ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554

จัดอันดับมหาวิทยาลัยจีน

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                 เดือนกันยายน เป็นเดือนเปิดภาคการศึกษาใหม่ของจีน เป็นช่วงระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกับภาคการศึกษาแบบเดียวกับของตะวันตก ต่างกันเล็กน้อยก็เพียง 1 หรือ 2 สัปดาห์ มาถึงเวลานี้ใครที่จะเรียนต่อมหาวิทยาลัยไหน ต่างก็ต้องเตรียมเนื้อเตรียมตัววุ่นวาย พ่อแม่ผู้ปกครองเอง ก็พลอยวุ่นวายไปด้วย ไม่ต่างกับของประเทศไทยเรา ช่วงนี้ผมสังเกตดูในหน้าหนังสือพิมพ์ของจีน พบว่ามีข่าวสารเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยดังๆ หรือข่าวสารการศึกษาของจีนในภาพรวม ปรากฏเป็นข่าวทั้งหน้าหนึ่งและหน้าในมากเป็นพิเศษ ทำนองว่าเป็นข่าวรับเปิดเทอม เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ก็มีข่าวใหญ่ลงหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์หลักๆ ของจีนหลายฉบับ ว่าด้วยผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลก ใน 500 อันดับแรก มีมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีนติดอันดับอยู่ด้วย มากถึง 35 มหาวิทยาลัย สัปดาห์นี้ ผมก็เลยจะขออนุญาตท่านผู้อ่าน  ชวนคุยเรื่องราวเกี่ยวกับการจัดอันดับมหาวิทยาลัย และผลที่เกิดขึ้นกับแวดวงอุดมศึกษาของจีน
                 ว่ากันตามจริง การจัดอันดับมหาวิทยาลัยนั้น จะว่าเป็นเรื่องเก่า หรือจะบอกว่าเป็นของใหม่ ก็พูดได้ทั้งสองทาง มหาวิทยาลัยในยุโรปและอเมริกานั้น แต่ไหนแต่ไรมา ก็เป็นอันรู้ๆ กันอยู่ว่า ใครอยู่ในกลุ่ม 10 อันดับแรกของประเทศ มหาวิทยาลัยของไทย หรือของจีน ก็เช่นกัน  ใครเป็นใคร เก่งทางด้านไหน ดูเหมือนเป็นที่รับรู้ รับทราบกันในวงสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาจากชื่อเสียงเกียรติคุณของศิษย์เก่าผู้สำเร็จการศึกษาที่จบไป มหาวิทยาลัยไหนผลิตนายกรัฐมนตรีกี่คน ได้รางวัลมากน้อยแค่ไหน ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมีตำแหน่งใหญ่โตอย่างไร เหล่านี้ล้วนเป็นดัชนีที่สังคมหนึ่งๆ ใช้ในการจัดอันดับชื่อเสียงมหาวิทยาลัยของตน ในประเทศอย่างอเมริกา หรืออังกฤษ ฝรั่งเศส แต่ไหนแต่ไรมาผู้ที่จะสมัครเข้าศึกษาต่อก็อาศัยข้อมูลทำนองนี้ ประกอบการตัดสินใจสมัครแข่งขันเข้าเรียน ที่ไหนดังหน่อยคนก็แข่งกันมาก ที่ไหนดังน้อยนักเรียนก็แข่งขันกันน้อย เป็นเรื่องธรรมดาที่เข้าใจได้ แต่การจับเอามหาวิทยาลัยดังๆ ของแต่ละประเทศทั่วโลกมาวางแฉเปรียบเทียบบนฐานกระดานเดียวกัน แล้วบอกว่าอันดับ1 อันดับ 2 เป็นใคร หรือบอกว่าประเทศไหนมีมหาวิทยาลัยติดอันดับหนึ่งใน 100 หรือเป็นหนึ่งใน 500 มหาวิทยาลัยแรกที่ดีที่สุดของโลก ดูจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ และน่าจะมีประวัติความเป็นมาไม่ยาวนานเท่าไรนัก เป็นเรื่องของการศึกษาในฐานะธุรกิจบริการรูปแบบหนึ่ง หรืออาจกล่าวได้ว่าใหม่พอๆ กับโลกาภิวัฒน์  ในโลกการศึกษานั่นเอง แรกๆ ที่ริเริ่มทำกันก็ได้แก่พวกนิตยสารนานาชาติของสำนักฝั่งอเมริกา เช่น นิวส์วีค นัยว่าเพื่อเป็นช่องทางแนะนำสำหรับนักศึกษาที่สนใจไปเรียนต่อในต่างประเทศ ข้ามไปข้ามมาระหว่างอเมริกา ยุโรป และเอเชีย เป็นของแถม นอกเหนือจากแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว ก็แนะนำสถานที่เรียนซะด้วยเลย
ว่าเฉพาะผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มาเกี่ยวข้องกับประเทศจีนเที่ยวนี้ เป็นการจัดอันดับโดย Academic Ranking of World Universities (ARWU) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระไม่ได้มีจุดมุ่งหมายทางธุรกิจใดๆ เกี่ยวข้อง (แยกออกมาจาก Times Higher Education) เริ่มทำการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลเพื่อทำการจัดอันดับมาตั้งแต่ปี 2003 จะว่าไปแล้วก็ค่อยข้างจะเป็นการสำรวจจัดอันดับ ที่ได้รับการยอมรับในแวดวงการศึกษานานาชาติ ในรอบนี้ มหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ยังคงไล่เรียงในกลุ่มมหาวิทยาลัยฝรั่ง คือ Harvard  Stanford, MIT, Berkeley, Cambridge, Caltech, Princeton, Columbia, Chicago และ Oxford มหาวิทยาลัยจีน ที่ติดอันดับ 200 แรก มี 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน มหาวิทยาลัยชิงหัว และมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง ถัดออกไปที่รวมอยู่ในกลุ่ม 500 มหาวิทยาลัยแรกก็มี ปักกิ่ง เซี้ยงไฮ้เจียวทง ปักกิ่งซือฟ่าน ปักกิ่งหังคง (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีการบินและอาวกาศแห่งปักกิ่ง) เป็นต้น
                 การที่มหาวิทยาลัยในประเทศจีนถูกนำเข้าไปสู่กระบวนการประเมินและจัดอันดับในระดับนานาชาติเช่นนี้ ส่งผลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้หลายประการด้วยกัน ทั้งเรื่องการพัฒนา การแข่งขันกันเอง และการดิ้นรนแสวงหาความร่วมมือกับต่างชาติตะวันตก หลายเรื่องต้องถือว่าส่งผลไปในทางที่ดี แต่หลายเรื่องก็ทำให้กลายเป็นภาระของรัฐบาลและของสาธารณชน  ขออนุญาตหยิบยกผลกระทบทางลบที่คนจีนเองบ่นกันมากเป็นพิเศษมาเป็นหนังตัวอย่างสักเรื่องสองเรื่อง เรื่องแรก เวลานี้คนจีนทั่วๆ ไป ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการอุดมศึกษากำลังบ่นว่ามหาวิทยาลัยหลายแห่งที่ดังขึ้นมาจากการจัดอันดับของฝรั่ง กำลังทำตัวเป็นสถาบันเทวดา หลงลืม ละเลยว่าแท้จริงแล้วหน้าที่เป้าหมายหลักของมหาวิทยาลัย ที่มีต่อประเทศชาติและการรับใช้ประชนชน(ตามอุดมการณ์เดิม) คืออะไร เอาแต่ทุ่มเทงบประมาณแข่งขันผลิตผลงานตีพิมพ์เผยแพร่งานค้นคว้าวิจัยให้ฝรั่งอ่าน ให้ฝรั่งเอาไปใช้ประโยชน์ (ผลงานตีพิมพ์ในภาษาอังกฤษเป็นตัวชี้วัดสำคัญในการจัดอันดับ) แทนที่จะทุ่มเทกำลังให้กับการผลิตบัณฑิตออกไปรับใช้ชาติอย่างแท้จริง ตรงตามความต้องการของประเทศ เรื่องที่สอง ที่บ่นกันมาก คือ ค่าใช้จ่ายในการเรียนมหาวิทยาลัยแพงขึ้น จะเป็นผลจากการจัดอันดับหรือไม่ ผมก็ไม่กล้ายืนยัน แต่คนจีนเชื่อกันว่าเกี่ยว เพราะแย่งกันคัดนักเรียน แย่งกันทำหลักสูตรภาษาอังกฤษ เดือดร้อนไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครองต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินเพิ่ม หากต้องการให้บุตรหลานได้เรียนในมหาวิทยาลัยดัง แม้บรรดามหาวิทยาลัยที่ยังไม่ดังและยังไม่ได้ติดอันดับอะไรกับเขา ก็พลอยเก็บค่าใช้จ่ายโน่นนี่เพิ่ม อ้างว่าเพื่อให้ได้มาตรฐานระดับโลก กลายเป็นว่าเอะอะอะไรก็อ้างการจัดอันดับระดับโลกเอาไว้ก่อน
                 มหาวิทยาลัยในประเทศไทยเรา แม้ไม่ได้ติดอันดับต้นๆ ในการจัดอันดับของฝรั่งเขา แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีผลกระทบ หลายเรื่องที่เขาบ่นว่ากันในประเทศจีน เราก็มีเรื่องราวทำนองใกล้เคียงกัน ซ้ำร้ายไปกว่านั้นยังมีเรื่องประกันคุณภาพสถาบันอุดมศึกษาที่เราดำเนินการกันเอง จนสาธารณชนคนไทยทั่วไปก็งงๆ กันว่า ตกลงมหาวิทยาลัยมีไว้สอนหนังสือเด็กไทย หรือมีไว้ทำวิจัยให้ฝรั่งอ่าน เพื่อประเมินเรา เรื่องแบบนี้ก็ไม่ทราบจะว่าอย่างไร แต่ที่ชอบใจมากเป็นพิเศษ เห็นจะเป็นโรงงานผลิตกระดาษ เพราะงานประกันคุณภาพและงานประเมินทั้งหลายใช้กระดาษเปลืองดีแท้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น