ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2553

จีนกับประเด็น Soft power

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                
                  เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา  สำนักข่าวซินหัวของทางการจีน ได้ฤกษ์เปิดตัวสถานีทีวีผ่านดาวเทียมภาคภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการภายใต้ชื่อ CNC World  หลังจากที่ได้ทำการทดลองออกอากาศมาเป็นระยะตั้งแต่ต้นปี ทีวีดาวเทียมช่องนี้จัดได้ว่าเป็นน้องใหม่หากจะนับเอาสถานี CCTV9 ที่นำเสนอข่าวสารภาคภาษาอังกฤษสู่ทั่วโลกมาก่อนหน้าแล้วหลายปี  แต่จุดเด่นของสถานีช่องใหม่นี้ หากฟังจากนายหลี่ ฉงจุน ประธานสำนักข่าวซินหัว อยู่ที่สามารถครอบคลุมพื้นที่ได้ถึง 130 กว่าประเทศ  อีกทั้งยังให้บริการข่าวสารทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมืองจากทั่วทุกมุมโลกด้วยเทคโนโลยีทันสมัย  ไม่เพียงแต่การแพร่สัญญาณดาวเทียมเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมบริการข่าวบนอุปกรณ์เครื่องรับเคเบิ้ล โทรศัพท์มือถือ และ อินเตอร์เน็ต  ในระยะเวลาสามปีต่อจากนี้ ทางซินหัวยังวางโครงการพัฒนาการแพร่ภาพและบริการอื่นๆ ให้สามารถครอบคลุมพื้นที่และช่องทางการสื่อสารที่กว้างไกลและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น




                 ข่าวการเปิดตัวของ CNC World แม้ได้รับการต้อนรับอย่างดีและร่วมแสดงความยินดีจากผู้คนในวงการสื่อผ่านดาวเทียม อย่าง News Corp, AP, Itar-Tass, Kyodo News Agency, BBC, CBS, CNN, NHK หรือแม้แต่ Al-Jazeera  แต่ในอีกด้านหนึ่ง จีนก็ได้ตกเป็นเป้าการวิพากษ์วิจารณ์จากบรรดานักวิเคราะห์ทั่วโลกในช่วงหลายวันที่ผ่านมา  ไม่เว้นแม้แต่นักวิเคราะห์และคอลัมนิสต์บางรายในประเทศไทย  หลักๆที่กลายเป็นประเด็น ก็คือความห่วงใยที่ว่าจีนชักจะรุกหนักมากขึ้นในเวทีสื่อโลก นักวิเคราะห์บางท่านก็ระบุลงไปเลยว่าเป็นการแผ่ขยายอิทธิพล Soft Power ในการเมืองระหว่างประเทศ


             ผมเลยขออนุญาตร่วมแจมกับเขาด้วย ว่าตามที่ปรากฏเป็นข่าว เรื่องประเทศจีนกับประเด็น Soft Power นั้น มีการกล่าวถึงมาระยะหนึ่งแล้ว  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการให้เงินช่วยเหลือการพัฒนาประเทศยากจนในแอฟริกา การส่งเสริมการเรียนภาษาจีนในประเทศต่างๆทั่วโลก หรือการส่งเสริมเผยแพร่วัฒนธรรมจีนผ่านการจัดตั้งสถาบันขงจื๊อในประเทศต่างๆ  ล้วนแล้วแต่เคยถูกมองด้วยสายตาของชาติตะวันตกแบบไม่ค่อยจะไว้ใจ ว่าเป็นการขยายอิทธิพลแบบ Soft Power
                 แนวความคิดเรื่องอิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศที่เรียกว่า Soft Power นั้น   เริ่มมีการใช้และพูดถึงกันอย่างแพร่หลาย ก็เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง  ผมเลยขออนุญาตเล่าความเป็นมาให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบว่าที่เรียกกันว่าSoft Powerนั้นหมายถึงอะไร นักวิชาการเจ้าของแนวคิดเรื่องนี้ ผมเข้าใจว่าแรกสุดน่าจะเป็น Joseph S. Nye เจ้าของงานเขียน The Means to Success in World Politics ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2004  จะว่าไปแล้วก่อนหน้านี้ในทางการเมืองระหว่างประเทศ  ก็เคยมีนักวิชาการวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ว่ามีวิเทโศบายใช้ทั้งไม้อ่อนและไม้แข็ง(sticks and carrots) แต่ Joseph ได้ขยายความและสร้างกรอบการวิเคราะห์เพิ่มเติม โดยอธิบาย Soft Power ว่าหมายถึงอำนาจประเภทที่ทำให้ชาติอื่นปฏิบัติตามความต้องการได้โดยไม่ต้องใช้กำลังคุกคาม ทรัพยากรสำคัญหรือที่มาของอำนาจละมุน(อย่างที่เริ่มมีนักรัฐศาสตร์ไทยบางท่านใช้กัน)มีที่มาสามทางด้วยกันคือ
                       1 การใช้วัฒนธรรมที่สอดคล้องกับผลประโยชน์และค่านิยมของประเทศอื่นๆ อีกทั้งการสร้างช่องทางที่ทำให้วัฒนธรรมของประเทศหนึ่งเป็นที่รู้จักในประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะผ่านสินค้าทางวัฒนธรรม การเยี่ยมเยือน การติดต่อสื่อสาร หรือการท่องเที่ยว 
              2 ค่านิยมทางการเมือง และวัฒนธรรมทางการเมือง หากมีรูปแบบที่เป็นมิตรและสอดคล้องกับค่านิยมทางการเมืองของประเทศอื่นๆ โอกาสที่จะมีอำนาจละมุนเหนือประเทศนั้นๆ ก็จะทำได้ง่ายขึ้น เช่นธรรมเนียมการไม่แทรกแซงกิจการภายในระหว่างกัน  การยอมรับนับถือในประวัติศาสตร์ของเพื่อนบ้านเป็นต้น
              3 นโยบายต่างประเทศ ที่มีความเท่าเทียม เคารพในการแสดงออกของประเทศที่เล็กกว่า ไม่ใช้อำนาจการทหารข่มขู่ อย่างนี้ก็จะช่วยให้ได้รับความเกรงอกเกรงใจมากเป็นพิเศษ
             อย่างไรก็ดี  การที่ Soft Power จะใช้ได้ผลสูงสุดนั้น  ต้องทำควบคู่ไปกับวิเทโศบาย การทูตแบบมวลชน หรือการทูตสาธารณะ (public diplomacy) อันหมายถึงการสื่อสารภาพลักษณ์ของชาติหนึ่งๆสู่ประชาชนคนธรรมดาของชาติอื่นๆ  ไม่ใช้เพียงระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาลเท่านั้น  ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เรื่องแบบนี้ทำได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะเป็นการประชาสัมพันธ์ประเทศผ่านสื่อไร้พรมแดนอย่าง ทีวีดาวเทียมหรืออินเตอร์เน็ท   นโยบายต่างประเทศที่เน้นการรณรงค์และให้ความช่วยเหลือในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของมนุษยชาติเช่นสิ่งแวดล้อม พลังงาน การศึกษา ผู้ด้อยโอกาสฯลฯ  นอกจากนี้ยังสามารถดำเนินนโยบายการทูตสาธารณะได้ด้วยการสร้างเครือข่ายบุคลากรจากชาติต่างๆ เช่นการให้ทุนการศึกษา การแลกเปลี่ยนคณะผู้แทนภาคสังคมด้านต่างๆให้ได้ไปมาหาสู่กัน จนเกิดเป็นความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างประชาชนกับประชาชน ไม่ใช้รู้จักชอบพอกันเพียงระหว่างหัวหน้ารัฐบาลสองฝ่าย


                 สิ่งที่รัฐบาลจีนได้ทำมาในช่วงยี่สามสิบปีหลังนี้  คงเข้าข่ายอย่างที่นักวิชาการได้วิเคราะห์กันไว้  ไม่เพียงแต่เฉพาะการเพิ่มทีวีดาวเทียมภาคภาษาอังกฤษช่อง CNC World  เท่านั้น  ในปัจจุบัน คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า จีนเป็นผู้ให้ทุนและเงินช่วยเหลือรายใหญ่แก่ประเทศยากจนทั้งหลายในแอฟริกา  จีนส่งออกสินค้าทางวัฒนธรรมที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆและกระจายไปทั่วโลก  มีนักเรียนต่างชาติศึกษาภาษาจีนอยู่ในประเทศต่างๆ หรือไปเรียนต่อในประเทศจีนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา  แต่ทั้งหมดนี้เราต้องไม่ลืมว่าล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่อังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส รัสเซีย เคยทำมาแล้วและยังทำอยู่  เพียงแต่ว่าในระยะหลังอำนาจเงินในประเทศที่ว่ามานี้เริ่มจะลดน้อยลง  เลยเปิดช่องทางให้จีนได้เข้าไปแสดงบทบาทเพิ่มมากขึ้น  ผมเองไม่เห็นปัญหาว่าจะต้องเดือดร้อนเอะอะวิพากษ์วิจารณ์อะไรกัน ถ้าชาติมหาอำนาจทั้งหลาย จะแข่งอิทธิพลบารมีกันด้วยการทำความดี ให้ความช่วยเหลือประเทศที่ยากจนกว่า เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมแลกเปลี่ยนถึงกันอย่างเท่าเทียม หรือเปิดช่องทางให้ประชาชนทั้งสองฝ่ายได้พบปะแลกเปลี่ยนกันโดยเสรียิ่งขึ้น ยังไงผมก็ว่าดีกว่าแข่งกันสร้างและสะสมอาวุธไว้ข่มขู่กัน เหมือนอย่างในยุคสงครามเย็น

5 ความคิดเห็น:

  1. I grow a lot of science blogs that I visit like this blog. I get the information very useful. I say thank you, because I live in a small village near the mountain. digital marketing indonesia

    ตอบลบ
  2. This is the right blog for anyone who wants to find out about this topic. i have blog too about catering surabaya

    ตอบลบ
  3. I am one of the workers in the digital marketing jakarta company. I was very pleased to find this web-site. I wanted to thanks for your time for this wonderful read.

    ตอบลบ
  4. I currently work at the company indonesia digital marketing I'd like to read this article and I agree with your opinion.

    ตอบลบ