ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2553

วาระแห่งชาติ

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์ 
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
              


                 ในช่วงเดือนแรกของทุกปี  เกือบเป็นประเพณีปฏิบัติที่รับทราบกันโดยทั่วไป  ว่าสภาแห่งรัฐและคณะกรรมาธิการกลางจะเผยแพร่เอกสารเชิงนโยบายที่เรียกกันว่าเป็นเอกสารหมายเลขที่หนึ่งประจำปี เนื้อหาจะเป็นประเด็นเชิงนโยบายที่กำหนดเป้าหมายหรือเข็มมุ่งการขับเคลื่อนหน่วยงานภาครัฐอันมหึมาของจีนในปีนั้นๆ ว่ากันว่าใครก็ตามที่สนใจติดตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองจีนไม่อาจไม่จับตาดูเอกสารหมายเลขที่หนึ่งฉบับนี้ ถ้าจะพูดให้ฟังคุ้นหูคนไทยเรา ก็ต้องเรียกว่าเป็นเอกสารพิมพ์เขียวที่จะกำหนดทิศทางวาระแห่งชาติประจำปี  สำหรับปีนี้เอกสารวาระแห่งชาติที่เผยแพร่ออกมา เช่นเดียวกับที่ดำเนินต่อเนื่องมาแล้วก่อนหน้าหกปี  ภาคการเกษตรและชนบทจีน ยังคงได้รับความใส่ใจเป็นพิเศษ กำหนดให้การพัฒนาภาคเกษตรและสังคมชนบทเป็นวาระแห่งชาติ ที่หน่วยงานภาครัฐทุกส่วนต้องให้ความใส่ใจเป็นอันดับแรกๆ


                 นิตยสาร ปักกิ่งรีวิวส์ ฉบับวันที่  4 มีนาคม (ก็ออกร่วงหน้าแบบบ้านเรานั้นแหละ) ได้นำเสนอรายละเอียดของเอกสารหมายเลขที่หนึ่ง พร้อมทั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจหลายประการด้วยกัน อีกทั้งยังมีสกรู๊ปข่าวพิเศษ สัมภาษณ์ชาวนาตัวจริงเสียงจริงอีกหลายราย  ผมอ่านดูแล้วเพลินดี ก็เลยจะเอามาถ่ายทอดเล่าสู่กันฟัง เผื่อใครจะสนใจอยากรู้เรื่องชนบทของจีนบ้าง ก็อย่างที่เราส่วนใหญ่คงเดากันออก แม้ประเทศจีนจะดูประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลในการพัฒนาอุตสาหกรรมในช่วงระยะเวลาร่วมสามสิบปีที่ผ่านมา นักแต่การปฏิรูปเปิดกว้างในยุคของเติ้ง เสี่ยวผิง  การเกษตรยังคงเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลักของประเทศ ทั้งโดยเหตุที่มีจำนวนประชากรของจีนเกี่ยวข้องกับการเกษตรมากถึงร้อยละ 70 และโดยเหตุที่ต้องสร้างความมั่นคงทางอาหารเพื่อเป็นหลักประกันพื้นฐานเลี้ยงดูประชากร 1,300 ล้านของประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น หากสามารถเพิ่มรายได้ให้กับตัวเกษตรกรหรือยกมาตรฐานการดำรงชีวิตของผู้คนในชนบทให้ดีขึ้นก็เท่ากับเป็นการแก้ไขปัญหาส่วนใหญ่ของประเทศได้ ภาระสำคัญที่เป็นเป้าหมายเฉพาะหน้าของรัฐบาลจีน จึงอยู่ที่การเร่งรัดจัดสร้างระบบหลักประกันความมั่นคงทางสังคมให้กับภาคการเกษตร หากเทียบกับเอกสารวาระแห่งชาติก่อนหน้านี้ทั้งหกฉบับที่มุ่งเน้นไปยังการเร่งรัดพัฒนาปริมาณและคุณภาพการผลิตเพื่อส่งต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม เอกสารหมายเลขที่หนึ่งฉบับปี 2010 จึงอาจจัดว่ามีความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน  แม้ว่ายังคงกำหนดให้ภาคเกษตรจีนเป็นตัวเอก แต่เข็มมุ่งเปลี่ยนจากเร่งรัดพัฒนามาเป็นสร้างความมั่นคงและสร้างหลักประกันให้กับเกษตรกร


                 การที่ประเทศขนาดใหญ่แบบจีนจะริเริ่มระบบหลักประกันให้กับภาคเกษตรหรือผู้คนในชนบทนั้น พูดง่ายกว่าทำอยู่แล้ว  หนังตัวอย่างง่ายๆแต่เป็นโจทย์ใหญ่เช่น นับย้อนไปเป็นเวลาเกือบ 7 ปี ประเทศจีนสามารถเพิ่มผลผลิตธัญพืชหลักได้เกินความต้องการบริโภคภายในประเทศ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการยกเลิกภาษีการเกษตรในปี 2006 และการยกเลิกค่าเล่าเรียนภาคบังคับชั้นต่อปีในปี 2007 รายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรในชนบทเพิ่มสูงขึ้น (5,153 หยวนต่อหัวในปี 2009 เทียบกั[ 2,936 หยวนในปี 2004 พร้อมๆ กับการขยายตัวของผลผลิตทางการเกษตร การลงทุนขนานใหญ่ในโครงสร้างพื้นฐานของชนบทเพื่อให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ได้ยกระดับมาตรฐานการดำรงชีวิตให้ดีขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างเครือข่ายสหกรณ์สาธารณสุขพื้นฐาน  ทั้งหมดนี้ฟังดูดีมาก  ทว่าเวลาเดียวกันก็ก่อให้เกิดปัญหาใหม่ๆตามมาอีกมาก


                 ปริมาณผลผลิตการเกษตรที่ได้ผลเกินคาด ส่งผลโดยตรงต่อเสถียรภาพราคาพืชผล  ตลาดผลิตผลการเกษตรของจีนในช่วงสามปีที่ผ่านมาผันผวนอย่างมากเมื่อเทียบกับก่อนหน้าที่จีนยังผลิตได้ไม่เพียงพอต้องอาศัยนำเข้าธัญพืชจากต่างประเทศ การที่ชาวนาจีนผลิตได้มากขึ้น ในหลายกรณีไม่ได้แปลว่าจะได้เงินมากตามไปด้วย  การขยายพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งของปัญหาการจัดสรรและแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำ หน่วยงานของรัฐหลายแห่งต้องเผชิญกับปัญหาการตัดสินใจเมื่อต้องเลือกที่จะสำรองน้ำสำหรับอุตสาหกรรมและการเกษตร  การขาดเสถียรภาพของราคาพืชผลยังนำไปสู่ความผันผวนของแรงงานชนบท ในบางปีที่ราคาพืชผลผันผวนมาก  แรงงานอพยพเข้าทำงานในเมือง อาจสูงถึงร้อยละ 60 ของแรงงานทั้งหมดในชนบท หนุ่มสาวรุ่นใหม่จำนวนมากที่ไม่ต้องการเสี่ยงกับปัญหาราคาพืชผล อาจตัดสินใจโยกย้ายหางานทำในเขตเมืองเป็นการถาวร ส่งผลให้ครัวเรือนภาคเกษตรขาดแคลนแรงงานสืบทอดที่มีทักษะการทำเกษตรกรรม  โอกาสที่ชาวนาจีนจะสามารถปรับตัวกับการแข่งขันและปรับเปลี่ยนเทคนิคการเพราะปลูกหรือปรับเปลี่ยนชนิดของพันธุ์พืชที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าก็อาจทำได้ยากขึ้น
                 โจทย์ใหญ่ในวาระแห่งชาติประจำปีนี้ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ การจะรักษาเสถียรภาพของราคาผลิตผลการเกษตร เท่ากับเป็นการหันหลังให้การแข่งขันและประสิทธิภาพ ซึ่งในระยะยาวย่อมส่งผลต่อปริมาณผลผลิต อันหมายถึงขาดหลักประกันความมั่นคงทางอาหารของชาติ  และภาวะเงินเฟ้ออย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ทั้งนี้ยังไม่รวมเอาปัญหาอื่นๆในมุมมองของชาวนาจีน ซึ่งแน่นอนว่าเปลี่ยนแปลงและมีความคาดหวังต่อรัฐบาลเพิ่มขึ้นมากกว่าแต่ก่อน  ในหลายมณฑลชาวนาจีนคาดหวังที่จะมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการใช้ที่ดินเพื่อเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นที่มีความมั่นคงและได้ผลตอบแทนสูงกว่า ในขณะที่รัฐบาลต้องการอนุรักษ์ที่ดินการเกษตร  การขยายสาธารณูปโภคส่งผลให้กายภาพชนบทจีนมีความเป็นเมืองมากยิ่งขึ้น และยากที่รัฐบาลจะสามารถหยุดยั้งการอพยพแรงงานฯลฯ
        วาระแห่งชาติประจำปีนี้ของจีน  จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง  เราในฐานะคนนอก คงได้แต่เฝ้าดูและรอลุ้นไปกับประเทศจีน  อีกทั้งคงไม่อาจหลีกเลี่ยงจับตาผลกระทบที่จะมีมาถึงภาคเกษตรกรรมของไทยด้วย  จีนจะทำได้สำเร็จมากน้อยแค่ไหน คงต้องรอดูกันต่อไป  แต่ที่แน่ๆ ผมเชื่อขนมกินล่วงหน้าได้เลย ว่าวาระแห่งชาติของจีนในปีหน้า ก็ยังคงเป็นเรื่องเกษตรกรรมอยู่ดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น