ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันเสาร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ผู้สูงอายุในสังคมจีน

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
                 ในเทศกาลตรุษจีน หากได้มีโอกาสชมทีวีจีนหรือสำนักข่าวต่างประเทศผ่านทางดาวเทียม ผู้อ่านก็คงได้ซึมซับรับทราบบรรยากาศการฉลองในประเทศจีนและชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลในที่ต่างๆ พอสมควร ท่านที่ไม่ได้ชมภาพข่าวจากต่างประเทศ ก็คงอาศัยรับรู้บรรยากาศตรุษจีนในประเทศไทยได้ไม่มากก็น้อย เท่าที่ผมได้ติดตามจากท่านนักวิเคราะห์ทั้งหลายที่ปรากฎในสื่อของจีน ดูเหมือนจะมีมุมมองแยกออกเป็นสองทาง บ้างก็วิจารณ์ว่าตรุษจีนปีนี้ไม่คึกคักเท่าที่ควร เพราะถูกเทศกาลฝรั่งวันวาเลนไทน์มาแย่งซีน ในอีกด้านหนึ่ง ก็เห็นมีผู้วิเคราะห์ว่าเทศกาลวาเลนไทน์ปีนี้หงอยไปสนิท เพราะวัยรุ่นเชื้อสายจีนถูกบังคับกลายๆให้รอซองแดงอยู่กับบ้านซะเป็นส่วนใหญ่  ดูจากข้อวิเคราะห์วิจารณ์ก็พอรู้ว่าใครเป็นใคร คนสูงวัยก็มีมุมมองวิเคราะห์อย่างหนึ่ง วัยรุ่นก็คาดหมายไปในอีกทิศทางหนึ่งเสมอมา
                เทศกาลตรุษจีนในประเทศจีนปีนี้ ก็มีมุมมองและประเด็นข่าวให้ต้องติดตาม  อันสืบเนื่องมาจากความคิดความคาดหวังที่แตกต่างกันของอายุ  รัฐบาลจีนและหน่วยงานเอกชนจำนวนหนึ่ง ก็เริ่มส่งสัญญานในสังคมรับรู้ถึงปัญหาการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัย(อายุตั้งแต่60ขึ้นไป)ในประเทศซึ่งเพิ่มสูงขึ้นถึง 167 ล้านคน  หรือคิดเป็นร้อยละ 12.5 ของประชากรทั้งหมด 


           ในช่วงเทศกาลที่ยังคงต่อเนื่องมาถึงวันนี้ หลายแห่งก็ยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะในครอบครัวที่ลูกหลานอาจกลับมาร่วมฉลองปีใหม่ได้ไม่พร้อมหน้าพร้อมตากัน  ด้วยสาเหตุต่างๆอย่างที่ผมได้เคยเล่าให้ฟังไปก่อนหน้านี้แล้ว  อันที่จริงรัฐบาลจีนเองก็ได้ให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุของจีนด้วยการกำหนดให้วันขึ้น 9 ค่ำเดือน 9 จีน (ออกเสียงในภาษาจีนว่า จิ่วจิ่ว อันหมายถึงยืนยาว)เป็นวันผู้สูงอายุ  แต่ทว่าในทางปฏิบัติ กิจกรรมสำคัญที่ผู้สูงอายุคาดหวังจากลูกหลาน ก็ยังคงเป็นการได้อยู่ร่วมพร้อมหน้าในช่วงตรุษจีนนี้แหละ ครอบครัวผู้สูงอายุจำนวนมากต้องผ่านช่วงเทศกาลตรุษจีนกันตามลำพัง  หลายแห่งหน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น ต้องจัดงานฉลองให้เป็นการเฉพาะด้วยการรวมกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกหลานหรือลูกหลานขาดการติดต่อไปนานแล้ว  ให้มาทำกิจกรรมเฉลิมฉลองร่วมกัน
                 จากข้อมูลของกระทรวงกิจการพลเรือนที่เผยแพร่เมื่อปลายปีที่แล้ว ในบรรดาผู้สูงอายุของจีนที่มีกว่า 167ล้านคน มีผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้สูงถึง 18.9 ล้านคน  มีผู้สูงอายุที่พิการอีก 9.4 ล้านคน  ทั้งสองกลุ่มนี้คือประชากรจีนที่ไม่สามารถประกอบกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ด้วยตัวเอง จำเป็นต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือจากลูกหลาน ในขณะที่สภาพการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของจีนกลับเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางตรงข้าม ส่งผลให้สมาชิกในครอบครัวจำเป็นต้องตัดลดภาระในการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้สามารถทำงานแข่งขันกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้ทัน  สถานการณ์เช่นนี้จะนำไปสู่ปัญหาทางสังคมในอนาคตหากจีนไม่สามารถสร้างระบบสวัสดิการที่มีประสิทธิภาพขึ้นมาทำหน้าที่ทดแทนได้ทัน  ไหนจะปัญหาระบบสาธารณสุขที่ขาดแคลนอยู่แล้วในปัจจุบัน ไหนจะปัญหาทางเศรษฐกิจที่ต้องเลี้ยงดูผู้สูงอายุที่ไม่สามารถหาเลี้ยงตัวเองได้ แล้วยังปัญหาทางสังคมและจิตวิทยาอีก




                ความตื่นตัวเกี่ยวกับการที่ประเทศจีนกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ  อันที่จริงมีมาหลายปีแล้ว เพราะองค์การสหประชาชาติได้เคยขึ้นบัญชีประเทศจีนว่าจะเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆที่ต้องเจอกับปัญหาผู้สูงอายุและปัญหาเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการสังคม เมื่อปีที่แล้วรัฐบาลโดยรองนายกรัฐมนตรี ฮุย เหลียงยวี่ ได้ออกมาประกาศว่ารัฐบาลจะดำเนินการปรับเปลี่ยนแผนสวัสดิการเพื่อผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดสร้างกองทุนบำนาญเพื่อผู่สูงอายุในภาคชนบท  จากเดิมเกษตรกรต้องเก็บออมเองและพึ่งพาลูกหลานเพื่อเตรียมตัวสำหรับวัยชรา รัฐบาลส่วนกลางและท้องถิ่นได้ตัดสินใจจัดงบประมาณเข้าสบทบเพื่อเป็นกองทุนบำนาญผู้สูงอายุ  อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวเพิ่งจะริเริ่มเมือสิงหาคมปีที่แล้ว โดยมีเป้าหมายที่จะครอบคลุมภาคชนบททั้งหมดให้ได้ในปี 2020 ซึ่งฟังดูแล้วก็ต้องใช้เวลาอีกตั้งสิบปี อีกทั้งตัวเงินที่รัฐบาลกลางและท้องถิ่นจะสมทบให้ ก็ไม่เท่ากันแปรไปตามสภาพเศรษฐกิจของแต่ละเขตพื้นที่  นักวิชาการและหน่วยงานพัฒนาหลายแห่งจึงกังวลใจว่าจีนอาจต้องเผชิญปัญหาหนักในเรื่องนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากการเตรียมการรับมือยังคงปล่อยให้เป็นภาระของรัฐบาลฝ่ายเดียว  หน่วยงานหลักของรัฐบาลจีนคือกระทรวงกิจการพลเรือน ประมาณการว่าเมื่อถึงกลางศตวรรษนี้ จีนอาจกลายเป็นสังคมที่มีผู้สูงอายุมากถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด



               
               ในเขตเมืองเองก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา  จะโชคดีกว่าก็ตรงที่รัฐบาลท้องถิ่นในเมืองขนาดใหญ่อาจมีงบประมาณมากกว่า  ตัวอย่างเช่นในมหานครเซี้ยงไฮ้ ปัจจุบันมีประชากรสูงอายุมากถึงร้อยละ20  แต่รัฐบาลท้องถิ่นเพิ่งให้บริการแก่ผู้สูงอายุได้เพียง 60 กว่าศูนย์  เมืองใหญ่ที่น่าสนใจอีกแห่งคือมหานครกวางโจว แม้ว่ารัฐบาลท้องถิ่นของมหานครทางใต้นี้จะกำหนดว่าผู้สูงอายุหมายถึงอายุ 65 ปีขึ้นไป  แต่กวางโจวก็กำลังจะกลายเป็นเมืองหลวงของผู้สูงอายุในประเทศจีน หนังสือพิมพ์หนานฟางรายวันรายงานเมื่อวันที่11เดือนนี้ว่า  ประชากรวัย 65 ขึ้นไปของมณฑลกวางตงเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ต่อปี จากที่ปัจจุบันมีผู้สูงอายุอยู่แล้วร้อยละ 8.17 ของประชากรทั้งหมด(เกือบหนึ่งร้อยล้านคน ไม่รวมแรงงานต่างถิ่นอีก30กว่าล้านคน) แต่ระบบรองรับในบ้านพักคนชราที่ดำเนินการอยู่ทั้งมณฑล สามารถรับผู้สูงอายุได้เพียง 90,000คน ในเขตเมืองที่ประชากรหนาแน่นรอบปากแม่น้ำจูเจียง มีศูยน์นำร่องทดลองให้บริการผู้สูงอายุในช่วงเวลากลางวันที่ลูกหลานต้องไปทำงาน รวมเพียง 37 ศูนย์  เมืองกวางโจวจากที่เคยได้รับสมญานามว่าเป็นเมืองที่มีคนรวยมากที่สุดในประเทศจีน อาจต้องเปลี่ยนเป็นเมืองที่มีคนแก่มากที่สุดในประเทศ  หรืออย่างที่เริ่มมีการพูดล้อเลียนกันบ้างแล้วว่าคนกวางโจวจะรวยก่อนแก่ หรือจะแก่ก่อนรวย



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น