ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ความตึงเครียดระหว่างจีน-ญี่ปุ่น

             รองศาสตราจารย์ พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                เปิดรับคอลัมน์สัปดาห์นี้ ขออนุญาตกล่าวทักทายอวยพรท่านผู้อ่านที่รักทุกท่านในแบบฉบับท่านนายกฯยิ่งลักษณ์ “ซินเหนียนไคว่เล้อ” สวัสดีมีสุขวันปีใหม่จีนครับ อย่างที่เคยเกริ่นไว้แล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน ว่าคอลัมน์นี้เล่าเรื่องตรุษจีนและปรากฏการณ์เกี่ยวเนื่องกับเทศกาลตรุษจีนมาหลายรอบหลายปีแล้ว จะขอเว้นสักปีนะครับ ขอเล่าเรื่องราวที่ผมเห็นว่าน่าตื่นเต้นมากกว่าแทน เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวเล็กๆชิ้นหนึ่งซึ่งจัดว่าเป็นเรื่องสำคัญในพัฒนาการความขัดแย้งทางทะเลระหว่างจีนและญี่ปุ่น ทว่าถูกกลบไปด้วยข่าวเทศกาลตรุษจีน จนแทบไม่มีใครสนใจติดตาม ข่าวที่ว่านี้คือเหตุการณ์เผชิญหน้าอย่างใกล้ชิดของกองทัพเรือจีนและญี่ปุ่น นับเป็นเหตุการณ์น่าหวาดเสียวที่สุดตั้งแต่เริ่มกรณีพิพาททางทะเลรอบใหม่เกี่ยวกับหมู่เกาะ เตี่ยวหยู หรือเซ็นกากุ แล้วแต่ฝ่ายใดจะเรียก

                บ่ายวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โฆษกรัฐบาลญี่ปุ่นได้แถลงว่า ช่วงปลายเดือนมกราคม ในขณะที่เรือพิฆาตของญี่ปุ่นลาดตระเวนอยู่ในน่านน้ำของญี่ปุ่น ประมาณ 100 กิโลเมตร จากหมู่เกาะเจ้าปัญหา ระบบป้องกันภัยของเรือได้ตรวจพบว่าเรือของตนได้ถูกเรือรบฝ่ายจีนที่อยู่ห่างออกไปเล็กน้อย ใช้เรดาห์กำหนดตำแหน่งและตั้งพิกัดการยิงด้วยขีปนาวุธ เรียกว่าเกือบจะเข้าสู่โหมดสงครามกลางทะเล ต่อมาในวันที่6กุมภาพันธ์ ท่านนายกรัฐมนตรี ชินโซะ อาเบะ ก็แถลงยืนยันในรัฐสภาฯ ว่ามีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ข่าวดังกล่าวเป็นประเด็นใหญ่โตมากในแวดวงการทูตทั่วโลก ทางการญี่ปุ่นยังได้ให้ข้อมูลแก่นักการทูตตะวันตกในโตเกียว ว่านี้ไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่19 มกราคม จีนก็เคยใช้เรดาห์จับพิกัดเตรียมยิงเฮลิคอปเตอร์ของญี่ปุ่นที่ลาดตะเวนทางทะเลมาแล้วครั้งหนึ่ง ดีที่ว่าเหตุการณ์ล่าสุดในคราวนี้ รัฐบาลทั้งจีนและญี่ปุ่น ไม่ได้ออกมาตอบโต้ทำสงครามน้ำลายกัน คงจะด้วยเหตุผลไม่อยากให้เรื่องราวลุกลามใหญ่โต หรืออาจเพราะต่างฝ่ายต่างก็ยังอยู่ในระหว่างสืบสวนเรื่องราวสาเหตุความเป็นมาที่ยังไม่ชัดเจนนัก ว่าตกลงใครยั่วยุใครก่อน ถึงได้เกิดเรื่องเลยเถิดจนขั้นตั้งเป้าเตรียมยิงกันขึ้น (รัฐมนตรีและสส.ฝ่ายญี่ปุ่นหลายท่าน ให้ข้อสังเกตว่า เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเป็นการตัดสินใจโดยพลการของผู้บังคับการเรือฝ่ายจีน มากกว่าที่จะเป็นคำสั่งตรงจากเบื้องบน)

                    อุบัติการณ์ดังกล่าว ทำให้วงการทูตทั่วโลกวิพากษ์วิจารณ์กันมาก และทำให้ตั้งข้อสังเกตต่อโยงไปถึงสัญญาณจากปักกิ่ง โดยเฉพาะบทบาทของบรรดาผู้นำจีนรุ่นใหม่ที่กำลังจะเข้ารับตำแหน่งบริหารจริงในเวลาอีกไม่ถึงเดือนดี ท่าที่ของรัฐบาลใหม่ต่อประเด็นพิพาททางทะเลกับญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆในทะเลจีนใต้ จะพัฒนาไปในทิศทางใดในเมื่อรัฐบาลจีนเองได้โหมกระพือกระแสชาตินิยมไปก่อนหน้าเรียบร้อยแล้ว หน่วยงานศึกษาด้านความมั่นคงของออสเตรเลีย (Lowy Institute) เชื่อว่า ผู้นำใหม่ของจีน นาย สี จิ้นผิง รู้เรื่องและเกี่ยวของกับอุบัติการณ์ดังกล่าวไม่มากก็น้อย เพราะได้รับคำแนะนำจากฝ่ายความมั่นคงแห่งรัฐว่า จีนควรต้องแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวไว้ ในขณะที่ฝ่ายความมั่นคงของญี่ปุ่นก็มองไกลไปขนาดว่ารัฐบาลจีนอาจต้องการหยั่งท่าทีสหรัฐฯในฐานะพันธมิตรสำคัญของญี่ปุ่น ว่าจะมีปฏิกิริยาเช่นไร ในอีกด้านหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงตัวรัฐมนตรีหลายตำแหน่งที่เกี่ยวข้อง ในรัฐบาลสมัยที่สองของประธานาธิบดีโอบามาแห่งสหรัฐอเมริกา ก็เป็นประเด็นที่ทั้งจีนและวงการทูตจับตามอง ว่าจะช่วยคลี่คลาย หรือซ้ำเติมให้สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้น

                     อย่างไรก็ดี ในมุมมองอีกด้านหนึ่ง ก็มีนักวิชาการตะวันตกจำนวนมากเชื่อว่าสถานการณ์เผชิญหน้าครั้งใหม่นี้ ยังไม่มีความรุนแรงพอที่จะทำให้จีนและญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะสงคราม ผมขอประมวลเอาเหตุผลหลักๆจากเว็บไซต์ของนิตยสาร The Diplomat(ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการระหว่างประเทศในภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก โดยเฉพาะ) มาเล่าต่ออีกทีดังนี้  ประการแรก นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าจีนพร้อมจะทำสงครามกับญี่ปุ่นด้วยปัจจัยชาตินิยมล้วนๆ เพราะโอกาสที่กระแสชาตินิยมจะย้อนกลับมาเป็นปัญหากับพรรคคอมมิวนีสต์เองดูจะมีมากกว่า เว้นแต่ว่าข้อพิพาทเรื่องเขตแดนนี้จะพัฒนาส่งผลกระทบบ่อนทำลายเศรษฐกิจจีนอย่างชัดเจน ประการที่สอง การพึ่งพาระหว่างกันทางเศรษฐกิจของจีน-ญี่ปุ่นในปัจจุบัน อยู่ในจุดสูงสุดตลอดช่วงประวัติศาสตร์ จนยากที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะยอมปล่อยให้เกิดสงครามขึ้นได้ ประการที่สาม จีนเองยังไม่มีความมั่นใจในศักยภาพทางการทหารเพียงพอที่จะปฎิเสธความเป็นไปได้ของความพ่ายแพ้ เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีสนธิสัญญาร่วมปกป้องระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาเข้ามาเกี่ยวข้อง ลำพังเพียงกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นอาจไม่ใช่ปัญหา แต่เมื่อคำนึงถึงแสนยานุภาพของกองกำลังทางทะเลที่สหรัฐฯมีอยู่ โอกาสที่จีนจะตัดสินใจเข้าสู่สงคราม จึงแทบเป็นไปไม่ได้ ประการที่สี่ จีนยังอยู่ในระหว่างปรับสมดุลขั้วอำนาจภายใน ภายหลังการขึ้นสู่อำนาจของผู้นำรุ่นที่5 ใช่ว่าทุกอย่างจะดำเนินไปอย่างเรียบร้อย ยังมีความจำเป็นในการต่อรองและปรับตัวครั้งใหญ่รออยู่ ประการที่ห้า ในทางยุทธศาสตร์ ผู้นำทางการทหารของจีนยังมีข้อมูลไม่เพียงพอเกี่ยวกับระดับการแทรกแซงที่อาจจะเกิดขึ้นกับปัญหาความสงบภายในประเทศในยามที่เกิดสงครามกับเพื่อนบ้าน ปัญหาทางการเมืองภายในไม่ว่าจะเป็นธิเบตหรือซินเจียง ขอเพียงมีการสนับสนุนหรือแทรกแซงจากมหาอำนาจภายนอกเพียงเล็กน้อย อาจกลายเป็นความวุ่นวายทางการเมืองขนานใหญ่ จนเข้าข่าย “ชนะสงครามภายนอก แต่ไม่อาจยุติสงครามภายใน” ประการที่หก เสียงประณามและพันธมิตรภายนอก ตลอดช่วงกว่า30ปีที่ผ่านมา จีนได้รับความนิยมและยอมรับจากประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย เพราะอ้างนโยบายการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น และยืนยันไม่ใช้กำลังทหารนอกดินแดนจีน การทำสงครามกับเพื่อนบ้านอย่างญี่ปุ่น เท่ากับเป็นการสร้างความหวาดระแวงไปทั่ว และจะทำให้จีนสูญเสียพันธมิตรที่อุตสาห์สร้างสมมาไปเสียเกือบทั้งหมด

             เรื่องราวชวนคุยในสัปดาห์นี้ อาจดูหนัก และไม่เข้ากับเทศกาลตรุษจีนเท่าไรนัก ผมต้องขออภัยด้วย แต่ที่นำมาเล่านี้ก็เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่มากเรื่องหนึ่ง เฉพาะอย่างยิ่งใครที่คิดว่าสนใจเรื่องจีน ไม่รู้ไม่ได้ครับ ส่วนว่าท้ายที่สุดเรื่องนี้จะลงเอยอย่างไร ก็ต้องรอดูไป ห้ามฟันธงเด็ดขาด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น