ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ยกเครื่อง SMEs จีน

โดย รศ.พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
           
             ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่านผู้อ่านที่สนใจข่าวสารจากต่างประเทศ (ไม่นับคดีไทย-เขมรในศาลโลก) คงได้รับทราบกันบ้างแล้วว่าเศรษฐกิจทั้งฝั่งยุโรปและอเมริกา ออกอาการเดี้ยงๆ น่าเป็นห่วงอยู่ไม่น้อย น่าห่วงแค่ไหนก็คงสังเกตดูได้จากราคาทองคำที่เพิ่มสูงขึ้นทะลุเพดานแล้ว ทะลุเพดานอีก ในขณะเดียวกันทางฝั่งประเทศจีน ก็มีข่าวเหมือนประชดชะตากรรมเศรษฐกิจตะวันวันตก ผลจากการสำรวจโดยหน่วยงานภาครัฐของจีนรายงานว่า ทั้งปริมาณการลงทุนนอกประเทศ และจำนวนบริษัทที่จีนไปจัดตั้งหรือกว้านซื้อไว้ในต่างประเทศ มีเพิ่มมากขึ้นในช่วงสองไตรมาสที่ผ่านมา รัฐบาลจีนเองก็ตั้งเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้ธุรกิจจีนออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงในตลาดใหม่ๆ เช่นเอเชียกลาง แอปริกา และอเมริกาใต้ แม้ในยุโรปและอเมริกา เวลานี้รัฐวิสาหกิจและเอกชนจีนก็กำลังเดินสายทัวร์เลือกบริษัทที่เจอพิษเศรษฐกิจ ช็อปของถูกกันอย่างสนุกสนานอยู่ ยอดรวมมูลค่าการลงทุนนอกประเทศเท่าที่มีการเปิดเผยจากสภาส่งเสริมการลงทุนนานาชาติ สรุปว่าในช่วงต้นปีนี้มูลค่าการลงทุนต่างประเทศของจีนสูง กว่า 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ยอดรวมการลงทุนต่างประเทศสะสมของจีนขยับขึ้นเป็น 310,000 ล้านเหรียญสหรัฐเรียบร้อยแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการคาดการณ์กันว่า ภายใต้นโยบายการลงทุนของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่12 ของจีน เป็นไปได้ว่า เมื่อถึงปี 2020 ยอดรวมสะสมการลงทุนต่างประเทศน่าจะขยายไปถึง 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
            อย่างไรก็ดี เรื่องที่ผมกำลังจะชวนท่านผู้อ่านพูดคุยในสัปดาห์นี้ไม่ใช่เรื่องทุนจีนในต่างประเทศหรอกครับ แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิสาหกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง ในประเทศจีน ที่ต้องเกริ่นนำเสียยืดยาวเกี่ยวกับทุนจีนที่ไปนอก ก็เพราะทั้งสองเรื่องนี้ท้ายที่สุดแล้วจะมีความเกี่ยวข้องส่งผลต่อกัน การไปลงทุนในต่างประเทศที่บรรดารัฐวิสาหกิจและเอกชนจีน กำลังนิยมทำกันอยู่ในเวลานี้ หากจะว่าไปแล้ว เป็นเรื่องการออกไประบายทุนและเทคโนโลยีที่จีนดูดซับเอาไว้มากมาย จนไม่สามารถแบกเอาไว้เองได้หมด ประกอบกับจังหวะที่เศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ กำลังมีปัญหา เป็นโอกาสให้สามารถเลือกซื้อของถูก อีกทั้งยังช่วยไม่ให้เศรษฐกิจภายในประเทศจีนร้อนระอุจนเกินไป แต่หากจะหวังทำกำไรเฉพาะหน้าหรือจะให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนชาวจีนในประเทศโดยตรงนั้น คงต้องรอผลอีกไม่ต่ำกว่า 5-10 ปี ในขณะที่ภาคการผลิตอุตสาหกรรมและหัตถอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็กของจีน นอกจากจะเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศแล้ว ยังเป็นที่มาของรายได้สำคัญที่หล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจภายในของจีนให้เดินหน้าไปได้  เฉพาะหน้าในเวลานี้ รัฐบาลจีนได้มอบหมายให้หน่วยงานหลักๆ สี่แห่งได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานสถิติแห่งชาติ คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการปฏิรูปและพัฒนาเศรษฐกิจ และกระทรวงการคลัง ทำการศึกษาและกำหนดแผนในการพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็กเหล่านี้ จากการค้นคว้าข้อมูลย้อนหลัง พบว่าที่จริงแล้วจีนพยายามจะพัฒนาธุรกิจในกลุ่มนี้มาโดยตลอด แต่ก็มีอุปสรรคอยู่มาก ทำให้ยังไม่สามารถยกระดับคุณภาพของสินค้าและบริการ ในกลุ่มนี้ให้ได้มาตรฐาน และมีความสามารถในการแข่งขันกับธุรกิจในลักษณะเดียวกันของประเทศในกลุ่มยุโรป หรือแม้แต่บางกลุ่มธุรกิจของประเทศในแถบเอเชียด้วยกัน ที่ผ่านมา การจะออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็กภายในประเทศก็ทำได้ยาก เพราะมีกลุ่มที่แตกต่างหลากหลายมาก บ้างธุรกิจก็มีจำนวนคนงานแตกต่างกันตั้งแต่หลายพันจนถึงไม่กี่สิบคน หรือมียอดขายต่อปีหลายร้อยล้านหยวนไปจนถึงไม่กี่แสนหยวน การจะกำหนดเกณฑ์ให้ความช่วยเหลือทางภาษีก็เลยทำได้ยาก มาบัดนี้ จากการร่วมมือกันของทั้งสี่หน่วยงาน จีนได้กำหนดแบ่งธุรกิจ SME ออกเป็นกลุ่มๆ แยกตามแรงงานที่ใช้ ยอดการขาย ความสามารถในการส่งออก ประเภทของหัตถอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักร อุตสาหกรรมไอทีขนาดกลางและเล็ก อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ฯลฯ โดยกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการส่งเสริมและให้ความช่วยเหลือแต่ละกลุ่มแยกจากกัน สอดคล้องตรงกับลักษณะทางธุรกิจของแต่ละกลุ่ม
            ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ ในการจัดระบบให้ความช่วยเหลือเพื่อพัฒนามาตรฐานธุรกิจ SME เที่ยวนี้ จีนได้เพิ่มธุรกิจอีกกลุ่มหนึ่งเข้ามาในแผนการช่วยเหลือและพัฒนาด้วย นั่นก็คือ กลุ่มธุรกิจขนาดจิ๋วที่มีศักยภาพในการส่งออก ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจที่มีคนทำงานไม่ถึง 20 คน แต่มีมูลค่าผลิตภัณฑ์ หรือ บริการสูง เช่น ในธุรกิจกลุ่มไอทีสารสนเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ที่ไม่ต้องการแรงงานมาก แต่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีฝีมือในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และสามารถแข่งขันส่งออกได้ ผมเห็นที่ยกตัวอย่างมาในรายงานของทางการจีน ก็เช่น ธุรกิจพัฒนาสายพันธุ์พืชและสัตว์ (ไม่แน่ใจว่า GMO หรือเปล่า) ธุรกิจการออกแบบผลิตภัณฑ์ ธุรกิจผลิตสื่อโฆษณา ธุรกิจผลิตเนื้อหาสารสนเทศด้านบันเทิง โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ค่ายศิลปินการแสดง งานศิลปะเชิงพานิชย์ ฯลฯ  ไม่น่าเชื่อว่าบรรดาธุรกิจขนาดจิ๋วเหล่านี้ แม้ใช้แรงงานในแต่ละธุรกิจไม่มาก แต่กลับมีแรงงานจีนถึงเกือบร้อยละ 38 อยู่ในกลุ่มนี้  ที่ผ่านมาถือว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยง เพราะแม้จะมีความคิดสร้างสรรค์ แต่มักตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เมื่อต้องแข่งขันกับการผลิตแบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อีกทั้งยังมักถูกลอกเลียนแบบและละเมิดลิขสิทธิ์โดยอุตสาหกรรมที่ใหญ่กว่า ฉะนั้น หากรัฐบาลสามารถให้ความช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจขนาดจิ๋วเหล่านี้ให้อยู่รอดได้ นอกจากจะเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและการค้นคว้าสร้างนวัตกรรมแล้ว ก็ยังจะเป็นแนวทางสำคัญในการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ๆ ที่สามารถเริ่มต้นธุรกิจได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาการลงทุนขนาดใหญ่ และท้ายที่สุดสามารถต่อยอดกับธุรกิจขนาดใหญ่ของจีน ที่ออกไปลงทุนหรือซื้อกิจการภายนอกประเทศ เพราะในระยะยาว จีนจำเป็นต้องมุ่งไปสู่การผลิตทางอุตสาหกรรมที่ต้องใช้การวิจัยและพัฒนาต่อยอดจากผู้ประกอบการขนาดเล็กๆ จิ๋วๆ เหล่านี้
            ผลที่เกิดขึ้นในภาพรวมอาจดูไม่เป็นข่าวดีเท่าไรนัก กับประเทศเล็กๆ ในภูมิภาคนี้ รวมทั้งประเทศไทยเราด้วย เราไม่เพียงต้องแข่งขันกับจีนในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และกลางที่มีทุนสูง และจีนได้เปรียบอยู่แล้ว แม้ในระดับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก แนวโน้มที่จะมีการแข่งขันอย่างเข้มข้นกำลังเกิดขึ้นแน่ ก็ยังนึกไม่ออกว่าSME บ้านเราจะลงเอยแบบไหน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น