ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันศุกร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2556

ปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจีน?

รองศาสตราจารย์ พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จนบัดนี้ ต้องเรียนท่านผู้อ่านที่รักว่า หน้าสื่อต่างๆของจีน ยังไม่ได้กลับเข้าสู่โหมดปรกติเท่าใดนัก ควันหลงเทศกาลตรุษจีนยังคงยึดครองหน้าสื่อหลักๆอยู่โดยถ้วนทั่ว ปีนี้ผมมีข้อสังเกตว่าอารมย์เฉลิมฉลองเทศกาลดูจะยาวมากเป็นพิเศษ พลอยทำให้ข่าวสารอื่นๆดูลดน้อยไปกว่าที่ควรจะเป็น อันนี้ก็บ่นในฐานะที่ต้องติดตามแสวงหาเรื่องราวมานำเสนอ แต่หากหันไปดูสื่อตะวันตกในช่วงนี้ กลับพบว่ามีข่าวสารเกี่ยวกับประเทศจีนที่น่าสนใจอยู่หลายเรื่อง ที่ดังมากเป็นพิเศษปรากฏอยู่ในสำนักข่าวหลายแห่งของชาติตะวันตก คงหนีไม่พ้นรายงานการศึกษความเป็นไปได้ของข้อหาที่ว่า รัฐบาลจีนอาจอยู่เบื้องหลังสนับสนุนให้มีการแฮกข้อมูลผ่านเครือข่าย ล้วงเอาความลับของบริษัทเอกชนตะวันตกจำนวนนับร้อยราย เชื่อว่าข่าวนี้คงกลายเป็นประเด็นวิวาทะกันได้อีกยาว อย่างไรก็ดี เรื่องที่ผมเห็นว่าน่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งนั้น ไม่เกี่ยวกับแฮกเกอร์จีน แต่เป็นเรื่องรายงานการศึกษาของนักวิชาการจากธนาคารโลก เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจีน หากจริงก็จัดว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก จะขอนำมาเสนอเป็นประเด็นในสัปดาห์นี้ครับ

รายงานการศึกษาที่ว่านี้ เป็นของนาย Ejaz Ghani นักวิชาการเศรษฐศาสตร์จากธนาคารโลก ว่าที่จริงเปิดเผยออกมาตั้งแต่เมื่อปลายเดือนมกราคมแล้ว แต่เพิ่งจะมาเป็นข่าวพูดถึงกันมากในสื่อหลักๆของตะวันตก เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง งานศึกษาชิ้นดังกล่าวเป็นการเปรียบเทียบแนวโน้มพัฒนาการทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับอินเดีย แต่ที่ผมสนใจนั้นจะเป็นส่วนการวิเคราะห์ของนาย Ejaz Ghani เกี่ยวกับข้อมูลตัวเลขที่ชี้ว่า กำลังมีแนวโน้มการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจีน จากประเทศอุตสาหกรรมไปสู่การเป็นประเทศหลังอุตสาหกรรม ที่เรียกกันว่าประเทศหลังอุตสาหกรรมนั้น หมายความว่า สัดส่วนมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจเกินกว่าครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวม ต้องมาจากภาคบริการหรืออุตสาหกรรมสร้างสรรค์รูปแบบอื่นๆ

เราทราบกันดีว่าในปีที่ผ่านมา การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนนั้น อาศัยพลังมหาศาลจากภาคการผลิตอุตสาหกรรม การก่อสร้าง เหมืองแร่ฯลฯ รวมกว่าร้อยละ47ของGDPจีน ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ในปี2012กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มาจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมนั้น มีมูลค่าเพียงร้อยละ20ของGDPเท่านั้น ที่เหลือมาจากภาคอื่นๆโดยมีธุรกิจบริการเป็นตัวชูโรง เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศในยุโรป อย่างไรก็ดี จากการศึกษาของ Ejaz Ghani ในปี2012ตัวเลขมูลค่าทางเศรษฐกิจของจีนที่มาจากภาคบริการ ได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจมาเป็นร้อยละ45.3ของ GDP ตัวเลขห่างจากร้อยละ47ในภาคอุตสาหกรรมไม่มาก แน่นอนว่าภาคบริการของจีนยังคงเทียบไม่ได้กับประเทศหลังอุตสาหกรรมอื่นๆในตะวันตก แต่ก็ต้องถือว่าเป็น สัญญาณปรับเปลี่ยนที่น่าสนใจ

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสัดส่วนGDPข้างต้นนี้ อาจมองได้ว่าเป็นผลโดยตรงจากการปรับตัวครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมจีน ภายหลังที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในตะวันตก มูลค่าการส่งออกที่ลดลงของจีน ทำให้ต้องดิ้นรนปรับเปลี่ยนเพื่อกระตุ้นและสร้างการบริโภคภายในรูปแบบใหม่ๆมาทดแทน และอาจเป็นที่มาของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคบริการที่เพิ่มขึ้น เพราะภาคบริการเป็นช่องทางที่ได้ผลดีและเร็วในการดูดซับแรงงานจากภาคอุตสาหกรรมที่ต้องลดปริมาณการผลิตและเลิกจ้างคนงาน ว่าที่จริงแนวโน้มนี้ก็สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาล ที่อยากเห็นประเทศจีนปรับเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์และธุรกิจภาคบริการเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลจีนได้กำหนดวิสัยทัศน์ในทำนองนี้มาตั้งแต่ในคราวยกร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่10(2001-2005) และก็ยังคงปรากฏเป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่11และ12ของจีน

อย่างไรก็ดี ประเด็นเรื่องนี้ก็ใช่ว่าจะมีคนเห็นด้วยไปเสียทั้งหมด ปัญหาประการหนึ่งที่นักวิชาการสายจีนส่วนใหญ่ยังไม่สู่แน่ใจเกี่ยวกับรายงานและบทวิเคราะห์ของ Ghani ทำนองฟังหูไว้หู อาจเพราะยังติดใจกับประเด็นเรื่องตัวเลขที่ Ghani รวบรวมมาจากสถิติของทางการจีน การแจงนับว่าอะไรเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และบริการ ตามนิยามที่ใช้กันอยู่ในประเทศจีนนั้น อาจไม่ได้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับนิยามของสากลทั่วไป ตัวอย่างเช่นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าการเกษตรบางชนิด จะนับว่าเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ได้หรือไม่ หรือปัญหาว่าควรแยกผลงานสร้างสรรค์นวนิยายออกจากอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ จะคิดสัดส่วนอย่างไร รายได้ในอุตสาหกรรมโฆษณา ควรถือเป็นเอกเทศ หรือเป็นค่าใช้จ่ายที่นับเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนสินค้าอุตสาหกรรม ในกรณีของจีน ดูเหมือนมีความพยายามที่จะนิยามและแจงนับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ชัดเจน คาบลูกคาบดอกทั้งหมดว่าเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ทำนองเดียวกับการนับธุรกิจร้านขายใบชาที่ให้บริการชงชาพร้อมดืม(ต่างจากโรงน้ำชาแบบโบราณของจีน) หรือร้านยาสมุนไพรจีนที่ให้บริการวินิจฉัยโรคก่อนจัดยาชุดให้ ว่าเป็นธุรกิจภาคบริการ

ไม่ว่าสัดส่วนที่แท้จริงของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และภาคบริการของจีน จะเป็นตัวเลขร้อยละเท่าใดของGDPก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่เรามั่นใจและเชื่อได้ก็คือ จีนมุ่งหน้ามาทางนี้แน่ๆ และในเวลาเดียวกัน จีนก็จะพยายามผลักดันฐานการผลิตอุตสาหกรรมหนักที่ก่อมลพิษออกนอกประเทศ เพื่อเป็นการปรับสมดุลย์ในอีกรูปแบบหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น