ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2553

พิพิธภัณฑ์จีนกับการสื่อสารทางวัฒนธรรม

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



                 ในช่วงระยะเวลาการจัดงาน World Expo 2010 ที่มหานครเซี้ยงไฮ้  นอกเหนือไปจากการนำเสนอแนวความคิดการพัฒนาเมืองสมัยใหม่ และนวตกรรมเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมแล้ว  ประเทศจีนยังได้พยายามนำเสนอให้ประชาคมโลกรับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ทางวัฒนธรรมของจีน ผ่านกิจกรรมและผลงานสร้างสรรค์ที่เป็นรูปธรรมอันหลากหลาย  จากข้อมูลของนิตยสาร Beijing Reviewsประจำสัปดาห์นี้ หนึ่งในกิจกรรมที่ได้ถูกนำมาเป็นประเด็นประชาสัมพันธ์หรือของแถมพ่วงกับงานExpo ก็คือการเชิญชวนให้แขกผู้มาเยือนและชาวจีนเองได้สัมผัสเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ที่มีอยู่มากมายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศจีน นัยว่าพยายามจะโชว์ความสำเร็จของแนวความคิดเรื่องการสื่อสารและการให้ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมจีน  โดยมีพิพิธภัณฑ์เป็นกลไกสำคัญ  ผมก็เลยจะขออนุญาตชวนคุยเรื่องพิพิธภัณฑ์ของประเทศจีนกันหน่อย


                 ท่านผู้อ่านที่มีโอกาสเดินทางไปเที่ยวประเทศจีนในช่วงสองสามปีมานี้  อาจได้สังเกตพบความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์จีน  กล่าวคือ นับแต่เดือนมีนาคมปี2008 เป็นต้นมา รัฐบาลกลางได้ออกนโยบายปรับเปลี่ยนยกเลิกการเก็บค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์ โดยดำเนินการให้งบประมาณชดเชยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากพิพิธภัณฑ์ของรัฐ33แห่งในมหานครปักกิ่งยกเลิกบัตรผ่านประตูในปี2008  จนถึงเมื่อปลายปีที่แล้ว มีพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศจีนทั้งในระดับชาติและระดับมณฑล1,447แห่ง หรือประมาณร้อยละ77(ไม่นับรวมของเอกชน) เปิดให้เข้าชมโดยไม่เก็บค่าผ่านประตู ไม่ว่าจะเป็นชาวจีนหรือชาวต่างชาติ  เป้าหมายหลักคือจะพยายามทำให้ทุกพิพิธภัณฑ์ที่เป็นของรัฐยกเลิกการเก็บค่าเข้าชมให้ได้ภายในอีกสองปีข้างหน้า  ทั้งนี้พิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งอาจยังคงสามารถเก็บค่าเข้าชมพิเศษสำหรับการจัดนิทรรศการเฉพาะ หรือการแสดงพิเศษได้  ผลจากนโยบายดังกล่าว ทำให้ในช่วงสองปีที่ผ่านมานี้ มีประชาชนเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ของรัฐทั่วประเทศเพิ่มเป็น820ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ50เมื่อเทียบกับช่วงระยะก่อนหน้าที่มีการเก็บค่าเข้าชม โดยเฉลี่ยจำนวนผู้เข้าชมต่อวันของพิพิธภัณฑ์หลักๆในปัจจุบันอยู่ที่สามพันกว่าคน พิพิธภัณฑ์ระดับรองหรือเล็กลงมาก็ยังมีผู้เข้าชมต่อวันไม่น้อยว่าห้าหกร้อยคน


                 แต่ก็รู้ๆกันอยู่ว่าของฟรีไม่มีในโลกนี้ เพื่อให้นโยบายดังกล่าวเกิดเป็นจริง รัฐบาลกลางและรัฐบาลมณฑลต้องเป็นผู้จัดสรรเงินงบประมาณจำนวนมาก ทั้งในส่วนที่เป็นงบประมาณค่าบริหารจัดการโดยปรกติ และงบประมาณลงทุนพัฒนา โดยสัดส่วนการจัดสรรเงินระหว่างรัฐบาลกลางที่ปักกิ่งกับรัฐบาลท้องถิ่น จะแตกต่างกันไปตามสภาพเศรษฐกิจของแต่ละมณฑลที่พิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ เช่นหากเป็นพิพิธภัณฑ์ในมณฑลทางตะวันออกที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้วรัฐบาลกลางจะอุดหนุนร้อยละ20 ท้องถิ่นจ่ายที่เหลืออีกร้อยละ80 ในมณฑลระดับกลาง รัฐบาลส่วนกลางจะจัดสรรให้ร้อยละ60 ท้องถิ่นจ่ายอีก 40  แต่ถ้าเป็นพิพิธภัณฑ์ในมณฑลยากจนทางตะวันตกรัฐบาลกลางจัดสรรร้อยละ80 ท้องถิ่นออกแค่20 มาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจสงสัยว่ารัฐบาลจีนเค้าคิดอะไรกัน ถึงได้ทุ่มงบประมาณมากมายขนาดนี้ เพียงเพื่อให้คนเข้าพิพิธภัณฑ์มากขึ้น   ผมเองก็คงตอบไม่ได้ว่าจริงๆแล้วรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจตัดสินใจของจีนคิดอ่านอะไรอยู่ในใจ แต่ที่ชัดเจนแน่นอน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีแต่เพียงจำนวนของผู้เข้าชมเท่านั้น
                 ดูจากบทสัมภาษณ์ของประชาชน ประกอบกับเสียงสะท้อนของสื่อจีนเอง(ที่ตอบรับนโยบายใหม่นี้อย่างดี)  พิพิธภัณฑ์จีนได้เปลี่ยนจากศูนย์สะสมเก็บของเก่า กลายมาเป็นแห่งเรียนรู้ เป็นศูนย์วัฒนธรรม เป็นแหล่งท่องเที่ยว และแม้กลายเป็นแหล่งบันเทิง ปริมาณผู้เข้าชมที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้พิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งต้องทำงานในเชิงรุกและปรับเปลี่ยนพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ประชาชนคาดหวังการมีส่วนร่วมมากขึ้น จนหลายแห่งถูกใช้เป็นศูนย์วัฒนธรรมของท้องถิ่น โรงเรียนจำนวนมากไม่เพียงนำนักเรียนเข้าเยี่ยมชม แต่ยังจัดกิจกรรมเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมให้กับกลุ่มผู้ปกครองเด็กนักเรียน โดยใช้พิพิธภัณฑ์เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้  บริษัทท่องเที่ยวจำนวนมากที่ทราบดีเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวได้บรรจุพิพิธภัณฑ์ท่องถิ่นไว้ในรายการท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนภายในประเทศ    ในบางท้องถิ่นพิพิธภัณฑ์ร่วมมือกับธุรกิจและสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่น จัดเกมส์โชว์และกิจกรรมบันเทิงหลายรูปแบบ จนอาจกล่าวได้ว่า พิพิธภัณฑ์ของจีนประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ในการสื่อสารทางวัฒนธรรม ให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์  ตลอดจนนำเสนอมุมมองของศิลปะและย้ำเตือนคุณค่าเอกลักษณ์ของความเป็นจีนกับมหาชนในวงกว้าง
                 แต่เหรียญก็ยังต้องมีสองด้าน นโยบายยกเลิกค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์ มองจากด้านผู้ที่ต้องรับผิดชอบ อันได้แก่บรรดาเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ เสียงบ่นก็มีออกมาเช่นกัน  จำนวนผู้เข้าชมที่เพิ่มมากขึ้นก็สร้างปัญหามากกับผู้ที่ต้องให้บริการ  ดังปรากฏรายงานของที่ประชุมภัณฑารักษ์ทั่วประเทศเมื่อไม่นานมานี้  มีผู้ยกตัวอย่างกรณีพิพิธภัณฑ์มณฑลฟู่เจี้ยน จากเดิมวันๆหนึ่งมีผู้เข้าชมไม่กี่ร้อยคน พอเริ่มนโยบายไม่เก็บค่าเข้าชม จำนวนผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์เพิ่มเป็นวันละหลายพันคน ถ้าเป็นช่วงเทศกาลวันหยุดยาวผู้เข้าชมพุ่งสูงถึงหมื่น หลิน-ตัน     ประชาสัมพันธ์พิพิธภัณฑ์ฟู่เจี้ยนรายงานต่อที่ประชุมว่า  ทางพิพิธภัณฑ์ถึงกับต้องแจกบัตรคิวให้เข้าแถวรออยู่นอกประตูพิพิธภัณฑ์ แม้บัตรคิวก็ยังไม่พอแจก หลายพิพิธภัณฑ์ต้องคิดค้นวิธีบริการใหม่ เช่นกำหนดคิวการเข้าชมไม่ให้เกิน 3,000 คนต่อวัน บางแห่งต้องเปิดเว็ปไซต์ให้จองการเข้าชมผ่านระบบอินเตอร์เน็ต  ผู้เข้าชมมากขึ้น ความคาดหวังก็มากขึ้น ประชาชนบางรายมาชมพิพิธภัณฑ์เดือนละหลายครั้ง และเรียกร้องให้พิพิธภัณฑ์ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการจัดแสดง  พิพิธภัณฑ์ในมณฑลห่างไกลหลายแห่ง ถูกประชาชนในท้องถิ่นเรียกร้องให้นำหุ่นทหารดินเผาสุสานจิ๋นซีมาจัดแสดง  ทั้งหมดนี้ย่อมเพิ่มแรงกดดันให้กับคณะเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ อีกทั้งยังเกินกำลังงบประมาณที่ได้รับสนับสนุนจากรัฐบาล จากที่เดิมกลุ้มใจว่าไม่มีคนเข้า ตอนนี้ฝ่ายรัฐบาลเองชักจะห่วงใยที่พิพิธภัณฑ์ทั้งหลายดูจะประสบความสำเร็จเกินไปเสียแล้ว ก็ปวดหัวไปอีกแบบ

2 ความคิดเห็น:

  1. รู้แต่ว่าเวลาคนไทยไปเที่ยวจีน มักขอให้ตัดรายการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ออก และเพิ่มรายการช็อปให้มากขึ้น

    ตอบลบ
  2. พิพิธภัณฑ์ประเทศไทย หยุดวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เปิดเฉพาะวันธรรมดา คงจะมีคนชมหรอกนะคะ

    ตอบลบ