ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันพุธที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2556

อภิชาตบุตร

รองศาสตราจารย์ พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



ในท่ามกลางข่าวใหญ่ข่าวดังของประเทศจีน ตลอดช่วงกว่าสัปดาห์มานี้ เห็นท่าคงไม่พ้นเรื่องการประชุมสองสภาฯของจีน และการเปลี่ยนถ่ายอำนาจสู่ผู้นำใหม่รุ่นที่ห้าอย่างเต็มรูปแบบ จับจองหน้าสื่อทั้งทีวี หนังสือพิมพ์ นิตยสารครบหมดทุกประเภท ท่านผู้อ่านที่รักซึ่งได้ติดตามข่าวสารต่างประเทศ ผมเข้าใจว่าคงเบื่อข่าวนี้เต็มทีแล้ว ผมเองก็เบื่อเช่นกันครับ เพราะเล่าไปสองรอบแล้วเป็นอย่างน้อย สัปดาห์นี้เลยต้องเสาะหาข่าวจากสื่อกระแสรองมานำเสนอแทนครับ ที่จั่วหัวคอลัมน์ไว้ข้างต้นนั้น เรียนว่าเป็นอารมณ์ประชดส่อเสียดตามแบบฉบับชาวเน็ตในประเทศจีน ผมก็พยายามถ่ายทอดบรรยากาศให้ได้ใกล้เคียง ฉะนั้นที่กำลังจะเล่าสู่กันต่อไปนี้ จึงเป็นเรื่องความทุกข์ความเดือดร้อนของพ่อแม่ชาวจีนหลายคู่ในเวลานี้ อันมีเหตุมาจากพฤติการณ์ของลูกๆ ในด้านหนึ่งก็อาจดูเป็นเรื่องธรรมดาเกิดขึ้นทุกที่ในโลกนี้ แต่เพราะอำนาจ ตำแหน่ง ชื่อเสียงของพ่อแม่ ข่าวความฉาวโฉ่ของบรรดาลูกหลานคนใหญ่คนโต ก็มักถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักสาหัสกว่าลูกชาวบ้านทั่วไป ยิ่งในเวลาที่พ่อหรือแม่กำลังนั่งประชุมกันอยู่ในสภาใดสภาหนึ่งอย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ก็เลยยิ่ง งานเข้า

ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วต่อเนื่องมาถึงเดือนก่อน จะโดยบังเอิญหรือเป็นเรื่องปรกติประจำอยู่แล้วก็ไม่ทราบ ดูจะปรากฏข่าวเกี่ยวกับพฤติการณ์ออกไปในทางเสียหาย ของบรรดาลูกหลานคนใหญ่คนโตในประเทศจีนมากมายหลายกรณี ทุกครั้งพอเกิดเหตุ แม้สื่อกระแสหลักอาจไม่ได้รายงานข่าวกันมากอย่างที่ควรจะเป็น แต่ในโลกอินเตอร์เน็ตหรือสังคมออนไลน์จีน เรื่องแบบนี้จะกระจายได้รวดเร็วเหมือนไฟลามทุ่ง นอกจากจะด่าทอว่ากล่าวกันอย่างรุนแรงแล้ว ก็มักวนกลับไปรื้อฟื้นเทียบเคียงกับข่าวฉาวอื่นๆก่อนหน้าด้วยเสมอๆ ในช่วงเวลานี้ก็เช่นกัน มีข่าวเกี่ยวกับลูกชายหัวแก้วหัวแหวนวัย16ปีของนายทหารใหญ่จีนท่านหนึ่ง ที่ได้ดีเพราะเป็นนักร้องปลุกใจชาตินิยมของพรรคฯที่โด่งดังมาก เชื่อกันว่าลูกชายคนดังกล่าวกับพวกอีก5คน ทุบตีทำร้ายร่างการผู้อื่นจนบาดเจ็บสาหัส ถูกตำรวจจับไปเพียงแค่15นาทีก็ได้รับการปล่อยตัว โดยชาวเน็ตของจีนมองว่าเรื่องนี้ต้องมีอิทธิพลของพ่อเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน นอกจากวิพากษ์วิจารณ์กันใหญ่โตแล้ว ใครมีข้อมูลอะไร ต่างก็ขุดคุ้ยเอามาแชร์กันในโซเชียลมีเดียจีน เดือดร้อนจนแม้หนังสือพิมพ์ที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐคือ หนังสือพิมพ์เหรินหมิน อยู่เฉยไม่ได้ ต้องออกมาเสนอข่าวย้อนหลังในโทนเสียงแบบกลางๆ

หากจะวิเคราะห์กันให้จริงจังแล้ว ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่รักก็คงพอจินตนาการได้ ว่าแท้จริงแล้วชาวเน็ตของจีนอาจไม่ได้ชิงชังกับเด็กลูกเศรษฐีหรือคนใหญ่คนโตคนใดเป็นการเฉพาะตัว แต่ปรากฏการณ์ข้างต้นนี้สะท้อนปัญหาที่ใหญ่กว่ามาก นั่นคือความแตกต่างทางชนชั้นและความไม่เท่าเทียมทางสังคม ที่นับวันจะยิ่งมีเพิ่มมากขึ้นในประเทศจีน ความไม่เท่าเทียมเหล่านี้ ในรุ่นพ่อแม่ที่ใช้ความได้เปรียบในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์ใส่ตัว มักจะไม่แสดงออกหรืออวดมั่งมีอวดเบ่งให้ปรากฏมากนัก แต่ภาพความไม่เท่าเทียมและความอยุติธรรมมาปรากฏชัดเจนต่อสายตาสาธารณชนมากยิ่งขึ้น ก็ในยุครุ่นลูกหรือบรรดาอภิชาตบุตรทั้งหลาย ผ่านรสนิยมและวิถีชีวิตที่ฟุ้งเฟ้ออวดเบ่ง ฟังดูเหมือนลูกหลานคนใหญ่คนโตในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายไม่ผิดเพี้ยน

ในศัพท์แสงของชาวบ้านร้านตลาดทั่วไป บรรดาอภิชาตบุตรกลุ่มนี้ มีคำเรียกขานในวงการซุบซิบนินทาที่จำแนกแยกแยะประเภทอยู่หลายคำเช่น ฟู้เอ้อร์ไต่(รวยรุ่นที่สอง) กวนเอ้อร์ไต่(ลูกหลานข้าราชการระดับสูง) ซิงเอ้อร์ไต่(ลูกหลานเซเลบริตี้) หงเอ้อร์ไต่(ลูกหลานผู้ใหญ่ในพรรคฯ) เคิงเตีย(ลูกล้างผลาญชื่อเสียงพ่อแม่) แต่ละคำก็ให้อารมณ์และอคติหนักเบาที่แตกต่างกัน จะถูกวิจารณ์มากหรือน้อย ก็ต้องประกอบเข้ากับพฤติการณ์เจ้าตัว ว่าสร้างความเดือดร้อนหรือความน่าหมั่นไส้แก่สาธารณชนมากหรือน้อยแค่ไหน หลายคนเป็นลูกหลานผู้ใหญ่ในพรรค แต่ทำตัวรวยแบบเงียบๆ แม้มีคนทราบเบื้องหลังแต่ก็ไม่ถูกโจมตีมากนัก ผิดกับบางคนที่พ่อแม่ทำมาหากินเหนื่อยยากด้วยน้ำพักน้ำแรง ไม่ได้อาศัยตำแหน่งหน้าที่ แต่ลูกหลานใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อ อวดร่ำอวดรวย ควงดาราสาวเป็นพวง แบบนี้ก็อาจโดนหนัก ทั้งที่พ่อแม่เป็นคนดีทำมาหากิน

           กรณีที่กำลังตกเป็นขี้ปากถูกรุมบริภาษอยู่อย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดียของจีนนอกจากนาย หลี่ เทียนอี้ บุตรชายวัย16ของนายทหารนักร้องดัง หลี่ ซวงเจี่ยง ที่ร่วมกับพวกไปทำร้ายร่างการกลุ่มวัยรุ่น ก็ยังมีนาย หลี่ ฉีหมิน บุตรชายวัย22ปีของนายหลี่ กัง รองผู้บังคับการตำรวจเขตเป่าติ้ง มณฑลเหอเป่ย ที่เมาสุราขับรถชนนักศึกษาสาวตายหนึ่งบาดเจ็บสาหัสอีกหนึ่งเมื่อปลายปี2010 พอตำรวจจราจรเข้าไปจับ คนขับรถก็ร้องตะโกนว่า “พ่อข้าคือ หลี่กัง” ตำรวจเลยต้องถอยไปตั้งหลักอยู่นานกว่าจะตัดสินใจดำเนินคดีในเวลาต่อมาเพราะทนเสียงวิจารณ์ของสังคมไม่ได้ แม้ภายหลังทั้งพ่อลูกจะออกมาขอโทษผ่านสื่อทีวี แต่วลี “พ่อข้าคือ หลี่กัง” ก็ได้กลายเป็นวลีฮิตติดปากชาวบ้านทั้งในและนอกมณฑลเหอเป่ยไปเรียบร้อย อีกทั้งยังมีมือดีใจกล้าทำอนุสรณ์รถชนคนตายติดป้าย “พ่อข้าคือ หลี่ กัง”ให้อีกต่างหาก อีกรายที่ดังเป็นข่าวนินทาในเว็บฯพอๆกัน คือสาวทอมสุดหล่อ จาง เจียเล่อบุตรีนักธุรกิจพันล้านด้านประกันภัยและเครื่องใช้ไฟฟ้า เสียงวิจารณ์หลักๆสืบเนื่องมาจากการใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อสุดหรู มีเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวใช้ตั้งแต่อายุ15ปี ด้วยความที่เป็นลูกคนเดียวและเป็นทายาทสืบทอดธุรกิจหลายพันล้านหยวน มีสาวๆแวดล้อมคราวละเกือบสิบคนในทุกงานสังคม

ในขณะที่ประเทศจีนกำลังเปลี่ยนผ่านถ่ายโอนอำนาจในระดับบน ชาวบ้านที่ดิ้นรนต่อสู่หาเลี้ยงชีพกำลังขมขื่นกับความอยุติธรรมและช่องว่างทางเศรษฐกิจ-สังคม-การเมือง ที่นับวันจะยิ่งขยายถ่างมากขึ้น กระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดียของจีนอาจเป็นเพียงยอดบนของภูเขาน้ำแข็ง ซุกซ่อนความชิงชังและคลั่งแค้นอยู่ภายใต้ ความเชื่อมั่นและไว้วางใจต่อระบบ ต่อผู้นำ ต่อพรรคฯ และต่อรัฐบาล ลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว และดูเหมือนส่วนสำคัญอาจเป็นด้วยฝีมือของบรรดาอภิชาตบุตรชนชั้นสูงเหล่านี้ ดูไปดูมาสังคมจีนชักจะคล้ายบ้านเรามากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ  เพราะดูเหมือนในเฟสบุ๊คบ้านเรา ก็มีเสียงวิจารณ์ทำนองนี้มากอยู่เช่นกัน

วันศุกร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2556

ปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจีน?

รองศาสตราจารย์ พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จนบัดนี้ ต้องเรียนท่านผู้อ่านที่รักว่า หน้าสื่อต่างๆของจีน ยังไม่ได้กลับเข้าสู่โหมดปรกติเท่าใดนัก ควันหลงเทศกาลตรุษจีนยังคงยึดครองหน้าสื่อหลักๆอยู่โดยถ้วนทั่ว ปีนี้ผมมีข้อสังเกตว่าอารมย์เฉลิมฉลองเทศกาลดูจะยาวมากเป็นพิเศษ พลอยทำให้ข่าวสารอื่นๆดูลดน้อยไปกว่าที่ควรจะเป็น อันนี้ก็บ่นในฐานะที่ต้องติดตามแสวงหาเรื่องราวมานำเสนอ แต่หากหันไปดูสื่อตะวันตกในช่วงนี้ กลับพบว่ามีข่าวสารเกี่ยวกับประเทศจีนที่น่าสนใจอยู่หลายเรื่อง ที่ดังมากเป็นพิเศษปรากฏอยู่ในสำนักข่าวหลายแห่งของชาติตะวันตก คงหนีไม่พ้นรายงานการศึกษความเป็นไปได้ของข้อหาที่ว่า รัฐบาลจีนอาจอยู่เบื้องหลังสนับสนุนให้มีการแฮกข้อมูลผ่านเครือข่าย ล้วงเอาความลับของบริษัทเอกชนตะวันตกจำนวนนับร้อยราย เชื่อว่าข่าวนี้คงกลายเป็นประเด็นวิวาทะกันได้อีกยาว อย่างไรก็ดี เรื่องที่ผมเห็นว่าน่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งนั้น ไม่เกี่ยวกับแฮกเกอร์จีน แต่เป็นเรื่องรายงานการศึกษาของนักวิชาการจากธนาคารโลก เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจีน หากจริงก็จัดว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก จะขอนำมาเสนอเป็นประเด็นในสัปดาห์นี้ครับ

รายงานการศึกษาที่ว่านี้ เป็นของนาย Ejaz Ghani นักวิชาการเศรษฐศาสตร์จากธนาคารโลก ว่าที่จริงเปิดเผยออกมาตั้งแต่เมื่อปลายเดือนมกราคมแล้ว แต่เพิ่งจะมาเป็นข่าวพูดถึงกันมากในสื่อหลักๆของตะวันตก เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง งานศึกษาชิ้นดังกล่าวเป็นการเปรียบเทียบแนวโน้มพัฒนาการทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับอินเดีย แต่ที่ผมสนใจนั้นจะเป็นส่วนการวิเคราะห์ของนาย Ejaz Ghani เกี่ยวกับข้อมูลตัวเลขที่ชี้ว่า กำลังมีแนวโน้มการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจีน จากประเทศอุตสาหกรรมไปสู่การเป็นประเทศหลังอุตสาหกรรม ที่เรียกกันว่าประเทศหลังอุตสาหกรรมนั้น หมายความว่า สัดส่วนมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจเกินกว่าครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวม ต้องมาจากภาคบริการหรืออุตสาหกรรมสร้างสรรค์รูปแบบอื่นๆ

เราทราบกันดีว่าในปีที่ผ่านมา การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนนั้น อาศัยพลังมหาศาลจากภาคการผลิตอุตสาหกรรม การก่อสร้าง เหมืองแร่ฯลฯ รวมกว่าร้อยละ47ของGDPจีน ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ในปี2012กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มาจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมนั้น มีมูลค่าเพียงร้อยละ20ของGDPเท่านั้น ที่เหลือมาจากภาคอื่นๆโดยมีธุรกิจบริการเป็นตัวชูโรง เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศในยุโรป อย่างไรก็ดี จากการศึกษาของ Ejaz Ghani ในปี2012ตัวเลขมูลค่าทางเศรษฐกิจของจีนที่มาจากภาคบริการ ได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจมาเป็นร้อยละ45.3ของ GDP ตัวเลขห่างจากร้อยละ47ในภาคอุตสาหกรรมไม่มาก แน่นอนว่าภาคบริการของจีนยังคงเทียบไม่ได้กับประเทศหลังอุตสาหกรรมอื่นๆในตะวันตก แต่ก็ต้องถือว่าเป็น สัญญาณปรับเปลี่ยนที่น่าสนใจ

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสัดส่วนGDPข้างต้นนี้ อาจมองได้ว่าเป็นผลโดยตรงจากการปรับตัวครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมจีน ภายหลังที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในตะวันตก มูลค่าการส่งออกที่ลดลงของจีน ทำให้ต้องดิ้นรนปรับเปลี่ยนเพื่อกระตุ้นและสร้างการบริโภคภายในรูปแบบใหม่ๆมาทดแทน และอาจเป็นที่มาของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคบริการที่เพิ่มขึ้น เพราะภาคบริการเป็นช่องทางที่ได้ผลดีและเร็วในการดูดซับแรงงานจากภาคอุตสาหกรรมที่ต้องลดปริมาณการผลิตและเลิกจ้างคนงาน ว่าที่จริงแนวโน้มนี้ก็สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาล ที่อยากเห็นประเทศจีนปรับเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์และธุรกิจภาคบริการเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลจีนได้กำหนดวิสัยทัศน์ในทำนองนี้มาตั้งแต่ในคราวยกร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่10(2001-2005) และก็ยังคงปรากฏเป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่11และ12ของจีน

อย่างไรก็ดี ประเด็นเรื่องนี้ก็ใช่ว่าจะมีคนเห็นด้วยไปเสียทั้งหมด ปัญหาประการหนึ่งที่นักวิชาการสายจีนส่วนใหญ่ยังไม่สู่แน่ใจเกี่ยวกับรายงานและบทวิเคราะห์ของ Ghani ทำนองฟังหูไว้หู อาจเพราะยังติดใจกับประเด็นเรื่องตัวเลขที่ Ghani รวบรวมมาจากสถิติของทางการจีน การแจงนับว่าอะไรเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และบริการ ตามนิยามที่ใช้กันอยู่ในประเทศจีนนั้น อาจไม่ได้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับนิยามของสากลทั่วไป ตัวอย่างเช่นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าการเกษตรบางชนิด จะนับว่าเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ได้หรือไม่ หรือปัญหาว่าควรแยกผลงานสร้างสรรค์นวนิยายออกจากอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ จะคิดสัดส่วนอย่างไร รายได้ในอุตสาหกรรมโฆษณา ควรถือเป็นเอกเทศ หรือเป็นค่าใช้จ่ายที่นับเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนสินค้าอุตสาหกรรม ในกรณีของจีน ดูเหมือนมีความพยายามที่จะนิยามและแจงนับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ชัดเจน คาบลูกคาบดอกทั้งหมดว่าเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ทำนองเดียวกับการนับธุรกิจร้านขายใบชาที่ให้บริการชงชาพร้อมดืม(ต่างจากโรงน้ำชาแบบโบราณของจีน) หรือร้านยาสมุนไพรจีนที่ให้บริการวินิจฉัยโรคก่อนจัดยาชุดให้ ว่าเป็นธุรกิจภาคบริการ

ไม่ว่าสัดส่วนที่แท้จริงของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และภาคบริการของจีน จะเป็นตัวเลขร้อยละเท่าใดของGDPก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่เรามั่นใจและเชื่อได้ก็คือ จีนมุ่งหน้ามาทางนี้แน่ๆ และในเวลาเดียวกัน จีนก็จะพยายามผลักดันฐานการผลิตอุตสาหกรรมหนักที่ก่อมลพิษออกนอกประเทศ เพื่อเป็นการปรับสมดุลย์ในอีกรูปแบบหนึ่ง