ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2553

วิกฤตการณ์แร่ธาตุหายาก

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


            ผมเคยเรียนท่านผู้อ่านตั้งแต่เริ่มต้นว่าบทความที่ผมรับผิดชอบอยู่นี้ เป็นข่าวแห้งไม่ได้เป็นข่าวสดแบบวันต่อวัน  แต่การที่จะเขียนบทความโดยไม่สนใจประเด็นข่าวที่กำลังเกิดหรือกำลังอุบัติขึ้น ก็ดูจะเกินไป ทำใจลำบากมาก  มีข่าวสารน่าสนใจในประเทศจีนเกิดขึ้นติดต่อกันเยอะแยะมากมายเป็นพิเศษ ผมต้องตัดใจเปลี่ยนบทความที่จะนำเสนอท่านผู้อ่านถึงสามรอบ  แรกสุดเมื่อวันอาทิตย์ตั้งใจจะเขียนเล่าพิธีปิดงานWorld Expo ที่เซี่ยงไฮ้ ซึ่งจัดได้ดีและมีข้อมูลสรุปงานที่น่าสนใจมากมายที่ผมคิดว่าเราชาวไทยควรจะได้รู้ไว้  แต่ในขณะที่กำลังเริ่มเขียน ก็ดันพลาดท่าเสียทีไปเปิดทีวีดาวเทียมช่อง4ของจีนดู เขากำลังแถลงข่าวงานประชุมอาเซียนบวก3 โดยมีจีนเป็นคู่เจรจาเด่น เกิดเปลี่ยนใจอยากจะมาเขียนเรื่องงานประชุมระหว่างอาเซียนกับจีน แต่แล้วอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา ก็มีข่าวใหญ่ การพบปะกันระหว่างผู้นำจีนและท่านรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา คุณนาย คลินตัน ประกอบกับข่าวปฏิเสธเรื่องฐานทัพเรือดำน้ำขนาดใหญ่ของจีนที่เกาะไหหลำ ทำเอาผมเสียสมาธิไปหมด
                 กว่าผมจะตั้งตัวตัดสินใจเลือกประเด็นที่จะนำเสนอในสัปดาห์นี้ได ก็ล่วงเข้ามาเป็นเช้าวันอังคาร ใกล้เวลาจะถูโรงพิมพ์เช็คบิลเต็มทีแล้ว  ที่ผมเลือกนำเสนอข่าวประเด็นวิกฤตการณ์แร่ธาตุหายากของโลก ก็เพราะไปสะดุดตาเข้ากับรายละเอียดของเนื้อข่าวที่ทางการจีนนำเสนอทางทีวีระหว่างการพบปะกันของผู้นำสองฝ่าย  มีช่วงหนึ่งในรายงานกล่าวกล่าวว่าผู้นำจีนรับปากกับรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกาว่าจีนจะไม่ตัดหรือสั่งห้ามการส่งออก แร่ธาตุหายากของโลก(Rare Earth Elements) อย่างกะทันหันตามที่ปรากฏเป็นข่าว  ผมเองเป็นคนรู้น้อย พอเห็นคำว่าแร่ธาตุหายากของโลกก็งง ยิ่งฟังเป็นภาษาจีนก็ยิ่งงงใหญ่  ด้วยความสงสัยค้างคาใจ ก็เลยต้องรีบค้นหาความหมายด้วยการปรึกษากับอาจารย์ไป่ตู้ หรืออาจารย์ google ฉบับของจีนนั้นเอง
                 ผลการค้นคว้าเพิ่มเติมเลยทำให้ทราบว่า ประเด็นแร่ธาตุหายากของโลกเป็นเรื่องใหญ่เอามากๆ และเกี่ยวข้องเป็นห่วงเป็นใยกันไปทั้งโลก  โดยเฉพาะบรรดาประเทศยักษ์ใหญ่ผู้นำทางอุตสาหกรรมไฮเท็คทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือญี่ปุ่น  สาเหตุที่เป็นเรื่องใหญ่ในระดับวิกฤตการณ์ของโลก ก็คงด้วยปัจจัยสองประการหลัก  ประการที่หนึ่งแร่ธาตุหายากเหล่านี้ (อย่างที่ชื่อมันก็บอกอยู่แล้ว) มีบทบาทเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นหัวใจหรือตัวชี้ขาดการพัฒนาเท็คโนโลยีสารพัดรูปแบบ ทั้งทางการทหาร อวกาศ และเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงานทั้งหลาย ประการที่สอง นับแต่ปีคศ.1957เป็นต้นมา สัดส่วนการทำเหมือง แปรรูป และส่งออกสินแร่มีค่าหายากเหล่านี้ เทียบระหว่างแหล่งแร่ต่างๆทั่วโลกแล้ว ปรากฏว่าจีนค่อยๆขยับขึ้นมาจนเกือบจะเป็นผู้ผูกขาดการส่งออก เฉพาะอย่างยิ่งกรณีของญี่ปุ่น ที่ต้องพึ่งพาแร่ธาตุหายากเหล่านี้ เกือบทั้งหมดจากประเทศจีน  เรื่องมาเกิดเป็นประเด็นเดือดร้อนกันไปทั่วโลกอุตสาหกรรมไฮเท็ค ก็เมื่อมีกรณีพิพาททางทะเลระหว่างจีนกับญี่ปุ่นเมื่อเดือนกันยายน โดยฝ่ายญี่ปุ่นได้จับเรือของจีนในข้อหาละเมิดน่านน้ำ  ฝ่ายจีนประท้วงกันเกือบทั่วประเทศ  และก็มีข่าวกรองในวงการทูตว่าจีนได้สั่งยุติการส่งออกสินแร่หายากทุกรูปแบบไปยังประเทศญี่ปุ่น  หนักไปกว่านั้น รัฐบาลจีนได้สั่งให้ทุกหน่วยงานทำการศึกษาวิเคราะห์ผลทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในระยะยาว เพื่อเตรียมการประการยุติการส่งออกสินแร่หายากในทุกรูปแบบอย่างสิ้นเชิงในปี2012 อันเป็นที่มาของความห่วงใยตกอกตกใจกันในระดับนานาชาติ  เพราะถ้าจีนทำเช่นนั้นจริง ทั่วโลกจะเกิดการขาดแคลนครั้งใหญ่ และนำไปสู่ความชะงักงันในหลายเรื่อง ที่สหรัฐอเมริกาห่วงใยก็น่าจะเป็นปัญหาการพัฒนาเท็คโนโลยีอวกาศและการทหารชั้นสูง ที่ต้องโดยกระทบแน่ๆ ฝ่ายสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นก็จะถูกผลกระทบเรื่องเท็คโนโลยีคอมพิวเตอร์ พลังงาน จอภาพไฮเท็ค ที่ใช้กับอุปกรณ์สื่อสารสมัยใหญ่ทั้ง I Phone, I Pad โดนกันไปหมด


                 แร่ธาตุหายากที่ว่านี้ มีด้วยกันทั้งหมดประมาณ17 ตัวสำคัญๆที่ใช้กันในทางอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น
Dysprosium - ใช้ในการผลิตแม่เหล็กไฟฟ้าทางอุตสาหกรรมที่มีน้ำหนักลดลงกว่าร้อยละ90
Terbium – ช่วยเพิ่มความสว่างให้กับหลอดไฟได้ถึงร้อยละ80
Neodymium – ใช้สร้างตัวแม่เหล็กเหนี่ยวนำการหมุนของมอเตอร์ไฟฟ้าสมัยใหม่
Lanthanum - ใช้ควบคุมการเก็บกักก๊าซไฮโดรเจน
Praseodymium – ใช้ในอุตสาหกรรมเลเซอร์ และเซรามกอุตสาหกรรมที่ทนความร้อนสูง
Gadolinium - ใช้ทำหน่วยความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์
Erbium - ใช้ผสมทำโลหะคุณสมบัติพิเศษรูปแบบต่างๆที่มีน้ำหนักเบาแต่แข็งแรง
Ytterbium – ใช้ในอุปกรณ์สร้างเลเซอร์อินฟาเรดความเข้มสูง


                 แน่นอนว่าประเทศจีนไม่ได้เป็นแหล่งผลิตเพียงแหล่งเดียวในโลก หากดูจากแผนผังที่ผมนำมาให้ดูก็จะเห็นว่าสหรัฐอเมริกาเองก็ผลิตได้มากอยู่ แร่ธาตุบางตัวก็มีมากในแหล่งอื่นๆด้วยซ้ำ แต่ที่ผ่านมาสหรัฐฯไม่ค่อยจะส่งออกแร่ธาตุหายากเหล่านี้ เพราะลำพังใช้เองก็ไม่พอแล้ว ต้องอาศัยนำเข้าจากจีน  ส่วนแหล่งผลิตอื่นๆ ก็ทำได้จำกัด หากจะเพิ่มแหล่งผลิตใหม่นอกประเทศจีน ต้องใช้เงินมหาสารและอย่างน้อยต้องพัฒนาเหมืองอีก5-10ปี กว่าจะสามารถนำสินแร่หายากเหล่านั้นออกมาใช้ในเชิงอุตสาหกรรมได้ ในเวลานี้และวินาทีนี้ จึงดูเหมือนว่าจีนเป็นผู้กำหนดชะตากรรม และเป็นฝ่ายได้เปรียบในกระบวนการเจรจาต่อรองเพื่อคลี่คลายวิกฤตการณ์ของอุตสาหกรรมไฮเท็คทั้งหลายของโลก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น