ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

แหล่งโบราณคดีค้นพบใหม่ในปี2012

             รองศาสตราจารย์ พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                   ช่วงนี้ของหลายปีที่ผ่านมา ผมมักทำหน้าที่นำความเคลื่อนไหวที่คึกคักต้อนรับเทศกาลตรุษจีนมาเสนอท่านผู้อ่านที่รัก เกิบสัปดาห์เต็มที่ผ่านมา หน้าข่าวหนังสือพิมพ์และสื่อประเภทต่างๆของจีน มีแต่เรื่องทำนองเช่นที่ว่านี้เป็นส่วนใหญ่ การเดินทางโกลาหล ประชาชนชาวจีนเดินทางกลับบ้านเกิด อุบัติเหตุบนทางหลวงอันเนื่องมาจากการจราจรที่คับคั่งและสภาพอากาศที่เลวร้ายฯลฯ อ่านมากๆเข้าก็เบื่อครับ ซ้ำเดิมทุกปี จะมีใหม่แปลกไป ก็คงเป็นข่าวพยากรณ์ดวงดาวในช่วงตอนรับปีมะเส็งที่มาถึงเรียบร้อยแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ 4 ก.พ. 2556 ที่ผ่านมา(ปีนักษัตรจีนเปลี่ยนวันที่ 4 ก.พ.ครับ จะตรุษจีนก่อนหรือหลังไม่สำคัญ) แต่ก็ต้องขอผ่าน เพราะไม่ได้รู้สึกว่าอยากจะเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของคอลัมน์คลื่นบูรพามาทำหน้าที่ดูดวงรับปีใหม่ สัปดาห์นี้ผมก็เลยขอนำเรื่องที่แหวกแนวไม่ตรงกับเทศกาลมานำเสนอแทน
                    เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีการจัดประชุมใหญ่ประจำปี ของสมาคมนักโบราณคดีจีน อันเป็นส่วนหนึ่งของสภาสังคมศาสตร์จีนที่กรุงปักกิ่ง ในงานสัมนา ได้มีการนำเสนอผลงานการสำรวจขุดค้นแหล่งบราณคดีค้นพบใหม่ที่ขุดเจอกันในช่วงปี2012มารายงาน ในบรรดานี้มีที่เป็นการค้นพบสำคัญอยู่หลายแหล่งด้วยกัน สำหรับผมแล้วถือว่าเป็นเรื่องน่าสนใจยิ่ง(ท่านผู้อ่านที่รักจะสนใจด้วยหรือไม่ ลองอ่านดูนะครับ) เลยจะเอามานำเสนอในคราวนี้ เลือกเฉพาะที่เด่นๆมา5รายการครับ
 
           แหล่งที่ 1 เป็นการขุดค้นพบร่องรอยชุมชนยุคหินใหม่ ที่ตำบลซีหงในมณฑลเจียงซู จัดเป็นชุมชนโบราณที่น่าจะมีอายุเก่าแก่กว่า 8,000ปี ที่สำคัญมากสำหรับความรู้ทางโบราณคดีจีน ก็เพราะถือเป็นการค้นพบแหล่งโบราณคดียุคหินใหม่ครั้งแรกในตอนกลางและตอนปลายลุ่มน้ำหวยเหอ ในพื้นที่สำรวจครอบคลุมกว่า175,000ตารางเมตร พบหลุมฝังศพ92แห่ง ร่องรอยเตาไฟและจุดที่น่าจะเป็นครัวทำอาหาร26แห่ง เศษเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นภาชนะรูปทรงต่างๆกว่า400ชิ้น แยกได้เป็นกลุ่มชุมชน5กลุ่มด้วยกัน เมื่อเปรียบเทียบกับแหล่งขุดค้นยุคหินใหม่ที่เคยพบก่อนหน้านี้ในแถบตอนล่างแม่น้ำแยงซี ข้อมูลใหม่เหล่านี้จะช่วยให้นักโบราณคดีเข้าใจถึงพัฒนาการชุมชนมนุษย์ในยุคต้นของวัฒนธรรมข้าวในประเทศจีนได้ดียิ่งขึ้น
           แหล่งที่ 2 ชุมชนยุคหินใหม่ ที่ตำบลเซิ่นมู่ มณฑลส่านซี จากการขุดค้นเทียบอายุ ประมาณว่าน่าจะเก่าแก่ประมาณ4,000ปีขึ้นไป สภาพมีลักษณะเป็นเมืองขนาดย่อม ครอบคลุมพื้นที่กว่า4ล้านตารางเมตร จุดสำคัญในแง่มุมวิชาการโบราณคดีคือ จัดเป็นชุมชนยุคหินใหม่ตอนปลายที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่มีการค้นพบในประเทศจีน และให้ภาพวาระแรกเริ่มของอารยธรรมจีนยุคโบราณได้อย่างดี เชื่อมต่อกับภาพที่มีอยู่เดิมของอารยธรรม หลงซาน ยุคกลาง ที่นักโบราณคดีจีนคุ้นเคยอยู่แล้ว เมืองโบราณแห่งนี้เชื่อว่าล้มสลายลงระหว่างปี2070-1600ปีก่อนคริสตกาล ในสมัยราชวงศ์ เซี่ย จากการขุดค้นพบกำแพงเมืองสองชั้น แนวกำแพงส่วนซึ่งน่าจะเป็นพระราชวัง ประตูเมืองด้านตะวันออกที่ก่อเรียงด้วยหินขนาดใหญ่ และอาจเป็นต้นแบบซุ้มประตูก่อด้วยหินแห่งแรกของจีน
 
            แหล่งที่ 3 สุสานยุคสำริดห่างจากอำเภอ เหวินฉวน เขตปกครองตนเอง อุยเกอร์ซินเจียง ไปประมาณ41กิโลเมตร อายุราว1,800ปีก่อนคริสตกาล แม้ว่าจะเคยมีการค้นพบแหล่งโบราณคดีในลักษณะที่ร่วมสมัยใกล้เคียงกันในรัสเซีย และในคาซัคสถาน แต่แหล่งขุดค้นที่เหวินฉวนแห่งนี้ถือเป็นการค้นพบครั้งแรกในดินแดนประเทศจีน จากหลักฐานทางโบราณคดีทำใหชื่อว่าแหล่งโบราณคดีนี้ไม่ใช่ชุมชนที่อยู่อาศัย ทว่าน่าจะเป็นศูนย์กลางทางศาสนาท้องถิ่นหรือสถานที่ประกอบพิธีกรรมสำคัญของชุมชนยุคสำริดในที่ราบหุบเขา โปร์ตาลา แลพชุมชนข้างเคียง สิ่งก่อสร้างด้วยเสาหินขนาดใหญ่และสุสานที่กระจายอยู่โดยรอบ สะท้อนแบบแผนทางวัฒนธรรมยุคสำริดของเขตวัฒนธรรมเทือกเขาเทียนซาน จนถึงเดือนกันยายนที่ผ่านมา นักโบราณคดีจีนได้ทะยอยขุดพบสุสานใต้ดินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่มีอยู่อยู่ในราวศตวรรษที่19-17ก่อนคริสตกาล ช่วยให้เห็นความเชื่อมโยงกันของวัฒนธรรมเอเชียกลางและตะวันตกเฉียงเหนือของจีนได้อย่างดี

            แหล่งที่ 4  สุสานสมัย ชุนชิว ที่ตำบล อวี่สุ่ย มณฑลซานตง ในช่วงต้นปี2012 คนงานก่อสร้างทางได้ค้นพบสุสานดังกล่าวโดยบังเอิญในขณะไถดินปรับพื้นที่ การสำรวจขุดแต่งทางโบราณคดีในเวลาต่อมา ได้ทำให้พบโบราณวัตถุเครื่องสำริดศิลปะสมัยยุค ชุนชิว จำนวนมาก มีรูปม้าสำริด8ตัว รถเทียมม้าสำริด ภาชนะในพีธีกรรมสังเวยอีกหลายชิ้น ทำให้เชื่อว่าน่าจะเป็นสุสานของชนชั้นสูงในเวลานั้น งานขุดสำรวจยังคงดำเนินการต่อเนื่อง และน่าจะมีข้อมูลที่น่าสนใจทางโบราณคดีเพิ่มเติมอีกมาก
            แหล่งที่ 5  ป้อมชนเผาถูซี ในมณฑลกุ่ยโจว อายุย้อนกลับไปได้ประมาณ ปี คศ. 1127-1279 เชื่อว่าเป็นเมืองปราการของชนเผ่า ถูซี ที่ก่อตั้งขึ้นในปลายราชวงศ์ซ้อง และล้มสลายลงในช่วงปลายราชวงศ์หมิง แนวกำแพงเมืองโยรอบกว่า6กิโลเมตรที่ได้รับการขุดแต่ง ยังอยู่ในสภาพเกือบสมบูรณ์ ปรากฏแนวอาคารราชวัง ป้อมหอรบ และค่ายทหารที่ชัดเจน หลักฐานเหล่านี้ ช่วยให้นักประวัติศาสตร์จีนเข้าใจโครงสร้างการเมืองและการปกครองตลอดจนนโยบายเกี่ยวกับเมืองขึ้นของจีนได้ดียิ่งขึ้น
 
          สัปดาห์นี้เสนอเรื่อง อาจแปลกออกไปหน่อย สวัสดีปีใหม่จีน ซินเจียยู่อี่ ซินนีฮวกใช้ ครับ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น