ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ความปรองดองในวิกฤตการณ์

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



                 

                    ผมกำลังจะชวนไปดูการปรองดองที่จีนไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการเมืองไทย แม้ใจจะคอยช่วยลุ้นอยู่ก็ตาม เรื่องความปรองดองแห่งชาติที่ว่าข้างต้นนั้น สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในประเทศจีน คือกรณีแผ่นดินไหวครั้งรุ่นแรงขนาด 7.1 ริคเตอร์ ศูนย์กลางอยู่ที่อำเภออวี่ซู่ ในมณฑล ชิ่งไฮ่ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ที่ได้รับความเสียหายและผู้คนล้มตายหนักที่สุดกลับเป็น บริเวณเมืองข้างเคียง  เช่นเมือง เจี๊ยกู่  รายละเอียดอื่นๆท่านผู้อ่านที่ได้ติดตามข่าวคงพอทราบบ้างแล้ว  ในขณะที่เขียนต้นฉบับอยู่นี้ ตัวเลขผู้เสียชีวิตเกือบจะสองพันอยู่แล้ว สูญหายไม่รู้ชะตากรรมอีกหลายร้อยคน  บาดเจ็บกระจายรักษาตัวในมณฑลข้างเคียงอีกเป็นหมื่น เรียกได้ว่าเป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่ในประเทศจีน  แม้ผลกระทบดูจะไม่มากเท่ากรณีแผ่นดินไหวที่เสฉวนเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2551 (แรงสั้นสะเทือนวัดได้ถึง 7.8 ริคเตอร์  มีผู้เสียชีวิตมากถึง 68,516 คน บาดเจ็บอีก 365,399 คน) แต่ก็นับเป็นเรื่องใหญ่ที่ผู้คนติดตามด้วยความห่วงใย

 


                 มณฑล ชิงไฮ่ อาจไม่ได้เป็นที่คุ้นเคยรู้จักกว้างขวาง โดยเฉพาะกับคนไทยเรา  ผมเลยขอทำหน้าที่แนะนำสักเล็กน้อย มณฑลนี้ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ติดต่อกับมณฑล กานสู ซินเจียง เสฉวน และเขตปกครองตนเองธิเบต  เป็นมณฑลขนาดใหญ่เจ็ดแสนกว่าตารางกิโลเมตร ประชากรเกือบหกล้านคน ซึ่งถ้าดูโดยมาตรฐานจีน ถือว่ามีประชากรเบาบางน้อยมาก  ในฐานะมณฑล(ไม่นับซินเจียงและมองโกเลียใน ซึ่งถือว่าเป็นเขตปกครองตนเองไม่ใช่มณฑล) จัดเป็นมณฑลที่ใหญ่ที่สุดของจีน ในทางเศรษฐกิจ ชิงไฮ่ ถือว่ามีบทบาทน้อยและเป็นเขตยากจน มูลค่าผลผลิตรวมมีไม่ถึงร้อยละหนึ่งของประเทศ อุตสาหกรรมหลักมีเพียงแร่เหล็ก และแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ยังอยู่ระหว่างการสำรวจ ในด้านประวัติศาสตร์ชิงไฮ่เป็นส่วนหนึ่งของธิเบต ประชากรเดิมประกอบด้วยชนชาติ ธิเบต มองโก หุย(มุสลิมเตอร์ก)และชนกลุ่มน้อยอื่นอีกจำนวนหนึ่ง  แต่ตลอดช่วงประวัติศาสตร์จีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง จีนได้เข้าควบคุมยึดครองมาเป็นระยะ แต่วันดีคืนดีเมื่อจีนอ่อนกำลังลง คนพื้นเมืองเดิมก็ลุกฮือขึ้นแยกตัวเป็นอิสระวนเวียนไปมาเช่นนี้อยู่ตลอด ในประวัติศาสตร์การปราบปรามครั้งสำคัญเห็นจะเป็นสงครามกวาดล้างในสมัยราชวงศ์ชิงตอนต้น ซึ่งก็ทำให้ชิงไฮ่ตกอยู่ในอาณัติของจีนถาวรมากยิ่งข้น มาในยุคหลังเมื่อรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ผนวกดินแดนธิเบตเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีน ชิงไฮ่ก็เลยดูสงบลง อีกทั้งยังส่งผลให้ มีชาวจีนฮั่นเข้าไปอยู่เพิ่มเติมมากขึ้นเรื่อยๆ จนในปัจจุบันมีจีนฮั่นมากถึงร้อยละ 54



                 จากเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวข้างต้น ชิงไฮ่จึงกลายเป็นมณฑลที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญและจับตาดูแลเป็นพิเศษ เพราะแม้จะถือเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีนแล้วก็ตาม  แต่เวลาใดที่เกิดเหตุลุกฮือขึ่นในธิเบตหรือซินเจียง ก็มักมีเหตุการณ์วุ่นวายตามมาในมณฑลชิงไฮ่ด้วย เพราะความที่องค์ประกอบและความสัมพันธ์เชื่อมโยงทางชาติพันธุ์ทั้งกับชาวธิเบตและชาวฮุยหรือมุสลิมเติอร์กยังมีอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง เพียงแต่โลกภายนอกยังไม่ค่อยจะได้รับรู้เท่าใดนัก  นักวิจารณ์ชาวต่างชาติบางรายถึงกับตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะมีการปิดบังข่าวสารจากทางการจีน ความ สัมพันธ์ระหว่างชนพื้นเมืองเดิมกับชาวฮั่นที่อพยพเข้ามาในภายหลัง ก็ถูกจับตามองจากบรรดานักวิเคราะห์ภายนอก  แม้จะไม่รุนแรงเหมือนอย่างเหตุการณ์ที่เกิดจลาจลในธิเบต  แต่คนทั่วไปก็พอจะเดาออกว่าไม่น่าจะหวานชื่นนัก



                 เหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงคราวนี้  ผู้ประสบภัยส่วนใหญ่ หรืออาจเกือบทั้งหมด ล้วนเป็นชาวชิงไฮ่เชื้อสายธิเบต  การกู้ภัยและตอบสนองต่อเหตุการณ์อย่างฉับพลันทันที่และเอาจริงเอาจังจากรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลางที่เป็นชาวจีนฮั่นในช่วงเวลาที่ผ่านมา  บวกกับน้ำใจของชาวจีนที่หลั่งไหลมาจากทุกสารทิศทั่วจีน ไม่แพ้ความช่วยเหลือในคราวแผ่นดินไหวที่เสฉวน เรียกว่าได้ใจชาวธิเบตที่ประสบภัยไม่น้อย  ผู้นำระดับสูงของจีน ไม่ว่าจะเป็นประธานหู หรือท่านนายกฯเหวิน ที่เข้าตรวจเยี่ยมสั่งการแก้ไขบรรเทาภัยและให้ความช่วยเหลือในคราวนี้ เป็นการแสดงออกถึงความใส่ใจและอาธรต่อผู้ประสบภัยในฐานะพลเมืองของจีนที่เท่าเทียมกัน  ทำให้สื่อหลายแขนงทั้งภายในและภายนอกประเทศจีน ต่างตั้งความหวังว่าจะนำไปสู่ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันมากยิ่งขึ้น อันจะช่วยให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขต่อไป  ผมเองเท่าที่ติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่องในเหตุการณ์แผ่นดินไหวคราวนี้  ก็สังเกตเห็นว่าสาธารณชนชาวจีนโดยทั่วไป  ให้ความสนใจและห่วงใยผู้ประสบภัยอย่างกว้างขวาง  อาจจะเป็นด้วยประสบการณ์เหตุสลดใจที่เสฉวนสองปีก่อนหน้านี้(ผู้ประสบภัยเป็นจีนฮั่น) ทำให้เห็นอกเห็นใจในทุกข์ของเพื่อนร่วมชาติโดยไม่แยกเผ่าพันธุ์ภาษา  และพากันแสดงออกด้วยการช่วยเหลือจากน้ำใสใจจริงรัฐบาลกลางเองก็ดูมีความจริงใจ สังเกตได้จากสื่อต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์ระดมความช่วยเหลือ(อาหาร น้ำดื่ม ฯลฯ)ที่เป็นภาษาจีนเพื่อสื่อสารกับสาธารณชนชาวจีนแท้ๆ  ไม่ได้มุ่งแต่เปิดเว็ปไซต์ภาษาอังกฤษเพื่อโฆษณาสร้างภาพต่อโลกภายนอกแต่อย่างใด  หากวิกฤติการณ์คราวนี้จะรุนแรงก่อความเสียหาย  แต่อย่างน้อยก็ยังมีผลดีอยู่บ้าง ตรงที่ช่วยให้ผู้คนที่ครั้งหนึ่งอาจยังระแวงกินใจกันด้วยเงื่อนไขของอดีต  ได้มีโอกาสเห็นอกเห็นใจช่วยเหลือกัน  และปูทางเปิดใจให้กว้างยิ่งขึ้น สำหรับการอยู่ร่วมกันในอนาคต เล่าเรื่องเมืองจีนอยู่แท้ๆ ไหงลงท้ายฟังคล้ายเรื่องใกล้ตัวขนาดนี้ก็ไม่ทราบได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น