ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันศุกร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2556

ทางด่วนสู่มหาสมุทรอินเดีย

             รองศาสตราจารย์ พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งของเมื่อปลายปีที่แล้ว เชื่อว่าท่านผู้อ่านที่รักคงยังพอจำกันได้ ข่าวเรื่องรัฐบาลพม่าจับตัวจ้าวหน่อคำ ซึ่งว่ากันว่าอยู่เบื้องหลังการสังหารลูกเรือชาวจีนในลำน้ำโขง13ศพ (ขัดแย้งเรื่องยาเสพติด?) มาในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ศาลพม่ามีคำสั่งตัดสินโทษประหารไปเรียบร้อย นับตั้งแต่นั้นมากองทัพพม่าก็ต่อยอดยุทธการรุกไล่กดดันกองกำลังเอกราชคะฉิ่น (KIA)ในรัฐฉาน ยืดเยื้อมาจนทุกวันนี้ หน่วยงานความมั่นคงของชาติตะวันตกส่วนใหญ่ วิเคราะห์กันว่าจีนน่าจะมีส่วนอยู่ในเรื่องนี้ไม่มากก็น้อย เพราะหากจะว่ากันไปแล้ว ตลอดแนวพรมแดนป่าเขาต่อเนื่องระหว่างจีนกับพม่ากว่า2,400กิโลเมตร ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของการออกสู่ทะเลของจีน มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของมณฑลตะวันตกของจีน โดยเฉพาะยูนนานและเสฉวน ที่ผ่านมาจีนมีบทบาทอย่างมากในการผลักดันให้เกิดการเจรจาระหว่างพม่าและชนกลุ่มน้อยต่างๆ เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับภูมิภาคแถบนี้ หรืออีกนัยหนึ่งเพื่อเปิดเส้นทางที่ปลอดภัยสำหรับประโยชน์ทางเศรษฐกิจจีนนั้นเอง ทว่าดูเหมือนกองกำลัง KIA อาจเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ยังดื้อและมีเรี่ยวแรงพอจะต้านทานการกวาดล้างของทหารพม่า

มาเวลานี้ การต่อสู่บริเวณป่าเขาชายแดนระหว่างพม่า-ยูนนาน-ลาว ดูจะดุเดือดหนักยิ่งกว่าครั้งใดๆ การระดมอาวุธหนักของรัฐบาลพม่าเข้าสู่พื้นที่ ทำให้จุดปะทะของทั้งสองฝ่ายกระจายครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางกว่าทุกครั้ง เมื่อเดือนที่ผ่านมา ทางการพม่าได้ส่งปืนใหญ่และเครื่องบินติดอาวุธหนักเข้าโจมตีที่มั่นของฝ่ายคะฉินพร้อมๆกันถึง5จุด ส่งผลให้มีการอพยพเคลื่อนย้ายผู้คนของฝ่ายคะฉิ่นและชนกลุ่มน้อยกะเหรี่ยงจากพื้นที่รอยต่อชายแดน เข้าไปในพื้นที่ทางตอนใต้ของมณฑลยูนนานหลายพันคน กลายเป็นว่าตอนนี้รัฐบาลจีนเองเริ่มเป็นห่วงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนและภาระปัญหาผู้อพยพข้ามชายแดน จะต้องตามมาในเวลาไม่ช้านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นักวิเคราะห์ฝ่ายจีนส่วนใหญ่มองว่าพัฒนาการกวาดล้างกลุ่มอิทธิพลชายแดนเหล่านี้ อาจส่งผลดีในระยะยาว กล่าวคือสามารถสร้างเสถียรภาพให้กับชายแดนและส่งเสริมกิจกรรมการพัฒนาทางเศรษฐกิจระหว่างจีน-พม่า เชื่อมต่อยุทธศาสตร์ทางด่วนสู่มหาสมุทรอินเดียของจีน ทว่าในอีกด้านหนึ่ง นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์วิทยาไม่น้อย อาจไม่ได้มองโลกในแง่ดีอย่างกลุ่มแรกก็เป็นได้

ในปีค.ศ.2009 นักวิชาการ James C. Scott (ศาสตราจารย์ชื่อดังด้านรัฐศาสตร์และมานุษยวิทยาจาก Yale เจ้าของผลงานขั้นเทพเช่น The Moral Economy of the Peasant และ Weapons of the Weak)ได้นำเสนอในหนังสือชื่อ The Art of Not Being Governed (หรือศิลปะแห่งการไม่ถูกปกครอง) ว่าพื้นที่รอยต่อยาวเหยียดจากดินแดนธิเบต ต่อเนื่องข้าม6ประเทศ จนถึงดินแดนที่ราบสูงตอนเหนือของเวียตนาม(Scott เรียกชื่อสมมุติว่าดินแดน “Zomia”) เป็นพื้นที่พิเศษ เป็นดินแดนที่ผู้คนต่างชนเผ่ามากมาย เคลื่อนย้ายข้ามไปมาในท่ามกลางป่าเขาและที่ราบสลับซับซ้อน ใช้ชีวิตแบบอิสระรอดพ้นจากการยืดครองหรือถูกผนวกรวมกับมหาอำนาจในภูมิภาค ตลอดช่วงระยะเวลากว่าหนึ่งพันปี โดยเอกลักษณ์เฉพาะของพื้นที่ ไข้ป่าและโรคภัยเขตป่าชื้น และความหลากหลายของชนเผ่าที่ยากต่อการเข้ายึดครองครอบงำอย่างถาวร มหาอำนาจในภูมิภาคอย่างจีน พม่า และเวียตนาม หรือแม้มหาอำนาจโลกอย่างอังกฤษหรือฝรั่งเศสในยุคอาณานิคม ต่างได้เคยพยายามและล้มเหลวกันมาแล้ว(จีนในสมัยราชวงศ์หยวนของมองโกล และสมัยราชวงศ์ชิง ต่างก็เคยส่งกองทัพหลวงเข้าปราบปราม แต่แพ้กลับมาทั้งคู่) การยึดโยงและต่อรองเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ที่พิเศษกว่าชนกลุ่มน้อยในดินแดนอื่นๆ เป็นเสมือนเครื่องมือพิเศษที่ทำให้ผู้คนในแถบนี้ ยืนหยัดอยู่ได้ระหว่างตะเข็บรอยต่อของรัฐชาติและมหาอำนาจต่างๆ แม้ในบางห้วงเวลาทางประวัติศาสตร์ช่วงคริสต์ศตวรรษที่19-20 กลุ่มคนเหล่านี้อาจดูเหมือนถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของจีน พม่า หรือเวียตนาม แต่ในทางปฏิบัติ เอาเข้าจริงก็เป็นการผนวกรวมแต่เพียงในนาม อำนาจในการเข้าปกครองบังคับดูแลไม่ได้เกิดขึ้นจริงแม้แต่น้อย ยังคงเป็นการปกครองตนเองของแต่ละเผ่าชนอย่างอิสระ กิจกรรมทำเหมืองเถื่อน ลักลอบเลี่ยงภาษีจากรัฐบาลกลาง กองโจรปล้นขบวนสินค้า ยาเสพติด สงครามระหว่างชนเผาฯลฯ ยังคงดำเนินไปตามปรกติอย่างที่เป็นมานับพันปี

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จึงอาจเป็นบทพิสูจน์ ว่ากรอบความคิดและคำอธิบายแบบของ อาจารย์ Scott จะสามารถต้านกระแสการพัฒนาสมัยใหม่ที่ทุนและอำนาจจากจีน กระหน่ำเข้าใส่พื้นที่แถบนี้ได้นานเพียงใด ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีนักวิชาการมองว่า รัฐบาลจีนและพม่าคิดดีแล้วหรือที่จะมาทุมเททรัพยากรกับสงครามที่ไม่มีทางชนะ หนักกว่านั้น อาจเป็นการจุดชนวนให้เกิดความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในระดับที่สาหัสกว่าเดิม ทั้งในดินแดนพม่า และในดินแดนประเทศจีนเอง เรียกว่าได้ไม่คุ้มเสีย

ความพยายามของรัฐบาลจีนและพม่า ในการสถาปนาอำนาจรัฐที่ชัดเจน และเปิดเส้นทางเศรษฐกิจสู่มหาสมุทรอินเดียเทียวนี้ จะลงเอยอย่างไร จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามให้ความสนใจเป็นพิเศษ ผมเองโดยส่วนตัว สังหรณ์ใจยังไงพิกลอยู่ ว่าจะเกิดความวุ่นวายเดือดร้อนตามมาอย่างแน่นอน ส่วนว่าใครบ้างที่ต้องเดือดร้อน ใช่รัฐบาลพม่า รัฐบาลจีน หรือประเทศเพื่อนบ้านแบบเราๆ อันนี้ยังไม่ทราบครับ เอาแค่ตัวอย่างเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์โรฮิงยา ที่ทะเลาะกันระหว่างพม่ากับบังคลาเทศ เพื่อนบ้านแถบนี้ก็อ่วมแล้ว รับเละโดยถ่วนหน้าไปกันหมด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น