ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

คำให้การของนักศึกษาไทย

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
           
           มาถึงศักราชนี้ ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านส่วนใหญ่คงทราบกันดีว่าความนิยมส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อในประเทศจีน ได้กลายมาเป็นกระแสนิยมที่ฮิตติดอันดับไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากระแสฮิตเรียนต่อในประเทศแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกา ตัวเลขจริงๆ จะเป็นเท่าใดนั้น ผมก็ยังไม่เคยได้วิเคราะห์ตรวจสอบอย่างเป็นจริงเป็นจัง เพราะหลายครั้งที่สอบถามคนที่เกี่ยวข้องซึ่งน่าจะมีตัวเลข ก็ได้คำตอบไม่สู้ชัดเจนเท่าไรนัก ที่พออาศัยได้ก็เป็นตัวเลขของสถานทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง จำนวนรวม 13,177 คน ซึ่งเป็นตัวเลขทางการของนักเรียนและนักศึกษาไทยในปีการศึกษา 2553-2554 นี้ (เทียบกับปี 2552-2553 อยู่ที่ 11,397 คน) แต่ยังเชื่อกันว่ามีนักเรียนไทยที่ไปทดลองเรียนภาษา หรือกลุ่มนักศึกษาโครงการแลกเปลี่ยนหรือโครงการศึกษาสองสถาบัน ที่ส่งนักศึกษาไปเรียนกับมหาวิทยาลัยคู่สัญญาในประเทศจีนต่อเนื่อง 1 ภาคการศึกษา หรือหลายแห่งก็ส่งไป 1 ปีการศึกษา ตัวเลขชุดหลังนี้เชื่อกันว่าน่าจะมีจำนวนไม่น้อยไปกว่าตัวเลขการไปศึกษาต่ออย่างเป็นทางการตามข้อมูลของสถานทูตไทย
                       แต่เรื่องที่ผมจะชวนท่านผู้อ่านพูดคุยในวันนี้ ไม่ใช่เรื่องชักชวนกันส่งลูกหลานไปเรียนเมืองจีน แต่กำลังจะนำเสนอภาพสังคมจีนสมัยใหม่ที่ปรากฏสะท้อนผ่านสายตาของนักเรียนนักศึกษาไทย ด้วยประจวบเหมาะว่าช่วงนี้ เป็นช่วงปิดเทอมในจีน นักศึกษาไทยจำนวนมากกำลังเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้าน จะกลับไปเรียนหนังสืออีกครั้งก็ตอนประมาณเดือนกันยายน เฉพาะช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสพบพูดคุยกับนักศึกษาไทย (หรือจะให้ฟังดูเก๋หน่อย ก็นักเรียนนอกจากประเทศจีน) หลายต่อหลายคนด้วยกัน หากเป็นเมืองไทยเราสมัยโบราณ ใครที่ไปนอกไปนากลับมา หรือเป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาใหม่ ก็ต้องเรียกตัวมาสอบถามเรื่องราวบันทึกเป็นจดหมายเหตุเอาไว้ ทำนองว่าจะได้ใช้เป็นข้อมูลการข่าวจากภายนอก เนื่องจากในสมัยโบราณ การไปมาต่างประเทศยังเป็นเรื่องลำบากไม่ปกติธรรมดาอย่างทุกวันนี้ ผมก็เลยถือโอกาสนำเอาประเด็นส่วนใหญ่ที่ได้พูดคุยกัน มาเรียบเรียงเป็นจดหมายเหตุเล็กๆ จากคำให้การของบรรดานักศึกษาที่ได้พบปะ สาระก็พอสรุปได้เป็นสามเรื่องหลักๆ คือ
เรื่องที่หนึ่ง ทุกคนยอมรับว่าจีนเจริญเติบโตขึ้นอย่างมาก มากจนนักศึกษาเหล่านี้ตกใจ ไม่ได้คิดมาก่อน หลายคนรู้สึกน้อยใจในตอนแรก เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองเกลี้ยกล่อมให้ไปเรียนต่อในประเทศจีน ส่วนใหญ่ก็จะรู้สึกว่าอยากไปยุโรปหรืออเมริกามากกว่า แต่พอไปอยู่ในประเทศจีนจริงๆ จึงได้ตระหนักว่าผู้ปกครองและตัวเองตัดสินใจไม่ผิด เกือบทุกคนที่ผมได้คุยด้วยเห็นความสำคัญของจีนที่จะมีต่อระบบเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมของโลก รวมทั้งประเทศไทยเราก็เลี่ยงไม่พ้น การไปศึกษาในประเทศจีน จึงเป็นเรื่องที่จะทำให้เขามีความได้เปรียบ ไม่ว่าจะกลับมาทำงานทำการในอาชีพแขนงใดก็ตาม ขนาดของประเทศ ประชากร และระดับการพัฒนาทางวัตถุอย่างรวดเร็ว เป็นหัวเรื่องหลักๆของการสนทนา สะท้อนให้เห็นทัศนะที่นักศึกษาไทยเหล่านี้มีต่อประเทศจีน โดยเฉพาะกลุ่มที่เพิ่งจะไปศึกษาได้เพียงไม่นาน หลายคนบอกกับผมว่า “มันหย่ายยยย...ม๊ากกก เหมือนเอาประเทศ 6-7 ประเทศ มารวมกัน”  หรือ  “เมือง(ปักกิ่ง)มันใหญ่มาก จะข้ามไปซื้ออะไรสักอย่างก็ต้องรถไฟใต้ดินหมด”  หรือ  “สนามบินมันใหญ่จนหลงทาง เหมือนเอาสุวรรณภูมิหลายๆ อาคารมาต่อกัน”  ฯลฯ
เรื่องที่สอง ที่มีการคุยกันเยอะ คือ เรื่องการใช้ชีวิตและสภาพของสังคมจีนที่มองจากมุมของผู้ที่ต้องไปอาศัยอยู่จริงเป็นเดือนเป็นปี ไม่ใช่จากมุมมองของนักท่องเที่ยวที่มีต่อประเทศจีนอย่างฉาบฉวย นักศึกษาไทยทุกคนหลังจากที่อยู่ไประยะหนึ่ง ก็จะปรับเปลี่ยนมุมมองและปรับตัวเป็นคนท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อภาษาจีนแข็งแรงจนสื่อสารอ่านออกพูดได้คล่องแล้ว จากที่เดิมตอนไปใหม่ๆ อาจติดนิสัยสบายๆ แบบเมืองไทย กินของง่ายๆ ซื้ออาหารจากแผงลอย ดื่มน้ำจากก๊อก เพราะเข้าใจว่าสะอาดเหมือนที่การประปานครหลวงเราโฆษณาไว้ พอรู้เรื่องมากขึ้นก็จะเริ่มดำรงชีวิตแบบคนจีนแท้ตามหัวเมืองใหญ่ เริ่มสนใจข่าวลือและระมัดระวังตัวมากขึ้น ทั้งในเรื่องอาหารการกินที่ลือกันว่ามีสารพิษและสารพัดเคมีแต่งรสแต่งสีแต่งกลิ่น อันตรายจากมลพิษสารพัดด้าน ทั้งยังต้องระมัดระวังการฉ้อฉลของคนไม่ว่าเรื่องซื้อขาย หลอกลวง โฆษณา สินค้าขายตรง  ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ก็ต้องระวังดูแลของตัวเองเป็นหลัก ไว้ใจพึ่งพาใครได้ลำบาก ยืนกินของปิ้งย่างอยู่ข้างถนน (แบบที่นักท่องเที่ยวชอบทำกัน) ก็อาจโดนแก๊สหุงต้มในแพงลอยระเบิดใส่ได้ สรุปจากคำให้การของเด็กไทยได้ตรงกันว่า ความเจริญที่เกิดขึ้นในประเทศจีนที่หลายต่อหลายชาติพากันทึ่งกึ่งอิจฉา กำลังนำพาให้สังคมจีนแตกแยกออกเป็น คนจนและคนรวย อย่างชัดเจน หลายกรณีที่มีข่าวทำร้ายเด็กอนุบาล ก็ลือกันว่าเป็นการกระทำอย่างจงใจที่จะระบายความแค้นของคนยากคนจนต่อลูกหลานคนรวย หรือการส่งสินค้าเกษตรที่ปนเปื้อนสารมาขายในเมือง ก็เพราะเกษตรกรในชนบทรู้สึกว่าคนในเมืองรวยแล้ว จะเจ็บจะป่วยก็มีเงินทองรักษา ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบห่วงใยคนรวยในเมืองก็ได้
เรื่องสุดท้าย ที่นักศึกษาไทยทุกคนคิดเห็นคล้ายๆกัน และถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง คือพอมองกลับมาที่ประเทศไทยบ้านแท้ๆ ของเขาแล้ว เขาบอกเหมือนๆ กันว่า”เป็นห่วงอนาคตประเทศไทย” เราจะอยู่กันอย่างไรในอีก10-20 ปี ข้างหน้า ท่ามกลางการไหลทะลักของ ทุน แรงงาน (ผู้ประกอบการ ) และวัฒนธรรมของจีน ที่กำลังโถมออกทุกทิศทาง  ผู้ใหญ่ทั้งหลายคงต้องเลิกทะเลาะทุบตีกัน แล้วหันมาช่วยกันตอบคำถามของเด็กนักศึกษาชาวไทยเหล่านี้ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น