ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2553

สองจีน

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

             ต้นปีนี้มีข่าวใหญ่แจ้งว่ารัฐบาลกลางของจีนอนุญาตให้ชาวจีนในอีกหกเขตสามารถเดินทางเข้าไต้หวันได้โดยตรง (เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน เขตปกครองตนเองธิเบต เขตปกครองตนเองซินเจียง มณฑลชิงไฮ่ มณฑลกานสู้ และเขตปกครองตนเองหุย หนิงเซี่ย)ทำให้ขณะนี้ประชากรจีนแผ่นดินใหญ่เกือบทั้งหมดได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าไต้หวันได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น และทำให้การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวันขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ตัวเลขประมาณการทั้งของทางการจีนและไต้หวันเชื่อกันว่าปี 2010นี้จะมีชาวจีนจากแผ่นดินใหญ่เดินทางไปยังไต้หวันกว่าหนึ่งล้านคน จากเดิมในปี2009มีตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 606,000คน
             ก่อนหน้านี้สักสิบปีเวลาที่เราคุยกันเรื่องปัญหาสองจีน บรรยากาศมักจะออกไปในแนวตึงเครียด  ประเด็นส่วนใหญ่มักไปจดจ่ออยู่กับความขัดแย้งหรือประเด็นความมั่นคงในภูมิภาค  ผมเองในฐานะที่เกี่ยวข้องทางวิชาการ ก็มักได้รับคำถามว่าปัญหาสองจีนจะจบลงอย่างไร  แต่มาถึงปัจจุบัน ดูเหมือนผู้คนส่วนใหญ่จะเลิกวิตกกังวลกับปัญหาทางการเมืองระหว่างสองจีนไปเรียบร้อยแล้ว  ทั้งที่ก็ยังไม่ปรากฏมีข้อตกลงแนวทางการรวมชาติ หรือข้อตกลงทางการเมืองการทหารของทั้งสองฝ่ายปรากฏเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด  คล้ายๆกับบทจะหายกลัวก็หายกลัวเลยโดยไม่มีเหตุหรือเค้าลางใดๆ แต่ในทางวิชาการ ข้อถกเถียงสาเหตุสำคัญทั้งทำให้บรรยากาศระหว่างสองจีนคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น อาจมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่นนักวิเคราะห์ทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อาจฟันธงว่ามาจากท่าที่และผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อภูมิภาคนี้เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ไต้หวันเองจำเป็นต้องปรับตัวเข้าหาจีนมากขึ้น เพราะไม่อาจหวังให้สหรัฐอเมริกาเป็นผู้หนุนหลังสำคัญในการพิพาทกับแผ่นดินใหญ่ได้อีก  ในอีกด้านหนึ่งก็มีนักวิชาการที่ติดตามการเมืองไต้หวัน ตั้งข้อสังเกตว่าปัจจัยหลักของพัฒนาการนี้ เป็นผลเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและขั้วอำนาจรัฐบาลของฝ่ายไต้หวันในระยะหลัง  สั่งผลให้รัฐบาลที่ไทเปมีท่าทีอ่อนลง  สำหรับผมเอง ในฐานะที่ก็แอบติดตามเรื่องนี้มาระยะหนึ่ง   มองว่าความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุน และการไปมาหาสู่กันของประชาชนสองฝั่งช่องแคบ ที่นับวันมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นปัจจัยหลักสำคัญที่ทำให้บรรยากาศทั้งหมดพัฒนาดีขึ้น
                  การไปมาหาสู่และความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนนี้ ในช่วงต้นเกิดขึ้นโดยตรงจากภาคเอกชนของไต้หวันที่แลเห็นความสำคัญและโอกาสทางเศรษฐกิจในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ ไม่มีใครอยากพลาดโอกาสหรือตกขบวนรถไฟ ต่างพากันเข้ามาบุกตลาดในแผ่นดินใหญ่ แต่ปริมาณการลงทุนที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงหลัง ต้องยอมรับว่าเป็นผลมาจากมาตรการส่งเสริมของรัฐบาลจีนที่เริ่มชัดเจนเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เมื่อความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนขยายตัว ก็ทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคม การท่องเที่ยวและการไปมาหาสู่ในรูปแบบอื่นๆพัฒนาขยายตัวยิ่งขึ้น จนในระดับหนึ่งอาจกล่าวได้ว่านโยบายและท่าที่รัฐบาลที่ไทเป กำลังถูกกำหนดโดยเสียงของภาคธุรกิจและภาคประชาชนชาวไต้หวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ช่วงระยะหลัง เราจึงได้เห็นทั้งพรรคฝ่ายค้าน นักการเมืองท้องถิ่น หรือแม้ฝ่ายบริหารระดับสูงของไต้หวันเอง พากันเดินทางเข้ามาสานสัมพันธ์กับแผ่นดินใหญ่เพิ่มมากขึ้น การพบปะสำคัญล่าสุดเห็นจะเป็นการตอนรับผู้แทนระดับสูงของไต้หวันโดยประธานาธิบดีหูเมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาก่อนงานเปิดEXPO2010ที่เซี่ยงไฮ้ นับเป็นการเปิดยุคใหม่ของการร่วมมือทางเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญระหว่างสองจีน


                 ในฟากประชาชน การไปมาหาสู่และความช่วยเหลือระหว่างกัน มีให้เห็นเป็นข่าวบนหน้าสื่อเกือบจะทุกวัน ตัวอย่างเช่นข่าว ไต้หวันเปิดสำนักงานท่องเที่ยวถาวรในจีน คณะผู้แทนทางวัฒนธรรมแลกเปลี่ยนระหว่างไต้หวันกับมณฑลฟูเจี้ยน รัฐบาลท้องถิ่นจีนพิจารณาอาจบรรจุชาวไต้หวันในตำแหน่งงานภาครัฐ ประชาชนไต้หวันระดมทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในประเทศจีน  กาชาดจีนมอบเงินช่วยเหลือฟื้นฟูบูรณะเขตประสบภัยพายุไต้ฝุ่นในไต้หวัน ไต้หวันร่วมฉลองจัดงานเทศกาลโคมไฟในเมืองนานจิง เอกชนและภาคธุรกิจไต้หวันร่วมงานEXPOฯลฯ ระดับความสัมพันธ์ที่จัดว่าดีเยี่ยมเป็นพิเศษนี้  ทำให้กรรมาธิการที่ปรึกษาฝ่ายการเมืองของพรรคคอมมิวนีสต์จีน กำหนดเป้าหมายการพัฒนาความสัมพันธ์สองจีนเป็นวาระเร่งด่วนเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา   โดยยกย่องให้ความสัมพันธ์ของประชาชนทั้งสองฟากช่องแคบ เป็นสื่อสัมพันธ์ที่สำคัญที่สุด  นับเป็นสัญญาณสำคัญที่ต้องจับตามอง ไทยเราก็เคยมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นลึกซึ้งกับไต้หวันมาก่อน แม้จะเปลี่ยนแปลงห่างกันไปเพราะกระแสการเมืองโลก แต่ตอนนี้อาจเป็นจังหวะก้าวสำคัญที่ต้องคิดปรับตัว ไม่ใช่แค่เพียงส่งแรงงานไปหากินเพียงอย่างเดียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น