ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553

จงกวนชุนมหานครปักกิ่ง

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา

คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
    
              มีข่าวน่าสนใจมากมายที่เกี่ยวข้องกับประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวปราศรัยของท่านนายกรัฐมนตรี เหวิน เจียเป่า เกี่ยวกับค่าเงินหยวนที่สหรัฐอเมริกา  งานเปิดตัวเอเซียนเกมส์ที่มหานครกวางเจา ปัญหาระหว่างจีน-ญี่ปุ่น มากมายหลายข่าวเต็มไปหมด  ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่รักหลายท่านก็คงได้ติดตามรับทราบ จากรายงานข่าวสดตามสื่อแขนงต่างๆไปแล้ว ก็จะขออนุญาตไม่นำมาเล่าซ้ำอีก ในส่วนตัวของผมเอง ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีกิจกรรมเกี่ยวกับประเทศจีนเข้ามาสองรายการ หนึ่งคือไปทำหน้าที่รับแขกนักวิชาการจีนจากสภาสังคมศาสตร์แห่งชาติของจีน ที่เดินทางมาเยี่ยมเยือนสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยในประเทศไทยเมื่อกลางสัปดาห์  เสร็จแล้วก็ต้องเดินทางไปปักกิ่งเพื่อนำเสนองานวิจัยในที่ประชุมของเครือข่ายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ที่จัดขึ้นในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง  นับเป็นสัปดาห์ที่เหน็ดเหนื่อยและสนุกสนานอย่างยิ่ง  ไปเยี่ยมปักกิ่งคราวนี้ ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงต่างๆเกิดขึ้นมากมาย  ทั้งที่ครั้งหลังสุดที่ไปมาก็ห่างกันเพียงแค่8เดือน  แต่ดูเหมือนประเทศจีน โดยเฉพาะที่เมืองหลวงอะไรต่อมิอะไรจะเปลี่ยนแปลงเร็วมาก  หากจะให้เล่า ก็คงเขียนเล่าได้จนข้ามปีเป็นแน่  จะขออนุญาตคัดเอาเฉพาะเรื่องที่ประทับใจเป็นพิเศษที่ได้ไปเห็นมาในคราวนี้ นำมาเล่าสู่ท่านผู้อ่านเพียงเรื่องเดียวก่อน
                 งานประชุมสัมมนาทางวิชาการที่ผมไปร่วมนำเสนอผลงานครั้งนี้ แม้จัดโดยสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษาของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง  แต่เนื่องจากในช่วงเวลาใกล้กันมีงานประชุมสัมมนาอื่นๆของมหาวิทยาลัยอีกหลายงาน ทำให้บรรดาห้องประชุมในมหาวิทยาลัยไม่พอใช้  ต้องออกมาจัดนอกมหาวิทยาลัย โดยใช้ห้องประชุมและห้องจัดเลี้ยงของโรงแรมที่อยู่ใกล้ๆแทน ทำให้ผมมีโอกาสได้รับทราบพัฒนาการใหม่ๆที่เกิดขึ้นในเขต จงกวนชุน อันเป็นพื้นที่พัฒนาพิเศษในเขต ไฮ่เตี้ยนทางตะวันตกเฉียงเหนือของมหานครปักกิ่ง  บริเวณพื้นที่ที่เรียกว่า จงกวนชุนนี้ มีมาตั้งแต่สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ที่เป็นเขตพัฒนาพิเศษ เพิ่งจะริเริ่มขึ้นโดยวิสัยทัศน์ของ นาย เฉิน ชุนเซียน กรรมการระดับสูงของสภาวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน ตั้งแต่เมื่อต้นทศวรรษที่1980 ภายหลังจากที่แกเดินทางไปดูงาน Silicon Valley ในอเมริกา ก็เลยอยากเห็นประเทศจีนมีศูนย์กลางหรืออุทยานไฮเทคทางคอมพิวเตอร์ ในเวลานั้นที่เลือกเอาพื้นที่บริเวณจงกวนชุน ก็เพราะแวดล้อมด้วยมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ทั้งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยชิงหัว มหาวิทยาลัยเหรินหมิง อีกทั้งยังอยู่ใกล้กับสภาวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติของจีน ง่ายในการต่อเชื่อมและสร้างศูนย์กลางบ่มเพาะวิสาหกิจทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ โดยอาศัยต่อยอดจากงานวิจัยในมหาวิทยาลัยต่างๆ  ผมเองมีโอกาสได้รับทราบเรื่องราวของเขตพัฒนาพิเศษจงกวนชุน  แต่ก็ไม่ได้ติดตามว่าประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ในช่วงระยะเวลาร่วม20ปีที่ผ่านมา


                 มาครั้งนี้ เนื่องจากมีเวลาว่างหลังงานประชุมนำเสนอผลงาน ผมเลยได้โอกาสขอให้อาจารย์หนุ่มน้อยรายหนึ่งของมหาวิทยาลัยปักกิ่งช่วยนำทัวร์  ทำให้ได้พบได้เห็นความก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น  ความประทับใจแรกๆที่รับรู้เมื่อเดินตะเวนดูตามถนนเส้นต่างๆในเขตจงกวนชุน ก็คือรู้สึกเหมือนเดินอยู่ในมาบุญครองของไทย เพียงแต่เป็นมาบุญครองบนถนนหลายเส้น ไม่ใช่ในตึกแค่ตึกเดียว แต่พอเดินไปอีกระยะหนึ่ง ก็รู้สึกว่าจะคล้ายมาบุญครองบวกพันธุ์ทิพย์พลาซ่า เพราะไม่ได้มีแต่ร้านขายมือถือ แต่ยังมีคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ไฮเทคอื่นๆสารพัดชนิดที่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้อีเล็กทรอนิค สารพัดเท่าที่จะนึกได้ ท้ายที่สุดหลังจากที่เพื่อนอาจารย์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่งพาชมจนเกือบทั่ว ถึงได้เกิดความรู้สึกว่าเขตจงกวนชุนนี้ แท้ที่จริงหากจะเปรียบเทียบให้คนไทยเราเห็นภาพ ก็ต้องบอกว่า เป็นทั้งมาบุญครอง บวกพันธุ์ทิพย์ บวกอุทยานวิทยาศาสตร์ที่รังสิต บวกนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค  ทั้งหมดผสมผสานรวมกันอยู่ในอาคารระฟ้าต่างๆหลายสิบอาคาร อาคารบางอาคาร เท่าที่เขาอนุญาตให้ขึ้นไปดูได้ ชั้นล่างเป็นโชว์รูมสินค้าไฮเทคเช่นกล้องจุลทรรศน์อีเล็คตรอนขนาดเล็ก ซึ่งผลิตจากโรงงานประกอบชิ้นส่วนปลอดเชื้อและปลอดฝุ่นที่อยู่ชั้นบนของอาคาร  มีห้องทดลองและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเอง แต่อยู่บนอีกตึกหนึ่งบนคนละฝั่งถนน
                 ที่น่าสนใจมากอีกประการหนึ่ง คือตัวบริษัทและเจ้าของกิจการ  ปรากฏว่าส่วนใหญ่เป็นบัณฑิตหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ ที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรอบข้าง เข้าหุ้นกันออกมาลงทุนเช่าพื้นที่อาคาร รับทำการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลก และระดับชาติของประเทศจีน บางมหาวิทยาลัยก็มาเช่าพื้นที่ในอาคารเหล่านี้ เพื่อให้บริการเช่าห้องทดลองหรือรับจ้างทดลองตรวจสอบวัสดุผลิตภัณฑ์  ประเภทว่าส่งมาตรวจตอนเช้า ตกบ่ายได้ผลการตรวจส่งถึงมือทันที หรือบางมหาวิทยาลัยก็นำเอางานวิจัยของตน ออกมาเปิดโชว์รูมวางขายชิ้นงานต้นแบบ สำหรับให้อุตสาหกรรมเอกชน มาเลือกซื้อไปพัฒนาเพื่อผลิตเป็นสินค้าออกจำหน่าย  เท่าที่ทราบมา เวลานี้มีบริษัทร่วมทุนระหว่างมหาวิทยาลัยดังๆของจีนกับธุรกิจและอุตสาหกรรมภายนอก มาชุมนุมกันอยู่ในเขตจงกวนชุนนับร้อยบริษัท  และมีห้องทดลอง ศูนย์วิจัยพัฒนา ที่เป็นของเอกชนล้วนๆอีกหลายร้อยแห่ง
                 ด้วยความสำเร็จของกิจกรรมเชื่อมต่อระหว่างงานวิจัยและพัฒนาในมหาวิทยาลัย ไปสู่การผลิตในเชิงอุตสาหกรรม และการตลาดซื้อขายสินค้าไฮเทค  ทำให้พื้นที่ของเขตจงกวนชุนในปัจจุบัน ต้องขยายเพิ่มขึ้น  และมีการจัดโซนจัดกลุ่มแยกออกเป็น 7 อุทยาน ครอบคลุมกิจกรรมทางวิจัย ทดลอง ผลิต พัฒนา อุตสาหกรรม และการตลาด มีคณะกรรมการกลางที่มาจากภาคส่วนทั้งรัฐ มหาวิทยาลัย ธุรกิจ และหน่วยงานบริหารท้องถิ่น ร่วมกันเป็นคณะกรรมการบริหารเขตพื้นที่พิเศษนี้  ผมเองในฐานะที่สอนหนังสืออยู่แถวรังสิตติดกับอุทยานวิทยาศาสตร์ เดินดูไปก็ฝันไป ทำไงจะเชื่อมต่อของที่มีอยู่แล้วในประเทศไทย ให้มันงอกเงยผลิดอกออกผลแบบเขาบ้าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น