ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เหตุเกิดในซินเจียง

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
            เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผมได้เคยนำเสนอเรื่องราวปัญหาความวุ่นวายในมองโกเลียใน โดยจั่วหัวในคราวนั้นว่าอาจเป็นฟางเส้นสุดท้าย ก่อนที่ความรุนแรงจะปะทุจนเอาไม่อยู่ มาวันนี้ก็เกิดเหตุรุนแรงวุ่นวายขึ้นในมณฑลซินเจียงของจีน มณฑลขนาดมหึมากินพื้นที่เกือบ 1 ใน  6 ของประเทศจีน แต่เหตุปะทะคราวนี้จะเป็นฟางเส้นสุดท้ายของซินเจียงหรือไม่ คงต้องรอดูกันต่อไป        

                    เหตุการณ์ในซินเจียงเที่ยวนี้  เฉพาะเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมาในเขตเมืองคาซการ์ (คาสือในภาษาจีน) มีการปะทะทำร้ายกันระหว่างมุสลิมอุยเกอร์ มีผู้เสียชีวิต 14 ราย บาดเจ็บ 42 ราย (ตัวเลขยังไม่นิ่ง ไม่มีใครรู้แน่ว่าเท่าไร เพราะว่าตัวเลขที่เผยแพร่โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจีนกับตัวเลขฝ่ายประท้วงก่อเหตุยังต่างกันอยู่)แม้เมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อปี 2009 เหตุการณ์ปะทะกันระหว่างจีนฮั่นกับมุสลิมอุยเกอร์จะสูงถึงกว่า 200คน แต่ก็ไม้ได้หมายความว่าสถานการณ์รอบใหม่นี้จะเป็นเรื่องเล็ก เพราะผู้สังเกตการณ์หลายฝ่ายเชื่อว่าการปะทะเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานั้น อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เหตุการณ์จะขยายลุกลามหรือไม่อย่างไร ก็อยู่ที่ปฏิกิริยาตอบโต้ของทั้งสองฝ่ายว่าจะเข้มข้นขนาดไหน ทำนองเดียวกันกับเหตุการณ์เมื่อปี 2009 ตอนนั้นก็เริ่มต้นด้วยการวิวาทกันระหว่างจีนฮั่นกับอุยเกอร์จำนวนหนึ่ง แต่พอรัฐบาลกลางสั่งการให้ปราบเต็มที่ ยอดความเสียหายและจำนวนผู้เสียชีวิตก็พุงไปถึงกว่า 200 ราย
        ผมเองอย่างที่เรียนท่านผู้อ่านอยู่เสมอๆ ว่า คงไม่มีเจตนาจะทำหน้าที่รายงานข่าวสารเหตุการณ์ต่างประเทศแบบวันต่อวัน เพราะจะได้เจอท่านผู้อ่านก็เพียงสัปดาห์ละครั้ง ฉะนั้นที่อยากจะนำเสนอชวนคิดชวนคุยในคราวนี้ก็คือ ประเด็นสาเหตุของความขัดแย้งและแนวโน้มอนาคตระยะยาวของซินเจียง ในสายตาของคนภายนอก โดยเฉพาะพวกฝรั่ง เวลาพูดถึงมณฑลซินเจียง ก็มักจะเข้าใจว่าเป็นอะไรที่ก็ไม่ต่างไปจากมณฑลอื่นๆ ของจีน ไม่ได้มีอะไรแตกต่างกันมากนัก ทำนองว่าเมืองจีนที่ไหนๆ ก็คนจีนเดินไปเดินมาเต็มไปหมด แต่สำหรับคนที่ได้มีโอกาสสัมผัสรับรู้ใกล้ชิดสักหน่อย ก็คงพอทราบว่าเมืองจีนที่พูดๆ กันอยู่นี้ มันใหญ่มากเหลือเกิน มีความแตกต่างหลากหลายทั้งทางภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม ศาสนา ความเชื่อ ทรัพยากร ภูมิอากาศ สารพัดจะแตกต่าง แผนดินที่เรียกกันว่าประเทศจีน ปัจจุบันตามนิยามของเส้นพรมแดนรัฐชาติสมัยใหม่ จะว่าไป ก็เป็นผลสรุปของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระหว่างรัฐเล็กรัฐน้อยที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์การเมืองการสงครามกับประเทศจีนในอดีต เพิ่งจะมาหยุดนิ่งก็เมื่อกลางราชวงศ์ชิงประมาณสัก 200 ปีที่ผ่านมานี้เอง ก่อนหน้าที่มหาอำนาจตะวันตกจะเข้ามา รูปร่างหน้าตาของความเป็นประเทศจีนก็ยังไม่แน่ว่าจะชัดเจน จะว่าไปก็คล้ายๆ กับสหภาพโซเวียตในยุคหนึ่ง ใช่ว่าจะมีแต่คนที่พูดภาษารัสเซียไปทั้งหมด
         กล่าวเฉพาะชาวอุยเกอร์ในซินเจียง เมื่อไม่นานมานี้ เขตแดนความเป็นประเทศสมัยใหม่ และการลงหลักปักฐานอยู่กับที่ ก็ยังนับเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่คุ้นเคย และขัดแย้งกับวิถีชีวิตความเป็นชนเผ่าที่ยังชีพด้วยการเลี้ยงปศุสัตว์ในดินแดนแถบเอเชียกลาง ร่วมกับชนเผ่าอื่นๆ อีก 8 ชนเผ่า ต่อเนื่องมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 8 (ในยุคต้นของราชวงศ์ชิง ราชสำนักจีนถือว่า อณาจักรอุยเกอร์ในเวลานั้นเป็นประเทศราชของจีน แต่ก็ไม่ได้เข้าไปปกครองอะไรมากนัก เพราะจำเป็นต้องใช้อณาจักรอุยเกอร์เป็นรัฐกันชน เพื่อที่จีนจะได้ไม่ต้องมีปัญหากับชนเผ่าเร่ร่อนชาวเติอร์คอื่นๆ ในเอเชียกลาง ที่ลึกเข้าไปทางตะวันตก) หรือจนแม้ในโลกสมัยใหม่ เมื่อพรรคคอมมิวนีสต์จีนสถาปนาสาธารรัฐประชาชนจีนขึ้น บรรดาชนเผ่าในซินเจียงก็ยังได้รับสถานะเป็นเขตปกครองตนเองที่ค่อนข้างมีอิสระ และอย่างน้อยที่สุดก็สามารถดำรงอยู่ภายใต้ร่มธงแดงของจีนมาอย่างสงบเป็นเวลาหลายสิบปี คำถามที่เกิดขึ้น จึงอยู่ที่ว่าความรุนแรงทั้งหลายที่เกิดขึ้นในซินเจียงช่วงหลังนี้มาจากสาเหตุใด
          เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอูรุมมูฉีเมืองหลวงของเขตปกครองตนเองอุยเกอร์ซินเจียงเมื่อปี 2009 และเหตุความรุนแรงที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ทางการจีน ทั้งที่ปักกิ่งและในระดับมณฑล ระบุชัดเจนว่าเป็นการก่อการร้ายของกลุ่มคลั่งศาสนา ที่ประสงค์จะแบ่งแยกดินแดน ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีข่าวในแวดวงนักการฑูตที่กรุงปักกิ่ง กล่าวหาว่าผู้ก่อการร้ายเหล่านี้ จำนวนหนึ่งได้รับการฝึกฝนจากทางเหนือของปากีสถาน จีนยืนยันมาโดยตลอดว่าจำเป็นต้องใช้กำลังเข้าปราบปราม เพราะเป็นการกระทำของผู้ก่อการร้ายที่มีเป้าหมายทางการเมืองอันสั่นคลอนเสถียรภาพของประเทศโดยรวม
                                            อย่างไรก็ดี ข้อกล่าวหาเรื่องความต้องการแบ่งแยกดินแดน อาจยังไม่ใช่ปัจจัยพื้นฐานของปัญหาทั้งหมดที่ดำเนินอยู่ นักวิเคราะห์จำนวนมากรวมทั้งนักวิชาการของจีนเอง ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับนโยบายการพัฒนาภาคตะวันตกของรัฐบาลกลาง ที่เริ่มมาตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1980 ดูเหมือนเหตุการณ์ความไม่สงบในซินเจียงอาจมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงไม่มากก็น้อย ก่อนปี 1949 จำนวนประชากรชาวฮั่นในเมืองหลวงอูรุมมูฉีมีไม่ถึงร้อยละ 7 พอมาถึงปี 1988-1990 สัดส่วนจีนฮั่นเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 44 หลังจากเกิดสถานการณ์ความรุนแรง ประชากรจีนฮั่นในเวลานี้ลดลงอยู่ที่ประมาณร้อยละ 37  ซึ่งก็ยังถือว่าสูงมาก การอพยพย้ายถิ่นเข้าไปทำมาหากินของจีนฮั่น ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หรือเพราะแรงดึงดูดทางเศรษฐกิจ แต่เป็นไปตามแผนการพัฒนาเมืองหลักในภาคตะวันตกของรัฐบาลกลาง
                                          ความขัดแย้งทางวัฒนธรรม การแข่งขันแย่งชิงทรัพยากรช่องทางทำมาหากิน ตลอดจนผลกระทบของการพัฒนาที่กระทบต่อวิถีชีวิตตามจารีตประเพณีเดิมของชาวอุยเกอร์ มีส่วนรับผิดชอบโดยตรงต่อปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น เห็นได้ชัดว่าบรรดาผู้ประท้วงไม่ได้มีเป้าหมายทำลายหรือโจมตีที่ทำการของรัฐบาล แต่มุ่งเป้าไปที่ร้านรวงของเอกชนชาวฮั่น หรือสถานีตำรวจที่เกี่ยวข้องเป็นคู่กรณีความรุนแรง ผมเองเชื่อว่ารัฐบาลจีน ก็คงเข้าใจสาเหตุที่แท้จริงอยู่ แต่การเลือกที่จะใช้ความรุนแรงเข้าจัดการกับ ผู้ก่อการร้าย อาจจะสะดวกกว่าที่จะต้องมาแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่ใหญ่และแก้ลำบากกว่ามาก เช่น ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัว หรือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทว่าการ แกล้งตีโจทย์ผิดบ่อยๆ  ในกรณีแบบนี้ ระยะยาวแล้วน่าจะเป็นผลร้ายมากกว่าผลดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น