้งหมดที่เข้าไปดำเนินการช่วยเหลือบรรเทาภัยจากน้ำท่วม ให้ใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในการดูแลความปลอดภัยของชีวิตประชาชนมากกว่าที่จะมุ่งกอบกู้ความเสียหายของทรัพย์สิน เพราะไม่ต้องการเห็นตัวเลขการสูญเสียชีวิตของประชาชนเพิ่มไปมากกว่านี้ โดยให้วางแนวทางการบริหารจัดการภัยน้ำท่วมตามลำดับความเร่งด่วน กล่าวคือ ให้ความสำคัญกับการรักษาชีวิตประชาชนเป็นอันดับแรก  ฟื้นฟูหาที่พักอาศัยรองรับเฉาะหน้าเป็นอันดับที่สอง และซ่อมแซมสาธารณูปโภคพื้นฐานให้กลับมาใช้การได้เป็นลำดับที่สาม นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังได้วางแผนการระยะยาว ในการบูรณฟื้นฟูเขตที่ประสบภัยน้ำท่วมซ้ำซาก ด้วยการวางแผนจัดสร้างระบบการกักและการระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยจะดำเนินการสร้างเขื่อนขนาดเล็กจำนวนมาก และการขุดคูคลองเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถระบายน้ำได้ดีขึ้น
                 ความห่วงใยอีกประการหนึ่งอันสืบเนื่องมาจากอุทกภัยของปีนี้ คือเรื่องผลกระทบที่เกิดกับการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร  พื้นที่ลุ่มน้ำในภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ ผลเสียหายในภาคเกษตรของปีนี้อาจสูงกว่าที่เคยประมาณการณ์ไว้ก่อนหน้า หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ เวลานี้ก็เริ่มจับตามองดูว่าอุทกภัยปีนี้จะส่งผลอย่างไรต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจ  ที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษก็เพราะ จีนเพิ่งจะเข้าสู่ช่วงการปรับฐานการลงทุนภายในประเทศเพื่อชะลอความเสี่ยงของอุตสาหกรรมบางภาคส่วนไปเมื่อไม่นานนี้เอง มาตรการปรับฐานลดความร้อนแรงในภาคอสังหาริมทรัพย์ เริ่มจะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงเล็กน้อย หากความเสียหายจากอุทกภัยปีนี้ขยายบานปลายออกไปถึงการผลิตในภาคเกษตรด้วย ก็อาจทำให้ตัวเลขอัตราการเติบโตลดลงได้อีก  และจีนอาจต้องเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรบางรายการเพิ่มมากขึ้นในฤดูหนาวปีนี้
                 เรื่องใหญ่อีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาน้ำท่วม และมีคนซุบซิบนินทากันมากในโลกไซเบอร์ของจีน  ที่ว่าซุบซิบนินทามากนั้น ก็คือบทบาทของอภิมหาเขื่อนยักษ์สามโตรกผา ประเด็นร้อนตอนนี้คือเขื่อนยักษ์ที่ว่านี้เป็นพระเอกหรือเป็นผู้ร้ายในน้ำท่วมใหญ่คราวนี้  คงจำกันได้นะครับ ว่าเมื่อตอนเริ่มโครงการก่อสร้างเขื่อนใหม่ๆ ประเทศจีนวาดหวังไว้ว่านอกเหนือจากจะให้ประโยชน์ในผลิตพลังไฟฟ้าปริมาณมหาศาลหล่อเลี้ยงความเจริญเติบโตของจีนแล้ว เขื่อนสามโตรกผายังจะสามารถควบคุมป้องกันอุทกภัยตลอดลำน้ำแยงซี ช่วยชีวิตผู้คนและไร่นาเกษตรไม่น้อยกว่าเจ็ดมณฑล  มาบัดนี้เขื่อนก็สร้างเสร็จเรียบร้อย แต่จีนก็ยังต้องเผชิญกับภัยน้ำท่วมอยู่ทุกปี ตกลงมันยังไงกันแน่  ยิ่งน่ากังขามากขึ้นเมื่อมีข่าวว่า ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทางเขื่อนสามโตรกผาจำเป็นต้องเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อนเป็นการด่วน เพราะปริมาณน้ำที่กักไว้ทำท่าจะถึงจุดสูงสุดที่จะรับได้แล้ว หากไม่รีบระบายน้ำ กลัวว่าอาจมีผลกระทบกับโครงสร้างของเขื่อนในบางจุด  ชาวบ้านจำนวนมากที่ต้องเผชิญปัญหาน้ำท่วมอยู่ ก็เลยพากันระบายอารมณ์ใส่ทางเจ้าหน้าที่กู้ภัย ว่าเขื่อนยักษ์ปล่อยน้ำออกมาท่วมบ้าน  จนปานนี้ข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร ก็ยังไม่มีใครออกมายืนยัน ทางผู้บริหารเขื่อนให้ข้อมูลเพียงว่า ทุกวันนี้เขื่อนต้องต่อสู้รับปริมาณน้ำที่ไหลบ่ามากกว่า 56,000 คิวบิกเมตรต่อวินาที เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้สภาพน้ำท่วมย่ำแย่ไปกว่าที่เป็นอยู่ ทางเขื่อนปล่อยน้ำออกเพียง 40,000 คิวบิกเมตรต่อวินาที ระดับน้ำในเขื่อนตอนนี้อยู่ที่ 158 เมตร เหลืออีก 17 เมตรก็จะถึงจุดสูงสุดแล้ว น้ำท่วมปีนี้เป็นเรื่องธรรมชาติโดยแท้ ไม่ใช่ความผิดของเขื่อน  อย่างไรก็ดี มีข่าวลือกันทั่วไปว่า แท้จริงแล้วปริมาณน้ำสูงสุดนั้น ไม่ใช่แค่ 56,000 คิวบิกเมตรต่อวินาที่ แต่เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา ปริมาณน้ำฝนบวกกับน้ำต้นทุนเดิม เพิ่มสูงถึง 70,000 คิวบิกเมตรต่อวินาที และเป็นเหตุให้ทางเขื่อนต้องรีบเร่งระบายน้ำออก เลยทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่  พอข่าวลือนี้แพร่ออกไป ทางการก็ต้องรีบออกมาแก้ข่าว และให้ตัวเลขแบบเลี่ยงๆว่า เขื่อนถูกออกแบมาให้สามารถทนรับแรงน้ำหลากได้สูงถึง 100,000 คิวบิกเมตรต่อวินาที่  หากเปรียบเทียบกับปริมาณน้ำ 50,000 คิวบิกเมตรต่อวินาทีในปี 1998 ซึ่งพรากชีวิตผู้คน4,150คน  ย่อมแสดงว่าเขื่อนสามโตรกผาสามารถทำหน้าที่ปกป้องภัยพิบัติได้อย่างดี


                 เขื่อนยักษ์เป็นพระเอกหรือผู้ร้ายในอุทกภัยครั้งนี้ คนที่จะตอบคำถามได้ดีที่สุด   ผมว่าน่าจะเป็นญาติๆผู้สูญเสียจากน้ำท่วมทั้งหลาย ตัวเลขต่างๆบางที่ก็ช่วยอะไรไม่ได้มากนัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น