ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ผลกระทบจากอุบัติเหตุรถไฟจีน

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
              

       อย่างที่เคยเรียนท่านผู้อ่านที่รักอยู่เสมอๆ ว่าคอลัมน์คลื่นบูรพาเป็นคอลัมน์ข่าวแห้งไม่ใช่การรายงานข่าวสด ทว่าเรื่องราวที่จะนำเสนอท่านผู้อ่านในสัปดาห์นี้ แม้เหตุจะเกิดมาตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ แต่ผลกระทบที่ติดตามมาสารพัดด้าน เพิ่งจะทยอยปรากฏต่อเนื่อง และก็ดูจะยังไม่จบลงง่ายๆ ที่จะนำเสนอและชวนท่านผู้อ่านคุยในคราวนี้ ก็คือเรื่องราวอุบัติเหตุรถไฟความเร็วสูงของจีนที่เมืองเวินโจว ในมณฑลเจ้อเจียง ทางตะวันออกของประเทศจีน ห่างจากมหานครเซี้ยงไฮ้มาทางใต้เพียงเล็กน้อย รายละเอียดเนื้อข่าวเป็นอย่างไรนั้น ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านทุกท่านคงได้ติดตามรับทราบจากสื่อแขนงต่างๆ ที่รายงานกันสดๆ ตั้งแต่เมื่อเกิดเหตุขึ้น ที่ผมจะชวนคุยนั้นเป็นเรื่องของผลกระทบที่กำลังตามมา
           หากจะว่าไปให้เป็นธรรมและตรงตามข้อเท็จจริง เส้นทางและขบวนรถที่เกิดเหตุนั้น ณ เวลาปัจจุบัน ยังไม่ได้นับเป็นส่วนหนึ่งของระบบรถไฟความเร็วสูงที่จีนกำลังเดินหน้าพัฒนาอยู่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่เกี่ยวกันเสียทั้งหมด เพราะระบบรถไฟความเร็วสูงส่วนใหญ่ ก็พัฒนามาจากการปรับปรุงเส้นทางที่มีอยู่เดิมเหล่านี้ อีกทั้งเส้นทางเซี้ยงไฮ้-เวินโจวที่เกิดเหตุนี้ ก็อยู่ในแผนที่จะพัฒนาต่อเชื่อมเข้ากับเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงในอนาคตอันใกล้ไปถึงเมืองฝู้โจว เมืองเอกของมณฑลฟูเจี้ยน  ความรู้สึกของสาธารณชนคนจีนทั่วไปที่มีต่ออุบัติเหตุเที่ยวนี้ จึงห้ามไม่ได้เลยว่ากระทบต่อระบบรถไฟความเร็วสูงของจีนโดยตรง นี้ยังไม่รวมไปถึงผู้ติดตามข่าวชาวต่างชาติทั่วโลก เวลาเกิดเหตุอะไรแบบนี้ ไม่มีใครจะมานั่งสนใจดูในรายละเอียดหรอกครับ ว่ามันเป็นส่วนไหนของระบบเครือข่ายรถไฟจีน เป็นรถความเร็วสูงหรือความเร็วต่ำ เวลาเป็นข่าวก็ย่อมต้องเสียหายไปหมด ผมได้มีโอกาสเข้าไปดูตามห้องโพสต์ข่าวและแสดงความเห็นในเว็ปไซต์ต่างๆ เห็นได้อย่างชัดเจนว่างานนี้ทางการจีน โดยเฉพาะทบวงการรถไฟจีน โดนถล่มแบไม่มีเหลือ
                 เฉพาะหน้าที่โดนถล่มไปเรียบร้อยแล้วคือผู้บริหารของการรถไฟจีน หลังเกิดเหตุเพียงสองวัน ประเมินจากความเสียหายและเสียงบริภาษของสาธารณชนชาวจีนแล้ว รัฐบาลที่ปักกิ่งได้สั่งปลดเจ้าหน้าที่ระดับสูงออกยกแผง แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะดูเหมืองเสียงวิจารณ์ก็ยังคงทวีเพิ่มขึ้นทุกวัน ผลกระทบที่ตามมาทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง หลังเปิดทำการวันจันทร์ ตลาดหุ้นจีนก็ล่วงลงมารับข่าวซ้ำสองหลังจากที่ถูกผลกระทบมาจากข่าวภาวะหนี้สินของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาก่อนหน้ารอบหนึ่งแล้ว รัฐบาลจีนเองทราบดีว่างานนี้ต้องเกิดผลกระทบรุนแรงแน่ ลำพังเพียงปลดผู้บริหารอาจไม่เพียงพอ หลังเกิดเหตุไม่นานก็มีคำสั่งจากปักกิ่งให้ตรวจสอบระบบรักษาความปลอดภัยเส้นทางและการทำงานของขบวนรถไฟความเร็วสูงทั้งเครือข่าย ที่ต้องยกเครื่องใหม่หมด มีผลมาตั้งแต่เมื่อวันจันทร์ต้นสัปดาห์ แม้ว่าจีนจะพยายามเร่งให้เปิดเดินรถบนเส้นทางสายที่เกิดอุบัติเหตุแล้วก็ตาม หากอ่านเนื้อหาจากบทบรรณาธิการในหนังสือพิมพ์เหรินหมิงฉบับออนไลน์ของจีน ว่ากันว่าขณะนี้ผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลจีน อาจกำลังตัดสินใจว่าควรจะชะลอแผนการขยายระบบเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงของจีน เพื่อให้มีเวลาในการพัฒนาระบบให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
                 แต่ที่ดูเหมือนน่าเป็นห่วงมากกว่าคงจะเป็นผลกระทบที่เกิดนอกประเทศ โดยเฉพาะแผนการขยายเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมต่อภูมิภาคของจีนกับอาเซียน หากดูจากเสียงสะท้อนในสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ของภูมิภาคนี้ แม้การเสนอข่าวอุบัติเหตุในจีนจะเป็นไปแบบเห็นอกเห็นใจ แต่ก็มีหลายคอลัมน์ที่เริ่มวิพากษ์วิจารณ์ความน่าเชื่อถือในเทคโนโลยีของจีน เว็ปไซต์หลายแห่งในประเทศไทย เวียดนาม มาเลเซีย มีการเสนอบทวิเคราะห์เทคโนโลยีรถไฟจีนเปรียบเทียบกับรถไฟความเร็วสูงเจ้าเก่าอย่างญี่ปุ่น หลายความเห็นเรียกร้องให้ทบทวนโครงการต่อเชื่อมรถไฟความเร็วสูงของจีนลงมาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เลยเถิดไปถึงคำถามเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยของบรรดาสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ถนน สะพาน อุโมงค์ทั้งหลายที่รับเหมาก่อสร้างโดยบริษัทของจีน กรณีที่เป็นเรื่องราวใหญ่โตในอีกฝากฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ก็คือ เสียงเรียกร้องให้ผู้ว่ารัฐแคลิฟอร์เนียคนปัจจุบัน ทบทวนความปลอดภัยโครงการก่อสร้างสะพานใหม่ ที่รับเหมาโดยบริษัทจีน งานนี้อดีตผู้ว่าฯเทอร์มิเนเตอร์โดนไปเต็มๆ รวมทั้งบรรดาบริษัทรับเหมาก่อสร้างจีนที่ได้งานประมูลในสหรัฐฯ ก็โดนไปด้วยแบบไม่ทันตั้งตัว
                 จากที่แต่เดิมรัฐบาลจีนเน้นนโยบายการพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็ว ทำนองว่า ยิ่งเร็วยิ่งดีเพราะประเทศจีนมีงานต้องทำต้องพัฒนามาก อะไรเป็นวิธีที่จะทำให้พัฒนาได้เร็วที่สุด ก็ถือว่าเป็นแนวทางที่ดีทีสุด (อย่างที่มีคนอ้างกันว่าเป็นคำขวัญของเติ้งเสี่ยวผิง) จนขนาดเศรษฐกิจของจีนเติบโตมาเป็นที่สองของโลกแซงหน้าประเทศญี่ปุ่น จีนต้องแลกกับอะไรต่อมิอะไรไปเยอะมาก รวมทั้งมาตรฐานความปลอดภัยสาธารณะและความเสี่ยงภัยของชีวิตประชาชนชาวจีน ในฐานะผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภค มาตอนนี้เริ่มมีคนพูดกันถึงแนวทางพัฒนาแบบ ยิ่งดียิ่งเร็ว (อ้างกันว่าเป็นคำขวัญของเจียงเจ๋อหมิง) กล่าวคือ ต้องพัฒนาด้วยเทคโนโลยีที่ใหม่และดีที่สุดเท่านั้น จึงจะสามารถทำให้การพัฒนาดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว  ช่วงระยะเวลาอย่างเช่นในปัจจุบันนี้ จึงเป็นเสมือนบทพิสูจน์ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่ผลงานเดิมในยุค ยิ่งเร็วยิ่งดี กำลังปรับตัวเชื่อมต่อกับผลงานยุคใหม่แบบ ยิ่งดียิ่งเร็ว เทคโนโลยีชั้นสูงบนรากฐานที่ง่อนแง่นไม่ได้มาตรฐาน ผมไม่ได้หมายถึงเฉพาะเพียงเรื่องรถไฟความเร็วสูงเท่านั้น แต่จากที่เดินทางไปหลายมณฑลในประเทศจีนตลอดช่วงกว่า ๒๕ ปีที่ผ่านมา จีนยังมีมรดกการพัฒนาแบบ ยิ่งเร็วยิ่งดี เป็นระเบิดเวลาอีกมาก
                 เห็นว่ารัฐบาลใหม่ของไทยเราใกล้คลอดเต็มทีแล้ว นโยบายหลายเรื่องที่โฆษณาหาเสียงเอาไว้ช่วงเลือกตั้งเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศ หากทำไม่ได้ทันทีทันใด ก็อาจทำให้ชาวบ้านที่เลือกท่านมาหงุดหงิดไม่พอใจ แต่นโยบายจำนวนมาก (เช่นการถมทะเลทำเขื่อนป้องกันน้ำท่วม กทม. รถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๔ ภาค ฯลฯ) หากทำเร็วเกินไปทั้งที่โครงสร้างพื้นฐานในสังคมไม่พร้อม ก็อาจกลายเป็นมรดกบาปรอให้ต้องเก็บกวาดแก้ปัญหาต่อไปในอนาคต เรื่องแนวทาง ยิ่งเร็วยิ่งดี กับแนวทาง ยิ่งดียิ่งเร็ว ของจีนที่ผมเล่าเล่นๆ มานี้ อาจเป็นอุทาหรณ์ที่ดีเฉพาะหน้าสำหรับประเทศไทยเรา


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น