ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

แผนบริหารงานวัฒนธรรมของจีน

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา  คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
             
       ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่มีโอกาสเดินทางไปเที่ยวประเทศจีน ในช่วง 2-3 ปีหลังจากนี้ หากไปถึงมหานครปักกิ่ง ถนนสำคัญสายหนึ่งที่ไกด์ทัวร์จะต้องชวนขับรถวนไปดู หนีไม่พ้นอาคารรูปทรงแปลกๆ ที่ผุดขึ้นมาใหม่ในช่วงที่จัดงานโอลิมปิคปี 2008 ทั้งสนามกีฬาหลักที่เป็นเหล็กสานเหมือนรังนก สนามแข่งขันกีฬาว่ายน้ำ ที่เหมือนกล่องสี่เหลียมโปร่งแสงตอนกลางคืน รวมไปถึงอาคารสำนักงานใหญ่ แห่งใหม่ของสถานีวิทยุโทรทัศน์ CCTV กลางกรุงปักกิ่ง ที่เอียงโงนเงนท้าทายแรงดึงดูดโลก และพื้นที่บริเวณใกล้ๆ กับสำนักงาน CCTV นี้เอง มีอาคารสมัยใหม่อันเป็นที่ตั้งของโรงละครหรือเวทีแสดงหมายเลข 9 ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นเรื่องราวที่ผมจะชวนท่านผู้อ่านพูดคุยในวันนี้
       เมื่อปีกลาย ตอนไปธุระที่ปักกิ่ง ผมได้มีโอกาสแวะไปดูการแสดงละครสมัยใหม่แบบจีนที่โรงละครหมายเลข 9 ที่ว่านี้ ตามคำชวนของเพื่อนอาจารย์ชาวจีนที่รู้จักกัน นัยว่าอยากให้ไปลองของแปลก ซึ่งก็แปลกจริง เพราะเป็นการแสดงละครแนวทดลอง ออกจะก้าวหน้าล้ำๆ   สักหน่อย ไม่ใช่ละครกระแสหลัก หรือโชว์ทั่วไปที่จัดสำหรับสาธารณชน ดูกันทีเป็นพันเป็นหมื่นคน ตอนนั้นทราบเพียงว่าเป็นกิจกรรมที่ทำโดยภาคเอกชน เพื่อที่จะแสวงหาแนวการแสดงที่เป็นทางเลือกแบบเอ็กซ์คลูซีฟให้กับชาวปักกิ่ง และเพื่อที่จะส่งเสริมกลุ่มศิลปินแนวอินดี้ทั้งหลายของจีน ผมมาทราบภายหลังว่าโรงละครทำนองแบบนี้ กำลังขยายตัวผุดขึ้นตามหัวเมืองใหญ่หลายแห่งในประเทศจีน และอาจพูดได้ว่ากำลังเป็นที่เสาะแสวงหาของคนชั้นกลางในเมืองใหญ่เหล่านั้น เป็นที่ซึ่งจะได้ดูการแสดงที่แปลก ไม่จำแจหรืออ้างว่าทุ่มทุนสร้างมหาศาลแบบที่ผู้จัดอื่นๆ ในการแสดงกระแสหลักของจีนนิยมโอ้อวดโฆษณากัน ทำให้ได้ความรู้เพิ่มว่า นอกเหนือจากการจัดแสดงทางศิลปะ วัฒนธรรม ที่รัฐบาลจีนมุ่งส่งเสริมกันอยู่แล้ว สังคมจีนในเวลานี้ยังมีแนวโน้มการพัฒนางานด้านศิลปะและการแสดงโดยภาคเอกชนและศิลปินอิสระ ที่คึกคักไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย
          ว่าตามจริงแล้ว ประวัติศาสตร์พัฒนาการของการแสดงและโรงละครโรงงิ้วแบบจีน เป็นที่รู้กันดีว่ามีมาหลายพันปี อาจพูดได้ว่าเฟื่องฟูสุดๆ ตั้งแต่สมัยราชวงค์ซ่งใต้ ต่อเนื่องมาถึงสมัยราชวงค์หมิงและชิง แต่แนวละครที่เลียนแบบสมัยใหม่หรือแบบตะวันตกอย่างที่นิยมกันในเวลานี้ มีประวัติความเป็นมาสักร้อยปีเศษ มาในระยะสักสิบกว่าปีมานี้ การแสดงและการบันเทิงได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญของระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ของจีน และหากนับรวมเอาอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมรูปแบบอื่นๆ เข้าไปด้วยแล้ว เรียกว่ามีมูลค่ามหาศาลปีละหลายหมื่นล้านหยวนเลยทีเดียว จะด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจล้วนๆ หรือเพราะปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศเข้ามาผสมอย่างที่ตะวันตกวิจารณ์กันก็ไม่ทราบได้ รัฐบาลจีนดูเหมือนเข้ามาเอาจริงเอาจังพยายามอย่างยิ่งในการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านนี้ ทั้งเพื่อการบริโภคภายในประเทศ และเพื่อการส่งออกไปยังตลาดสื่อบันเทิงนานาชาติ เรียกว่าตรงไหนมีช่องทางจะส่งเสริมเจาะตลาด รัฐบาลก็จะเข้ามาร่วมแจมด้วยทันที ในขณะที่อุตสาหกรรมบันเทิงทางเลือกแบบโรงละครหมายเลข 9 อาจมีความเป็นตัวของตัวเองสูง แต่ในสื่อกระแสหลักรูปแบบอื่นๆ เกือบทั้งหมด รัฐบาลจีนดูเหมือนจะมีบทบาทอย่างสำคัญเกี่ยวข้องอยู่ด้วย และยิ่งถ้าเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่มีลู่ทางในระดับอินเตอร์ รัฐบาลจีนก็พร้อมที่จะเข้าส่งเสริมทั้งโดยตรงและโดยการสนับสนุนทางอ้อม
           ข่าวที่ปรากฏอยู่ตามหน้าคอลัมน์ศิลป-วัฒนธรรมของสื่อจีนโดยทั่วไป จึงเต็มไปด้วยข่าวงานโรดโชว์ตามยุโรป-อเมริกา งานจัดนิทรรศการ งานเทศกาลศิลป-วัฒนธรรมจีนในประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อันนี้เองกระมังที่ทำให้ตะวันตกมองกันว่าเป็นการรุกทางวัฒนธรรม หรือเป็น Soft-Power รูปแบบหนึ่งที่จีนใช้ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ (นี้ก็ว่ากันเฉพาะเรื่องทางศิลป-วัฒนธรรมล้วนๆ ยังไม่รวมถึงกิจกรรมทางการศึกษาอย่างสถาบันขงจื้อ หรือการส่งเสริมการสอนภาษาจีน ดังที่ผมเคยนำเสนอไปแล้วก่อนหน้าในคอลัมน์นี้) เวทีหนึ่งที่ชาติตะวันตกจับตากันมาก ก็คืองานประชุมและจัดแสดงประจำปีที่จัดขึ้นในนครเสิ่นเจิ้น ภายใต้ชื่อ นิทรรศการอุตสาหกรรมวัฒนธรรมนานาชาติ ครั้งล่าสุดเพิ่งจัดแสดงไปเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กลายเป็นข่าววิพากษ์วิจารณ์กันมากในหมู่สื่อตะวันตก รวมไปถึงสำนักวิเคราะห์ทางความสัมพันธ์และความมั่นคงระหว่างประเทศ ว่าเป็นกิจกรรมส่งเสริมการรุกทางวัฒนธรรม ไม่ใช้เป็นเพียงกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของอุตสาหกรรมบรรเทิงจีนอย่างที่อ้างกัน จะ Soft Power หรือไม่ Soft Power ก็คงต้องรอดูกันไป แต่ที่แน่ๆ ในแง่ของการตลาด ดูเหมือนสินค้าและสื่อบันเทิงรูปแบบต่างๆ ของจีนยังต้องการเวลาอีกระยะหนึ่ง ก่อนที่จะสามารถยึดฐานที่มั่นในตลาดโลกได้ ที่ผ่านมา แม้ว่าสัดส่วนรายได้ของอุตสาหกรรมในภาคนี้เทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ มูลค่าโดยรวมอาจนับได้ว่าสูง แต่ในส่วนที่เป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศนั้นยังน้อยอยู่ อีกทั้งกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้บริโภคมี่เป็นชุมชนจีนโพ้นทะเล หากจะให้ฝรั่ง ไทย แขก เห็นดีเห็นงามไปด้วยกับสินค้าทางวัฒนธรรมจากจีน เชื่อว่ารัฐบาลจีนยังต้องทำการวิจัยทางการตลาดและผู้บริโภคอีกมาก แม้ว่าจีนจะได้รับรู้ถึงความสำคัญลอิทธิพลของวัฒนธรรมแล้วเป็นอย่างดี แต่การจะส่งออกผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมให้แพร่หลายไปได้ทั่วโลก อาจเป็นงานใหญ่ที่ต้องใช้เวลาอีกมาก
                 ผมเองโดยส่วนตัวไม่ได้รู้สึกวิตกกังวลอะไรกับอิทธิพลเชิง Soft Power จากสินค้าทางวัฒนธรรมของจีนเท่าใดนัก เพราะจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา กระแสนิยมฝรั่ง นิยมญี่ปุ่น หรือจนแม้คลั่งเกาหลีอย่างที่เป็นอยู่ มันก็มีขึ้นมีลง ยิ่งในประเทศไทยเราที่เก่งเรื่องรับของนอก ยิ่งไม่สู้จะน่าห่วง เพราะเราเบื่อง่ายกันอยู่แล้ว แต่ละกระแสที่ว่าอินเทรน ผมเห็นอยู่ได้ไม่เกินห้าปีสิบปี หมุนไปหมุนมา ที่หน้ากลัวกว่าเห็นจะเป็นอุตสาหกรรมในภาคอื่นๆ ที่เป็นภาคการผลิตจริงไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมเชิงบริการ อุตสาหกรรมภาคที่เป็นการผลิตจริงๆ จะส่งผลกับประเทศขนาดเล็กเช่นเราค่อนข้างมาก ทั้งในเรื่องวัตถุดิบ ต้นทุนพลังงาน ความสามรถในการแข่งขัน และการทุ่มราคาเพื่อครอบงำตลาด ใครที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องเหล่านี้ ก็ขออย่าไปมัววิตกกับเพลงจีน หนังจีน จนละเลยสินค้าจีนที่เข้ามาแย่งตลาดเต็มบ้านเต็มเมือง จนอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการในประเทศเราจะตายยกเล้ากันหมดแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น