ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554

T-POP ในประเทศจีน

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

              เมื่อวันอังคารสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากปั่นต้นฉบับ “คลื่นบูรพา” ส่งกองบรรณาธิการเสร็จ ผมก็ขับรถตรงไปสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อบินไปปักกิ่งตอนก่อนเพล ไม่ได้หนีไปเที่ยวที่ไหนหรอกครับ แต่เป็นการไปราชการเกี่ยวกับการประสานงานโครงการวิจัยที่ผมรับผิดชอบอยู่ อีกทั้งในโอกาสเดียวกัน ทางสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่งร่วมกับสื่อมวลชนจีน ก็ถือโอกาสเชิญให้ไปคุยเรื่องการเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง 2011 ไปครั้งนี้ถือว่าได้งานครบถ้วนแม้จะอยู่เพียงแค่ 2-3 วัน เพราะหลังจากเสร็จธุระที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งแล้ว ก็ยังได้มีโอกาสไปเยี่ยมสำนักงานตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กำลังจัดตั้งเตรียมความพร้อมของสถานที่ ใกล้จะเปิดทำการในเร็วๆ นี้ ก่อนกลับก็ยังได้แวะเยี่ยมมหาวิทยาลัยชิงหัวพร้อมทั้งให้สัมภาษณ์ที่สถานีวิทยุ CRI ภาคภาษาไทย (China Radio International หรือ วิทยุกระจายเสียงปักกิ่ง ที่เรารู้จักกันแต่เดิม ปีนี้ครบรอบ 70 ปี แล้ว) เป็นที่สนุกสนานและเป็นกันเองอย่างยิ่ง
                 เรื่องที่ผมจะชวนท่านผู้อ่านพูดคุยในสัปดาห์นี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับรายละเอียดการไปราชการของผมหรอกครับ และก็ไม่ได้เป็นประเด็นข่าวสำคัญประจำสัปดาห์ของประเทศจีน แต่เป็นผลพลอยได้จากการไปปักกิ่งคราวนี้ กล่าวคือ หลังจากการบรรยายที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งเสร็จสิ้นลง ทางผู้จัดฝ่ายมหาวิทยาลัยพาไปเลี้ยงข้าวเที่ยงพร้อมๆ กับบรรดาสื่อมวลชนที่มาเข้าร่วม ระหว่างการรับประทานอาหารเที่ยง ก็มีการแลกเปลี่ยนพูดคุยเรื่องสัพเพเหระทั่วไป ที่เกี่ยวข้องกับนครปักกิ่งและความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศจีน  หนึ่งในเรื่องราวที่คุยกัน เป็นความรู้ใหม่มากสำหรับผม คือ ผู้สื่อข่าวท่านหนึ่งได้ตั้งประเด็นขึ้นมาในวงรับประทานอาหารว่า ตอนนี้กระแสนิยมละครทีวีไทยกำลังมาแรงมากในประเทศจีน ถึงขนาดว่ามีการวิเคราะห์วิจารณ์กันในสื่อบันเทิงของจีนว่า ระดับความนิยม (T-POP หรือ Thai Pop Culture) อาจแซงหน้ากระแสละครและภาพยนต์เกาหลี (K-POP) ในเวลาอันใกล้นี้ ผมเองก็เคยได้ทราบข่าวและมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องเล็กๆ เมื่อปีสองปีมาแล้ว ว่ามีการเจรจาขอซื้อละครทีวีจากประเทศไทย ไปฉายออกอากาศในทีวีดาวเทียมของจีน 2-3 เรื่อง แต่ไม่เคยรับทราบมาก่อนว่า ในเวลาเพียงสองปีกว่าๆ ละครไทยจะไปฮิตติดจอในจีนได้ขนาดนี้ ผู้สื่อข่าวจีนท่านเดียวกันยังได้บอกให้ผมทราบว่า เวลานี้มีการจัดตั้งกลุ่มแฟนคลับดาราดังของไทยทั้งชายและหญิงจำนวนมากในประเทศจีน ทั้งที่เป็นกลุ่มแฟนคลับมาตรฐาน มีการจัดทำเว็ปไซต์หรือเว็ปบล๊อก อย่างเป็นเรื่องเป็นราว หรือประเภทที่เป็นกลุ่มเป็นชมรมพากันมาเที่ยวมากรี๊ดดาราถึงเมืองไทยก็มี ส่งผลให้ประเทศไทยดังไปด้วย โดยเฉพาะอาหารไทย และโรงเรียนสอนภาษาไทย(ประการหลังนี้ ท่านอาจารย์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่งก็ยืนยันว่าจริง)
                      หลังจากรับฟังข่าวสารว่าด้วยความดังของกระแส T-POP มาแล้ว ผมก็เลยอยู่ไม่เป็นสุข รู้สึกอยากจะสืบเสาะต่อ เท่าที่ค้นดูจากเว็ปไซต์ต่างๆ ของจีน ดูเหมือนแนวโน้มกระแสนิยมแรงจริงๆ อย่างที่รับฟังมา หากประเมินผ่านสายตาของนักวิเคราะห์ในแวดวงสื่อสายบันเทิงของจีน ดูเหมือนปัจจัยหลักๆ ที่ส่งผลดีต่อละครทีวีของไทย น่าจะแยกแยะอธิบายได้สองสามประการด้วยกัน ประการที่หนึ่ง ละครทีวีไทยรุ่นบุกเบิกที่เข้าไปในประเทศจีน เช่น “เลือดขัตติยา” เป็นการเข้าไปทำตลาด ชิมลางที่ถูกจังหวะ เพราะเป็นช่วงที่ผู้ชมหรือแฟนละครทีวีส่วนมากกำลังเบื่อและเลี่ยนละครซีรีส์จากเกาหลีเต็มที กล่าวคือ ผู้ซื้อทางจีนจงใจที่จะหาแหล่งผลิตละครทีวีใหม่ๆ เข้าไปเป็นทางเลือกให้ผู้ชมละครในประเทศจีน ตามมาด้วยระลอกที่สองของละครทีวีเช่น “แจ๋วใจร้ายกับคุณชายเทวดา” “บ่วงรักกามเทพ” “แก้วล้อมเพชร” ฯลฯ เหล่านี้ก็เข้าไปเสริมฐานผู้ชมทีวีจีนตามมณฑลต่างๆ ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น จนในตอนนี้แม้ช่องทีวีระดับชาติของจีนอย่าง CCTV ก็ยังต้องนำเข้าละครทีวีไทย เพื่อไปรักษาฐานกลุ่มผู้ชมของเขา ประการที่สอง ดารานำชาย-หญิงในละครทีวีไทยเรา ไม่ว่าจะเป็น เคน ธีรเดช, ติ๊ก เจษฎาภรณ์, แอฟ ทักษอร, ป้อง ณ วัฒน์, บี้ สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว ,อ้อม พิยดา , อั้ม อธิชาติ, บี น้ำทิพย์, แป้ง อรจิรา ฯลฯ ดูจะมีเสน่ห์ตรงสเป็คของบรรดาป้าๆ เจ๊ๆ หมวยๆ อาตี๋ อาเฮียทั้งหลายในประเทศจีน ดาราสาวก็ทำนองเดียวกัน จะด้วยความละม้ายรับกันได้ทางวัฒนธรรม หรือเพราะสเป็คมาตรฐานความสวยความหล่ออยู่ในวิถีเดียวกันก็ไม่ทราบ ทราบแต่ว่าในสายตาของผู้ชมจีน ดาราเราหล่อและสวยรับได้ง่ายกว่าของเกาหลี ประการที่สาม ผู้ชมละครทีวีชาวจีนจำนวนมาก เคยมีประสบการณ์เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ทั้งโดยตรง หรือโดยผ่านการบอกเล่าของพรรคพวกญาติพี่น้อง ทำให้ละครทีวีไทยหรือสินค้าอื่นๆ ของไทย ไม่เป็นเรื่องแปลกหน้าที่ต้องใช้เวลาในการทำตลาดยาวนานเหมือนอย่างของจากประเทศอื่นๆ โดยเปรียบเทียบแล้ว คนจีนนิยมที่จะเลือกเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยมากกว่าเพราะค่าใช้จ่ายถูกกว่าการจะเดินทางไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นหรือเกาหลี
ในวงสนทนาผมยังได้รับทราบว่า เวลานี้มีนักธุรกิจจำนวนหนึ่งแสดงความจำนงค์จะเข้ามาขอร่วมทุนกับผู้ผลิต ผู้กำกับไทยรุ่นใหม่ (นอกเหนือไปจากค่ายหลักๆ อย่าง ช่อง3 ช่อง7 ค่ายเอ็กแซ็กท์) เพื่อเพิ่มจำนวนละครที่จะส่งเข้าไปฉายในประเทศจีน แต่ปัญหาหลักคือไม่รู้จะไปติดต่อกับใครหรือหน่วยงานไหน ผมเองก็ไม่ถนัดจะเป็นนายหน้าจับคู่ธุรกิจ เรื่องแบบนี้จังหวะกำลังดี ใครที่มีหน้าที่หรือใครที่อยู่ในแวดวงนี้ คงทราบดีกว่าผมว่าควรจะต้องเร่งทำอะไรและอย่างไร ผมเองไม่มั่นใจว่าฐานผู้ชมที่ติดละครทีวีไทยมีเท่าไรในประเทศจีน แต่กระแสนิยมที่ว่ามานี้คงไม่ใช่เล็กๆ ที่สำคัญอาจฉุดเอาสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมอื่นๆ ของไทยให้ดังไปด้วย เหมือนอย่างที่ญี่ปุ่นและเกาหลีเคยประสบความสำเร็จมาแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น