ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

หนทางสู่อินเตอร์ของยาจีน

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
          ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จัดว่ามีข่าวสารน่าติดตามเกี่ยวกับประเทศจีนมากเป็นพิเศษ เฉพาะที่เป็นข่าวดังข่าวใหญ่อยู่ในความสนใจของนานาชาติ จะว่าไปก็นับเป็นสิบข่าวตัวอย่าง เช่นเหตุการณ์ชุมนุมครบรอบ 22 ปี กรณีจัตุรัสเทียนอันเหมิน ข่าววัยรุ่นจีนขายไตเพื่อซื้อไอพอด ข่าวเหมืองถล่มทางใต้ของประเทศ ข่าวเทศกาลเดือน 5 หรือ ขนมบะจ่าง ข่าวจีนให้ความช่วยเหลือลาวจัดงานประชุมอาเซียน ฯลฯ  ผมเลยออกอาการลังเล ไม่ทราบว่าจะนำเรื่องไหนมาเปิดประเด็นนำเสนอท่านผู้อ่านที่รัก ประกอบกับเรื่องดัง ๆ ทั้งหลายก็เห็นหน้าข่าวต่างประเทศในสื่ออื่น ๆ ของประเทศไทย ได้นำเสนอไปแล้ว เลยหมดอารมณ์จะมาขยายความเพิ่มเติมซ้ำกับคอลัมน์ที่เป็นข่าวสด สัปดาห์นี้ผมก็เลยต้องใช้เวลาในการค้นข่าวจากประเทศจีนมากเป็นพิเศษ ซึ่งก็คุ้มค่าครับ เพราะได้เห็นข่าวสารมากมายหลายมุมมองมากกว่าในสัปดาห์ก่อน ๆ
                 เรื่องที่จะชวนท่านผู้อ่านคุยในสัปดาห์ เป็นข่าวปรากฏอยู่บนหน้าปกนิตยสารปักกิ่งรีวิวฉบับล่าสุด ที่จริงก็ขึ้นปกอยู่หลายเรื่อง แต่ที่สดุดตาและทำให้สนใจมากเป็นพิเศษ คือเรื่องอุตสาหกรรมยาแผนโบราณของจีน ที่ออกไปกวาดเงินกวาดทองทำรายได้อยู่ในต่างประเทศ มาเป็นเวลายาวนาน เรียกว่าที่ใดมีชาวจีนเดินทางไปตั้งรกราก ก็จะปรากฏมีร้านขายยาจีนตามไปเปิดให้บริการ หนักเข้าก็ให้บริการลูกค้าชาวต่างชาติเจ้าของถิ่นในประเทศนั้น ๆ ไปด้วย กลายมาเป็นตลาดสำคัญที่ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมยาสมุนไพรสำเร็จรูปของประเทศจีนอีกทางหนึ่ง นอกเหนือไปจากที่ผลิตให้ชาวจีนในประเทศซื้อหามากินรักษาโรคกันเป็นหลักอยู่แล้ว
        ที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ ตลาดยาสมุนไพรสำเร็จรูปของจีนที่ทำตลาดอยู่ในต่างประเทศนั้น ลูกค้ากลุ่มหลักอยู่ที่ชาวจีนโพ้นทะเลและชุมชนจีนที่ไปตั้งรกรากเติบโตอยู่ในต่างประเทศ เรื่องของมาตรฐานสรรพคุณและวิธีการใช้ยา จึงเป็นเหมือนรู้ ๆ กันอยู่ในหมู่ชาวจีนว่าจะเลือกใช้ หรือ ซื้อหายาอะไรบ้างตามคำแนะนำของแพทย์แผนจีน ที่พอมีกระจายอยู่ในชุมชนจีนประเทศต่าง ๆ  มาในระยะหลัง ความนิยมในการแพทย์แผนจีนและยาสมุนไพรของจีน เกิดได้รับความสนใจและกลายเป็นการแพทย์ทางเลือกที่แพร่หลายของคนต่างชาติ ทั้งฝรั่งและชาวเอเชียในภูมิภาคต่าง ๆ มาตรฐานและสรรพคุณของยาตลอดจนการกำกับดูแลแพทย์แผนจีนที่เป็นผู้แนะนำสั่งยา เลยกลายมาเป็นประเด็นที่ได้รับความเอาใจใส่ ตรวจตราโดยเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ เช่น บรรดาหน่วยงาน อย.ของประเทศต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ข่าวที่ผมกำลังจะนำเสนอ ก็เป็นรายงานข่าวปัญหาอุปสรรคที่อุตสาหกรรมยาจีนกำลังเผชิญอยู่ในตลาดอินเตอร์ ที่หนักสุดตอนนี้ ก็คือ ปัญหาที่บรรดาผู้ผลิตยาจีนกำลังเจอจากการประกาศห้ามนำเข้ายาจีนโดยกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป หลังจากดิ้นรนหาทางปรับปรุงคุณภาพเพื่อให้ได้มาตรฐานของ EU มาแล้วเป็นเวลาเกือบ 8 ปี นับตั้งแต่กลุ่ม EU เริ่มประกาศเกณฑ์มาตรฐานการรับใบอนุญาตนำเข้าและจำหน่ายยาสมุนไพร มาบัดนี้ห้วงระยะเวลาผ่อนปรนก็เป็นอันหมดแล้ว ยังไม่ปรากฏมีผู้ผลิตยาจากจีนรายใดได้รับใบอนุญาตที่ถูกต้องครบถ้วนตามมาตรฐานเลย ปัจจัยหลักเลยคือเรื่องต้นทุนการผลิต เพราะหากจะให้ได้มาตรฐานแบบฝรั่งจริง ๆ ต้นทุนในการผลิตยาสมุนไพรเหล่านี้ จะต้องสูงขึ้นอีกเป็นหลายเท่าตัว จนทำให้ราคาขายสูงเกินกว่าจะเป็นทางเลือกให้ผู้สนใจทดลองซื้อหาไปใช้ พูดง่าย ๆ คือ หากทำให้ได้ตามมาตรฐานฝรั่งก็เป็นอันไม่ต้องขายกันพอดี เพราะราคาจะสูงกว่ายาแผนปัจจุบันหลายเท่า
        นอกเหนือจากต้นทุนในการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีปัจจัยเรื่องค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนตำรับยาที่แต่ละประเทศใน EU เรียกเก็บ ว่ากันว่าแพงหนักหนา หากผู้นำเข้าหนึ่งรายต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์สักสิบรายการ ก็ต้องจ่ายค่าขึ้นทะเบียนตำรับยาสิบตำรับ ตำรับละประมาณ 153,000 เหรียญสหรัฐ หรือหนึ่งล้านหยวนจีน นอกเหนือจากนี้ ระเบียบของ EU ยังกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้นำเข้า ในการแสดงหลักฐานการทดสอบยาในทางสรรพคุณรักษาต่อเนื่องเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 15 ปี เพื่อยืนยันว่าไม่มีภาวะอาการของผลข้างเคียงในหมู่ผู้ใช้ยาชาวยุโรป อันนี้ก็เป็นปัญหาใหญ่ เพราะก็ไม่มีบริษัทผู้ผลิตยารายใดของจีน จะมีทุนรอนและเวลามากมายขนาดนั้นในการทดลองกับคนไข้ฝรั่ง แม้ในประเทศจีนเอง ผู้ผลิตทั้งรายใหญ่และรายเล็ก ก็ไม่เคยมีธรรมเนียมปฏิบัติในการเก็บข้อมูลสถิติย้อนหลังมากมายขนาดนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นการผลิตยาตามตำรับที่พัฒนาสืบทอดกันมาตามตำรายาแต่โบราณด้วยกันทั้งสิ้น แม้แต่ผู้ผลิตรายใหญ่และมีชื่อเสียงมากที่สุดอย่างโรงงานผลิตยาสมุนไพร “ถงเหรินถัง” (มาเปิดสาขาในบ้านเราแถวถนนเจริญกรุง) ก็ยังไม่สามารถแสดงหลักฐานดังกล่าวเพื่อขึ้นทะเบียนตำรับยาในยุโรปได้
          อย่างไรก็ดี ปัญหาอุปสรรคดังกล่าวก็ไม่ถึงกับ   จะกระทบต่ออุตสาหกรรมยาของจีนเท่าใดนัด เพราะหากดูจากตัวเลขของปีที่ผ่านมา จีนส่งออกยาสมุนไพร รวมมูลค่า 1,940 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยตลาดยุโรปมี  สัดส่วนส่งออกเพียงร้อยละ14 เท่านั้น ตอนนี้จีนเลยเร่งไปทำตลาดในภูมิภาคอื่น ๆ เพื่อชดเชยสัดส่วนดังกล่าว ซึ่งก็ดูประสบความสำเร็จดี
                
         ผมเอาเรื่องตลาดสมุนไพรจีนมาชวนคุยวันนี้ เพราะกำลังคิดถึงหนทางในอนาคตของตลาดสมุนไพรไทย ยาหลายตัวที่เราภูมิอกภูมิใจว่ามีสรรพคุณดีอย่างนั้นอย่างนี้ สมควรที่จะส่งเสริมให้เป็นสินค้าส่งออกได้ หากไปเทียบกับประวัติศาสตร์ของยาจีนที่แพร่หลายอยู่นอกประเทศจีนแล้ว ดูท่ายังต้องลงแรงอีกมาก ทางที่ดีอาจต้องกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ ให้สามารถแข่งขันต่อสู้เพื่อทดแทนการใช้ยาฝรั่งราคาแพง ภายในประเทศของเรา ก่อนที่จะออกไปคิดอ่านทำการตลาดนอกประเทศ น่าจะเหมาะสมกว่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น