ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ประตูใหญ่สู่ตะวันตก

รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
         
              ขออนุญาตรายงานตัวกลับมาทำหน้าที่รับใช้ท่านผู้อ่านเหมือนเช่นเคยครับ ว่าที่จริงผมก็ไม่ได้หนีไปเที่ยวที่ไหน แต่ที่ขาดหายไปหนึ่งสัปดาห์ก็ด้วยเหตุพื้นที่หน้ากระดาษไม่เหลือให้ผมเลย เนื่องจากถูกบรรดาพรรคการเมืองทั้งหลายซื้อพื้นที่ยึดไปซะหมด เพราะสัปดาห์ก่อนเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ เป็นโค้งสุดท้ายของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ผมก็เลยได้หยุดโดยปริยาย มาบัดนี้ ใครเป็นใคร ชนะกันกี่ที่นั่ง ฟอร์มรัฐบาลหกพรรคเรียบร้อยไปแล้วอย่างไร เชื่อว่าท่านผู้อ่านก็คงได้รับทราบกันไปเรียบร้อยแล้ว ก็ตั้งความหวังว่าประเทศไทยจะได้เดินหน้าเต็มสูบกันเสียที
                 ในระหว่างที่บ้านเรานั่งลุ้นผลการเลือกตั้งกันอยู่นั้น ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หน้าข่าวต่างๆ ในประเทศจีนก็มีความคึกคักเหมือนเช่นเดิม เรื่องการเลือกตั้งในประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในความสนใจหลักที่สื่อมวลชนจีนแขนงต่างๆ ติดตามรายงานข่าวอยู่ด้วยค่อนข้างมาก แต่ที่ผมจะนำเสนอท่านผู้อ่านในวันนี้ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการขยายและปิดใช้เส้นทางสำคัญทางภาคตะวันตกของจีน เป็นทางรถไฟที่เชื่อมต่อมณฑลต่างๆ ทางตะวันตกของจีนกับประเทศในยุโรป ผมได้เคยเล่าให้ท่านผู้อ่านรับทราบเกี่ยวกับการขยายเครือข่ายการขนส่งทางรางของประเทศจีนไปแล้วอย่างน้อยสองครั้ง แต่ยังไม่เคยได้พูดถึงเส้นทางลำเลียงสินค้าสายหลักที่เป็นเสมือนประตูบานใหญ่สู่ทวีปยุโรป เพราะไม่ได้คิดว่าจะปิดใช้เส้นทางอย่างเป็นทางการได้รวดเร็วขนาดนี้
         เมื่อกลางดึกคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าขบวนแรก ซึ่งบรรทุกสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์โน๊ตบุคและจอภาพแอลซีดีเต็มแปดตู้โบกี้สินค้า ได้ออกเดินทางจากเมืองฉงชิ่งในมณฑลเสฉวนทางตะวันตกของจีน มุ่งหน้าสู่ประเทศเยอรมนี โดยจะใช้ระยะเวลาเดินทางทั้งสิ้น 13 วัน รวมระยะทาง11,179 กิโลเมตร ผ่านมณฑลซินเจียง ประเทศคาซัคสถาน ประเทศรัสเซีย ประเทศเบลารุส ประเทศโปแลนด์ โดยมีจุดหมายปลายทางขนถ่ายสินค้าส่งออกชุดแรกนี้ที่สถานีรถไฟเมือง Duisburg ของฝั่งเยอรมนีตะวันออก นับเป็นขบวนรถไฟขนส่งสินค้าขบวนแรกของจีนที่เปิดใช้เส้นทางข้ามทวีปเส้นนี้ หลังจากการเจรจาทำข้อตกลงผ่านแดนและการพัฒนาเชื่อมต่อเส้นทางกันมาเกือบสองปี
                 เส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าดังกล่าวนี้ หากว่าตามจริงก็เป็นเส้นทางที่มีมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี แต่เนื่องจากไม่มีการพัฒนาอย่างเป็นกิจลักษณะ เลยทำให้ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ จนเมื่อจีนเริ่มโครงการพัฒนาภาคตะวันตกอย่างเอาจริงเอาจัง ย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมไฮเทคส่วนหนึ่งจากมณฑลที่พัฒนาแล้วทางชายฝั่งตะวันออกมาไว้ในแถบมณฑลตะวันตก โจทย์หรือปัญหาสำคัญเรื่องทางออกสู่ทะเล หรือประตูที่จะกระจายสินค้าไปยังตลาดปลายทางในยุโรป ผลักดันให้รัฐบาลจีนจำเป็นต้องแสวงหาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ในการทำข้อตกลงการส่งสินค้าผ่านแดน ตัดขั้นตอนจุกจิกซ้ำซ้อนของการคิดภาษีขาเข้า-ขาออก ในแต่ละประเทศ นอกจากนี้ยังต้องลงทุนเชื่อมต่อเส้นทางและปรับปรุงรางรถไฟบางช่วงให้สามารถใช้งานได้  จนเวลานี้เส้นทางดังกล่าวได้กลายมาเป็นเส้นทางลัดที่สำคัญ เป็นประตูขาออกของสินค้าจีนที่จะบุกเข้าสู่ตลาดใหญ่ในทวีปยุโรป ลดระยะเวลาการขนส่งที่ปรกติจะออกจากประเทศจีนโดยเรือบรรทุกสินค้าที่ท่าเรือมหานครเซี้ยงไฮ้หรือนครกวางโจว ซึ่งใช้เวลากว่า 36 วัน ในการไปถึงเมืองท่าหลักของยุโรป ลงเหลือเพียงแค่ 13 วัน และเมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายในการขนส่งแล้ว ยังมีต้นทุนต่ำกว่าการขนส่งทางเรือ ถือว่าคุ้มค่าการลงทุนที่จีนได้ทุมเทไป
จีนเพิ่งจะบรรลุข้อตกลงอย่างเป็นทางการกับรัฐบาลรัสเซียและรัฐบาลคาซัคสถานเมื่อปีที่ผ่านมา ในการแก้ไขข้อตกลงทางศุลกากร เพื่อให้การขนส่งสินค้าข้ามแดนทำได้โดยสะดวก ไม่ต้องหยุดขบวนรถไฟตรวจสอบทีละตู้สินค้า พร้อมๆ ไปกับการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมไฮเทคในมณฑลทางตะวันตก ตัวอย่าง บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ได้ประโยชน์ในงานนี้ก็เช่นบริษั Foxcom, Hewlett-Packard บริษัท Acer ของไต้หวันเป็นต้น ทั้งสามบริษัทได้เข้ามาลงทุนสร้างโรงงานผลิตคอมพิวเตอร์โน๊ตบุคในเขตส่งเสริมการลงทุนนครฉงชิ่ง เฉพาะ 5 เดือนแรกของปีนี้ โรงงานในฉงชิ่งได้ส่งออกโน้ตบุ๊ก คอมพิวเตอร์ไปแล้วกว่า 2,430,000 เครื่อง คิดเป็นมูลค่ากว่า 840 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 20 ของมูลค่าสินค้าส่งออกทั้งหมดของนครฉงชิ่ง ทั้งที่ยังไม่มีเส้นทางลัดทางรถไฟ เลยเชื่อกันว่าต่อแต่นี้ไป มูลค่าการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ จะยิ่งทวีปริมาณและมูลค่าเพิ่มมากขึ้นอีก จากต้นทุนการขนส่งที่ลดลง
        ไม่ใช่เพียงสินค้าส่งออกประเภทคอมพิวเตอร์เท่านั้น เวลานี้นครฉงชิ่งได้กลายมาเป็นชุมทางหลัก และศูนย์กลางสถานีขนถ่ายสินค้าเพื่อการส่งออกของภาคตะวันตกของจีน สินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ทุกประเภทจากภาคตะวันตกและสองฝั่งแม่น้ำแยงซีตอนกลาง สามารถอาศัยประตูต่อเชื่อมทางอากาศ และเส้นทางรถไฟจากฉงชิ่งไปสู่ตลาดต่างๆ ในยุโรป ได้ไกลถึงนคร Luxembourg ในอนาคตอันใกล้ จีนยังวางแผนจะส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมจากโรงงานต่างๆ ในลุ่มน้ำจูเจียงทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีนไปยังยุโรป ผ่านเส้นทางสายฉงชิ่ง - Luxembourg เพื่อลดต้นทุนและระยะเวลาการขนส่งสินค้า ซึ่งเดิมอาศัยส่งไปทางทะเลเปิดอ้อมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาสมุทรอินเดีย แอฟริกา แอตแลนติก หรือ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
                 ผมนำเสนอเรื่องประตูสู่ตลาดตะวันตกนี้ ไม่ใช่เพื่อจะชักชวนท่านผู้อ่านให้มาร่วมกันชื่นอกชื่นใจไปกับประเทศจีน แต่กำลังงงๆ ว่า ประเทศอย่างไทยเรา ซึ่งมีทำเลที่ตั้งดีเลิศประเสริฐ อยู่ในตำแหน่งที่ขนาบด้วยทะเลหลวงออกสู่มหาสมุทรใหญ่ทั้งซ้าย-ขวา เป็นทำเลสำคัญในการส่งผ่านทั้งวัตถุดิบ พลังงาน และสินค้าสำเร็จ อันเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจสมัยใหม่ เรามัวทำอะไรกันอยู่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปล่อยให้ดินแดนทุรกันดารที่เคยล้าหลังและห่างไกลจากเส้นทางขนส่งเช่นเสฉวน พัฒนาข้ามหน้าข้ามตาไปได้ขนาดนี้ ความเชื่อเดิมๆ ที่ว่าจีนต้องอาศัยเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เป็นประตูออกสู่ทะเล ตอนนี้เป็นอันพิสูจน์กันแล้วว่าไม่เป็นจริงอีกต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น