ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สมุทรกรณี

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
                       นอกเหนือจากการติดตามข่าวสารประจำสัปดาห์ ที่เกิดขึ้นในประเทศจีน เพื่อนำเสนอท่านผู้อ่านในคอลัมน์นี้แล้ว ผมยังมีภาระหน้าที่ติดตามงานวิจัยใหม่ๆ ที่กำลังดำเนินการอยู่ในแวดวงวิชาการของจีน ตามภาษาคนอยู่ไม่สุข สาเหตุหลักก็เพราะอาชีพสอนหนังสือบวกกับความสนใจติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับจีนเป็นพิเศษ ข้อดีของภาระอย่างหลังนี้ ก็คือ ได้มีโอกาสรู้เห็นเรื่องราวใหม่ๆ นอกเหนือไปจากสาขาวิชาของผมเอง บางครั้งก็เผลอหลุดเข้าไปอยู่ในสาขาวิชาการ ที่ไม่คิดไม่ฝันว่าจะรู้เรื่องกับเขาได้  ในอีกด้านหนึ่ง สัปดาห์ไหนไม่มีข่าวสารที่น่าสนใจจากสื่อของจีน ผมก็มักถือโอกาสเอาข่าวความก้าวหน้าทางวิชาการของจีนเข้ามา เสียบ แทน อย่างเช่นที่กำลังจะนำเสนอท่านผู้อ่านในสัปดาห์นี้
                 จั่วหัวเรื่องไว้ว่า สมุทรกรณี คงต้องขอทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่าหมายถึงอะไร ผมเองพยายามหาคำภาษาไทยอยู่นาน โชคดีที่ได้ความอนุเคราะห์จากท่านอาจารย์ในสายวิทยาศาสตร์ทางทะเล คำว่า สมุทรกรณี นั้นกินความหมายกว้างกว่าสมุทรศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ทางทะเล เพราะผนวกเอาเรื่องทางเศรษฐศาสตร์  รัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สังคมวัฒนธรรม กฎหมาย และวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมหาสมุทรเข้าไว้ทั้งหมด  ซึ่งตรงกับเรื่องราวที่จะชวนท่านผู้อ่านคุยในคราวนี้ เราคงทราบกันดีว่าจีนนั้นมีแนวชายฝั่งยาวเหยียด จากเหนือสุดที่คาบสมุทรเกาหลี ยาวลงมาถึงเกาะไหหลำ รวม 14,500 กิโลเมตร มีผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และผลประโยชน์อื่นๆ จากท้องทะเลและเขตเศรษฐกิจที่ขยายออกไปในทะเลหลวงอีกมากมาย ที่ผ่านมานับตั้งแต่ปฏิรูปเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ จีนได้รับเทคโนโลยีและการลงทุนจากภายนอก มาพัฒนากิจการด้านนี้ เรียกว่ามากมายมหาศาล ทั้งการเดินเรือ การประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การสำรวจขุดหาแหล่งพลังงานและสินแร่ทางทะเล ฯลฯ มาบัดนี้ จีนกำลังเดินหน้ารุกเข้าไปในท้องมหาสมุทรอีกหนึ่งก้าวใหญ่ๆ
               ตั้งแต่ต้นปี 2011 จีนได้เริ่มต้นแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทางทะเล ที่สำคัญๆ ต่อเนื่องถึง 3 เขตด้วยกัน ประกอบด้วย เขตพัฒนาพิเศษเศรษฐกิจทางทะเลซานตง เขตนิคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและศูนย์วิจัยบูรณาการสมุทรกรณีเทียนจิน และเขตพัฒนาต้นแบบเศรษฐกิจทางทะเลเจ้อเจียง ทั้งหมดถูกบรรจุไว้เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒน์ฯ ฉบับที่ 12 ของจีน โดยถือว่าเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของชาติ ในการแสวงหาแหล่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจใหม่ และต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมของจีนที่อาจอิ่มตัวในเวลาอันใกล้ มาตอนนี้ จีนได้เร่งรัดปรับระบบการศึกษาและวิจัย เพื่อเตรียมทรัพยากรมนุษย์สำหรับรองรับการขยายตัวของงานวิจัยสมัยใหม่ และการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลในเขตต่างๆ เหล่านี้ และจัดอันดับผลประโยชน์ด้านต่างๆ ในทะเลและมหาสมุทรเปิด ไว้เป็นความสำคัญระดับต้นๆ ของการลงทุนและขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคตที่กำลังจะมาถึง
                   ประมาณการณ์กันว่า ในปี 2015 โครงสร้างประชากรของจีนที่ได้เปรียบเชิงแรงงานจะถึงจุดอิ่มตัวสูงสุด และหลังจากนั้น สัดส่วนแรงงานในภาคการผลิตต่อประชากรทั้งหมดจะค่อยๆ ลดลง กล่าวคือ เวลานี้ประเทศจีนยังมีความได้เปรียบเหนือประเทศอื่นๆ ในแง่ที่ว่ามีคนในวัยแรงงานในสัดส่วนที่สูงมาก แต่หลังจากปี 2015 เป็นต้นไป ประชากรในวัยแรงงานจะมีสัดส่วนที่ลดลงเรื่อยๆ ทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องหันกลับมาทบทวนกระบวนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์กันใหม่ แม้ว่าในอนาคตจะมีคนทำงานน้อยลง แต่ยังคงได้มูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ลดหรือเพิ่มมากขึ้น ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หากพิจารณาลำพังเพียงประเทศส่งเสริมการศึกษาให้สูงขึ้น จำนวนผู้สมัครเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาอาจดูเพิ่มมากขึ้นทุกปีในอัตราที่สูงถึงร้อยละ 11 ต่อปี ทว่าจำนวนบัณฑิตที่หางานทำได้จริงเมื่อสำเร็จการศึกษา กลับไม่ได้เพิ่มมากตามไปด้วย โดยเฉพาะในมณฑลแถบชายฝั่งตะวันออกของประเทศ จำนวนบัณฑิตว่างงานเกินกว่า3 ปี หลังสำเร็จการศึกษา มีมากถึงเกือบร้อยละ 20 ที่หางานได้ภายในสามปี ก็ไม่แน่นักว่า ได้ทำงานตรงกับที่เรียนมา หรือได้เงินเดือนค่าจ้างมากเท่าใด คุ้มไม่คุ้มกับการลงทุนในช่วงอุดมศึกษาหรือไม่ หนทางเดียวที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ ก่อนที่จำนวนแรงงานโดยรวมของจีนจะลดลง ก็คือ ต้องปรับเปลี่ยนทิศทางจัดการศึกษาไปในเทคโนโลยีการผลิตทางเศรษฐกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง
                      ในอีกด้านหนึ่ง หากพิจารณาจากปัญหาขาดแคลนตำแหน่งงานหรือภาวะว่างงานที่เกิดขึ้นในมณฑลชายฝั่งตะวันออก นักวิชาการของจีนกลับพบว่ายังมีช่องทางและโอกาสใหม่ๆ อีกมากมายซึ่งรอคอยการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในทะเล ไม่ว่าจะเป็นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับทรัพยากรทางทะเล เช่น การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือ เกี่ยวข้องทางอ้อม เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ ฯลฯ มูลค่าผลตอบแทนในกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ๆ เหล่านี้ มีมากและคุ้มค่าต่อการลงทุนกว่าเมื่อเทียบกับการพัฒนาพื้นดินห่างไกลในภาคตะวันตก  ยิ่งไปกว่านั้น การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวจีนโดยรวม ตามนโยบายและแผนระยะยาวของจีน จะไม่มีทางสำเร็จลงได้ หากรัฐยังคงใช้ยุทธศาสตร์เดิมๆ ในการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในท้องที่ห่างไกลและทุรกันดาร ผลตอบแทนที่ได้ อาจช่วยเพิ่มกำลังบริโภคหรือกำลังซื้อภายในประเทศอีกเพียงเล็กน้อย เทียบไม่ได้กับการลงทุนในกิจกรรมทางเศรษฐกิจสมัยใหม่ ในพื้นที่แถบชายฝั่งที่มีประชากรหนาแน่น
                      ประเทศไทยเราเองก็มีแนวชายฝั่งทะเลยาวเหยียดพอควร แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง อาจยังไม่ได้เริ่มต้นเท่าใดนัก นอกจากทำประมงและขุดเจาะแหล่งก๊าซธรรมชาติแล้ว ความอุดมสมบูรณ์และโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ดูเหมือนยังไม่ได้ลงมือกันอย่างเต็มที่ ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าในด้านทรัพยากรมนุษย์ แค่วิทยาศาสตร์ทางทะเล เราได้พัฒนาไปถึงไหนแล้ว ดีไม่ดีอาจต้องมองให้ไกล หรือไกลกว่าที่จีนกำลังเร่งทำกันอยู่ อย่าให้ต้องอับอายกัมพูชาในอนาคตเลยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น