ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ข้อมูลประชากรจีน

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



                     เมื่อปีกลายผมจำได้ว่าเคยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับโครงสร้างประชากรของประเทศจีนไปแล้วครั้งหนึ่ง และเมื่อเร็วๆ นี้ก็ได้เคยชวนท่านผู้อ่านที่รักคุยเรื่องปัญหาทั้งผู้สูงอายุ ปัญหาสัดส่วนที่ไม่สมดุลย์ระหว่างประชากรหญิง-ชาย และอื่นๆ ที่เป็นประเด็นเกี่ยวข้องกับโครงสร้างประชากรของประเทศจีน รวมทั้งข่าวการจัดทำการสำรวจสำมะโนประชากรจีนเมื่อช่วงรอยต่อปี 2010-2011 มาบัดนี้ ทางสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน ได้เริ่มทะยอยเปิดเผยผลการวิเคราะห์สถิติตัวเลขที่ได้จากการทำการสำรวจสำมะโนประชากรทั้งประเทศครั้งที่ 6 ผมก็เลยคิดว่าน่าจะนำมาอัปเดทข้อมูลให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบกันไว้
                             ผลจากการสำรวจล่าสุด ปัจจุบันจีนมีประชากร1.37พันล้านคน หากดูอัตราการเพิ่มของประชากรในรอบ10ปี จากปี2000-2010 เพิ่มขึ้นร้อยละ5.84 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงร้อยละ0.57ต่อปี เรียกว่าประสบความสำเร็จในการคุมกำเนิดอย่างมาก ประชากรในเขตเมืองเติบโตเพิ่มขึ้นจากสิบปีที่แล้วในอัตราร้อยละ13.6 ทำให้ในปัจจุบันสัดส่วนชาวจีนที่อาศัยในเขตเมืองมีมากถึงร้อยละ49.7ของประชากรทั้งหมด เป็นอัตราการขยามตัวของเขตเมืองที่ถือว่าโตเร็วมาก โดยเฉพาะในบริเวณชายฝั่งตะวันออก ที่ยังเติบโตไม่หยุด จากการอพยพย้ายถิ่นชองผู้คนจากส่วนอื่นๆของประเทศ เฉพาะสถิติของปี 2010 มีแรงงานอพยพที่อาศัยและทำงานอยู่นอกบ้านเกิดต่อเนื่องเกินกว่า 6 เดือน มากถึง 261 ล้านคน เพิ่มเป็นเท่าตัวหากเทียบกับข้อมูลในปี 2000
              ในด้านคุณภาพชีวิตและประเด็นทางสังคม  สัดส่วนผู้สูงอายุทั่วประเทศตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 13.26 เพิ่มมากกว่าเมื่อสิบปีที่แล้วร้อยละ 2.93 ในขณะเดียวกัน การเลื่อนชั้นทางสังคม การศึกษาพัฒนาเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น จำนวนผู้ผ่านการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย เพิ่มจากร้อยละ 3.6 ในปี 2000 เป็นร้อยละ 8.9 ในปี 2010 ซึ่งถือว่าสูงมาก จำนวนประชากรที่ไม่ได้รับการศึกษาในระบบโรงเรียนลดลงเหลือร้อยละ 4.06
                              ข้อมูลตัวเลขประชากรจากการสำรวจใหญ่ปี 2010 นี้ หากมองผ่านๆ ก็ได้เพียงแค่รับรู้ไว้อัปเดทข้อมูล แต่หากจะวิเคราะห์ให้เห็นผลที่จะเกิดตามมาในอนาคต ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ก็มีประเด็นน่าสนใจที่ควรต้องเจาะลึกเพิ่มเติม  จากเดิมก่อนหน้านี้ใครๆก็เป็นห่วงกลัวกันว่าประชากรจีนจะท่วมโลก รัฐบาลจีนในช่วงกลางทศวรรษที่ 70 ก็เลยต้องรณรงค์เอาจริงเอาจังกับการคุมกำเนิดประชากร มาบัดนี้ หากดูจากตัวเลขล่าสุด จำนวนบุตรเฉลี่ยต่อคู่สมรสลดลงเหลือเพียง 1.5 หมายความว่าในระยะยาวจำนวนประชากรวัยแรงงานจะหดหายลง แม้ในทุกวันนี้จีนจะยังมีประชากรที่อยู่ในวัยแรงงานมากมายเหลือใช้ แต่หากมองระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจ นักวิชาการจีนเชื่อกันว่า ประเทศจีนน่าจะเริ่มพบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นไป  กลุ่มประชากรวัยแรงงาน(อายุ 15 - 64 ปี)ของจีนจะเป็นกลุ่มประชากรใหญ่ที่สุดในปี 2013 แต่หลังจากนั้นจำนวนประชากรที่เข้าสู่วัยแรงงานจะลดน้อยลง และไม่สามารถทดแทนจำนวนประชากรที่ออกจากวัยแรงงานไปอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุได้ทัน กล่าวง่ายๆก็คือ ผลจากการคุมกำเนิดประชากรอย่างเข้มงวดตั้งแต่เมื่อเกือบสามสิบปีที่แล้ว จะเริ่มส่งผลต่อสัดส่วนประชากรวัยแรงงานตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นไป และจะกลายเป็นวิกฤตการณ์ขาดแคลนแรงงานอย่างมากในราวปี 2020-2030 ซึ่งจีนอาจเจอภาวะขาดแคลนแรงงานมากถึงร้อยละ 20 ขึ้นไปเป็นอย่างน้อย หากตัวเลขการเพิ่มขึ้นของประชากรและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับเดียวกับปัจจุบัน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ประชากรแรงงานลดลง ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น



                 
                     นอกเหนือจากปัญหาในระยะยาวเกี่ยวกับสัดส่วนประชากรวัยแรงงานแล้ว สถิติที่ได้จากการสำรวจในเที่ยวนี้ ยังชี้ว่ามีประเด็นทางประชากรที่กำลังจะขยายกลายเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งก็คือผลทางสังคมอันเนื่องมาจากการอพยพโยกย้ายถิ่นของแรงงาน จำนวนคนในวัยแรงงานกว่า261ล้านคนที่เร่ร่อนทำงานอยู่นอกเขตบ้านเกิดของตนเอง ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่มีความสำคัญมาก ทั้งในมุมมองทางเศรษฐกิจและมุมมองทางสังคม ในทางเศรษฐกิจ ตัวเลขนี้บ่งชี้อย่างชัดเจนว่า ความพยายามในการพัฒนาภูมิภาคตะวันตกของจีน หรือแผนการกระจายการพัฒนาไปสู่ส่วนต่างๆของประเทศอย่างเท่าเทียม ที่จีนพยายามทำมาตลอดระยะเวลากว่า20ปี ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ตำแหน่งงานและโอกาสทางเศรษฐกิจดีๆทั้งหลาย ยังคงกระจุกตัวอยู่ในซีกตะวันออกของประเทศ จากปี2000ในช่วงยุคร้อนแรงของการลงทุน จีนมีแรงงานอพยพประมาณ151ล้านคน เพียงแค่สิบปีเพิ่มอีกกว่าร้อยละ80มาเป็น261ล้านคน นอกจากไม่ลดลงเพราะการกระจายความเจริญแล้ว ยังเพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหาย ในด้านสังคม แรงงานอพยพเหล่านี้ กว่าร้อยละ40เป็นแรงงานในกลุ่มอายุวัยหนุ่มวัยสาว เกือบทุกประเทศในอดีต ที่มีประวัติศาสตร์การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมที่เติบโตก้าวข้ามภาคการเกษตร ต่างก็เคยเจอกับปัญหานี้มาแล้ว แต่ยังไม่เคยมีประเทศใดในโลก ที่จะมีประชากรแรงงานอพยพในสัดส่วนมากมายอย่างที่เป็นอยู่ในประเทศจีนทุกวันนี้ ปัญหาที่ตามมาก็คือภาคเกษตรในบ้านเกิดของแรงงานอพยพเหล่านี้ถูกทอดทิ้ง ชุมชนขาดคนหนุ่มคนสาวรับช่วงทั้งทางการผลิตและกิจกรรมทางสังคม หลายแห่งล่มสลายลงในที่สุด เพราะหนุ่มสาวจำนวนมากตัดสินใจแต่งงานและสร้างครอบครัวใหม่ในเมืองที่ตนอพยพไปทำมาหากิน
                    

                          เรื่องสำคัญที่น่าสนใจประการที่สาม คือข้อมูลการกระจุกตัวอย่างหนาแน่นของประชากรในณฑลด้านตะวันออกของประเทศ ผลจากการสำรวจสถิติประชากรล่าสุดนี้ ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า จีนยังคงต้องทุ่มเทลงทุนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างกระจุกตัวตามจำนวนประชากรในภาคตะวันออกต่อไปอีกนาน ในระยะยาว อำนาจรวมศูนย์การวางแผนและกำหนดทิศทางการพัฒนาดูเหมือนจะอ่อนลง กลายเป็นว่าจีนอาจต้องตามวางแผนตามหลังการเคลือนย้ายของประชากร เดี๋ยวเลยจะต้องมีอันเละเทะแบบบางประเทศแถวนี้
                       เมืองไทยเราก็เห็น “คุณมาดี” เดินเคาะประตูบ้านเก็บข้อมูลในการสำรวจสำมะโนประชากรครั้งใหญ่ไปแล้ว ยังไงถ้ามีการประมวลผลวิเคราะห์เผยแพร่ ผมว่าคนไทยเราควรต้องช่วยกันอ่านทำความเข้าใจ ให้รู้จักตัวเองเพิ่มมากขึ้น คงไม่ได้มีแต่ปัญหาผู้สูงอายุอย่างเดียว หลายเรื่องเช่นจำนวนประชากรนักเรียนที่ลดลงเรื่อยๆ วัยแรงงานที่อาจจะน้อยลง และแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำมาหากินในประเทศไทย ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ไม่น้อยไปกว่าเรื่องของประเทศจีนที่ผมชวนคุยในวันนี้เลยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น