ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553

วัฒนธรรมเศรษฐีใหม่

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                 
                       แม้ในขณะที่สภาพเศรษฐกิจทั่วโลกยังอยู่ในภาวะลุ่มๆดอนๆ แต่ดูเหมือนไม่มีใครจะปฏิเสธได้ว่าเศรษฐกิจในจีนยังคงเดินหน้าเอาจริงเอาจังอย่างไม่เกรงอกเกรงใจชาติตะวันตก  ที่จริงรัฐบาลจีนเองก็กลัวภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ถึงขั้นออกมาตรการทางการเงินเพื่อชะลอการเก็งกำไรและสร้างอุปสงค์เทียมจนราคาบ้านแพงเกินเอื้อมของคนที่ต้องการซื้อจริง  แต่โดยรวมดูเหมือนกำลังซื้อภายในของจีนเองก็ยังคงเติบโตหล่อเลี้ยงการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง  แม้แต่กำลังซื้อในตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยหรูหราก็ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องต่อเนื่อง



                 มีหัวข้อข่าวที่แพร่กระจายอยู่ในโลกอินเตอร์เน็ตจีน สร้างความฮือฮาสะท้อนภาพสังคมจีนสมัยใหม่ กลายเป็นประเด็นร้อน วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง  เนื้อข่าวมีอยู่ว่า คุณแม่สาวเศรษฐีใหม่รายหนึ่ง ฉลองการเรียนจบชั้นประถมของลูกสาว ด้วยการถอยกระเป๋า หลุยส์ วิตตอง ราคา 20,000หยวน เป็นการตบรางวัลให้คุณลูกที่เคารพรัก พอข่าวแพร่ออกไป นักข่าวก็สืบเสาะจนสามารถรู้ตัวและขอสัมภาษณ์คุณแม่เศรษฐีใหม่รายนั้น ได้ความว่าเธอไม่ได้รู้สึกว่าเป็นการอวดร่ำอวดรวยอะไร เพียงต้องการให้ลูกสาวได้ในสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อเป็นการส่งเสริมและให้ประสบการณ์ที่ดีๆแก่ลูกสาว และเธอก็ไม่ได้รู้สึกว่าจะเป็นเรื่องเสียหายอะไรที่จ่ายเงิน20,000หยวนสำหรับกระเป๋าถือหนึ่งใบ
                 เหตุการณ์ข้างต้นไม่ใช่เรื่องแรกหรือเรื่องเดียวที่เกิดขึ้นในสังคมจีนขณะนี้ ข่าวทำนองว่ามีคนนั้นคนนี้ใช้จ่ายเงินซื้อของหรูหราฟุ่มเฟือยประเภทรถยนต์ เครื่องประดับ ราคาเป็นหลายสิบหลายร้อยล้าน ก็มีข่าวปรากฏมาเป็นระยะๆ ตัวผมเองก็ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ ไม่อยากจะไปสนใจว่าการกระจายรายได้อันเป็นผลพวงจากการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน ตกไปอยู่ในมือของใครมากน้อยแค่ไหนกี่เปอร์เซ็นต์ เท่าเทียมยุติธรรมหรือไม่อย่างไร  แต่ที่เห็นแน่ๆคือมีเศรษฐีใหม่เกิดขึ้นมากมายเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด ร้านค้าสินค้าหรูหราฟุ่มเฟือยจำนวนมากผุดขึ้นทั่วไปในเมืองใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางการพัฒนา ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวจีนเอง ไม่ใช่นักท่องเที่ยวหรือนักธุรกิจต่างชาติที่ไปหากินในประเทศจีน  ไม่เพียงผู้นำเข้าสินค้าหรูหราชื่อดังจากอิตาลีฝรั่งเศสเท่านั้น ที่กำลังสนุกสนานกับการขยายร้านเปิดสาขาเพิ่ม  แม้แต่ผู้ผลิตและร้านรวงของสินค้ายี่ห้อจีน ก็ดูจะได้รับอานิสงค์ขยายตัวเติบโตเพิ่มมากขึ้น แม้ว่ากำลังซื้อระดับบนจะยังคงยึดติดกับสินค้านำเข้าจากอิตาลีฝรั่งเศสก็ตาม


                 มีการจัดอันดับสิบเมืองชั้นนำแห่งแฟชั่นและชีวิตเลิศหรู ในกลุ่มเศรษฐีใหม่ชาวจีนอย่างไม่เป็นทางการ ได้แก่ อันดับ1 เซี่ยงไฮ้ อันดับ2 ปักกิ่ง อันดับ3 หังโจว อันดับ4 กวางเจา อันดับ5 เสิ่นเจิ้น อันดับ6 เฉงตู อันดับ7 ฉงชิ่ง อันดับ8 ชิงเต่า อันดับ9 ซีอาน อันดับ10 ต้าเหลียน ใครเป็นใครในเมืองจีน ก็ต้องดูว่าเป็นเศรษฐีอันดับที่เท่าไร มีบ้านหลังหลักหลังรองอยู่เมืองไหน รสนิยมใช้จ่ายเงินทองเป็นอย่างไร อาการเห่อของหรูของฟุ่มเฟือยว่าที่จริงแล้วก็เป็นปรากฏการณ์ปรกติที่เกิดขึ้นได้ในตลาดเกิดใหม่ทั้งหลายของประเทศที่เริ่มพัฒนาใหม่ๆ งานศึกษาทางวิชาการว่าด้วยปรากฏการณ์เช่นนี้ก็มีอยู่มาก แต่ที่ทำให้ประเทศจีนโดดเด่นต่างจากที่อื่นๆก็คงอยู่ที่ขนาดและความรวดเร็วของปรากฏการณ์  จนทำให้นักวิชาการจีนทางสังคมวิทยาและจิตวิทยาบางท่านตั้งข้อสังเกตว่า อาการเห่อของหรูไม่ได้เป็นภาพสะท้อนที่แท้จริงของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่กลับเป็นผลสืบเนื่องมาจากค่านิยมทางสังคมในประเทศจีนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วกล่าวคือคนที่เห่อซื้อของหรูของฟุ่มเฟือยราคาแพง ไม่ได้มีเฉพาะในหมู่ชาวจีนที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจหรือบรรดาเศรษฐีใหม่เท่านั้น แต่ยังแพร่ระบาดไปยังกลุ่มคนฐานะปานกลางจำนวนมาก ในอัตราที่รวดเร็วยิ่ง  ทั้งนี้หากเปรียบเทียบกับประสบการณ์ของสังคมอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งมีลักษณะการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวเติบโตอย่างรวดเร็วในยุคเกือบสามสิบปีที่แล้ว  กว่าที่กระแสความนิยมในสินค้าฟุ่มเฟือยจะสามารถรุกทะลวงเข้าไปได้ ก็ต้องใช้เวลาเกือบสามสิบปี ในขณะที่ของจีนนั้น ความเปลี่ยนแปลงในแบบแผนพฤติกรรมการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยเกิดขึ้นเกือบจะพร้อมๆกับความสำเร็จทางเศรษฐกิจ  และแพร่ขยายออกไปอย่างรวดเร็ว
                 งานศึกษาทางสังคมวิทยาของนักวิชาการจีนชิ้นหนึ่ง ชี้ให้เห็นว่าการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยอาจมีสาเหตุจากปัจจัยทางสังคม มากกว่าปัจจัยทางรายได้ โดยยกตัวอย่างกลุ่มผู้บริโภครายได้ระดับกลางที่มองว่าการจับจ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย เป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนเพื่อยกฐานะทางสังคม สร้างความยอมรับ และสร้างโอกาสในการแข่งขัน นักช็อปสาวรายหนึ่งซึ่งเป็นพนักงานประชาสัมพันธ์ของบริษัทต่างชาติในเซี้ยงไฮ้ เชื่ออย่างจริงจังว่าเสื้อผ้าราคาแพงของอิตาลี เป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของอาชีพการงานที่เธอทำอยู่ ในขณะที่พนักงานบัญชีบริษัทอีกแห่งหนึ่ง ตัดสินใจงัดเอาเงินออมกว่าสองปีของการทำงานมาซื้อกระเป๋าถือ หลุยส์ วิตตอง เพราะทนไม่ได้ที่พนักงานขายในร้านชื่อดังแห่งนั้นมองเธอด้วยสายตาเหยียดหยาม หลังจากชำระเงินซื้อสินค้าราคาแพงกว่าหนึ่งหมืนหยวนไปแล้ว สายตาของพนักงานขายที่มองดูเธอก็เปลี่ยนแปลงเป็นความชื่นชมเคารพนบนอบมากขึ้นในทันที่ ปรากฏการณ์ทางสังคมและจิตวิทยาเช่นตัวอย่างข้างต้น จะแพร่ระบาดออกไปมากน้อยเพียงใด คงเป็นเรื่องยากที่จะติดตามสำรวจ แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้ดูทุกคนยังมีความสุขกันดีอยู่ เพราะอย่างน้อยก็ยังไม่มีข่าวประเภทที่ถึงกับต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อจับจ่ายซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย
                 มองโลกในแง่ดี  การที่สินค้าหรูกว่าร้อยละ 80 จากทั่วโลก หลั่งไหลเข้ามาแข่งขันทำตลาดในประเทศจีน  กลายเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ผลิตและนักธุรกิจจีนต้องลุกขึ้นมาต่อสู้และพัฒนาคุณภาพของสินค้าจีน  จนเวลานี้มีทั้งรถยนต์หรูราคาแพงยี่ห้อจีน เครื่องหนัง เสื้อผ้า เครื่องประดับ คุณภาพสูงของจีนออกมาวางชั้นแข่งขัน  รัฐบาลจีนก็เริ่มจับตาดูแลเอาใจช่วยให้สามารถแข่งขันได้ ล่าสุด มีการเปิดเผยข้อมูลจากหน่วยงานควบคุมคุณภาพสินค้าคุ้มครองผู้บริโภคของรัฐบาลมณฑลเจ๋อเจียง แจงต่อสาธารณชนเมื่อ 14 มีนาคมว่าบรรดายี่ห้อหรูราคาแพงจากต่างประเทศ กว่าร้อยละ60(Hermes, Versace, Dolce & Gabana , Hugo Boss) มีปัญหาคุณภาพสินค้าด้อยกว่ามาตรฐานที่รัฐบาลจีนกำหนด เรียกว่าเล่นกันแบบเปิดหน้าชกเลยที่เดียว


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น