ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556


ประชากรวัยแรงงานของจีน
รองศาสตราจารย์ พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

        ประเด็นเรื่องประชากร ไม่เพียงแต่เป็นความสนใจเฉพาะในฐานะสาขาวิชาหนึ่งของสังคมศาสตร์เท่านั้น โครงสร้างประชากรและความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้น ยังเป็นปัจจัยที่ได้รับความสนใจเฝ้าจับตาดูโดยนักวิชาการข้ามสาขาอื่นๆอีกมาก ไม่ว่าจะในสังคมศาสตร์ด้วยกันเช่น เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมวิทยา หรือข้ามกลุ่มอย่างเช่นในสาขาสาธารณสุขและการแพทย์ ยิ่งเป็นเรื่องประชากรของจันแล้ว ยิ่งเป็นที่สนใจในหมู่นักวิชาการสาขาต่างๆอย่างมาก ในคอลัมน์คลื่นบูรพานี้ ผมจำได้ว่าเคยนำประเด็นเกี่ยวกับประชากรของจีนมานำเสนอท่านผู้อ่านที่รัก อย่างน้อยก็2ครั้ง ในรอบ3ปีที่ผ่านมา
          เมื่อต้นสัปดาห์ก่อนหน้านี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนได้จัดแถลงตัวเลขผลสำรวจออกมาชุดหนึ่ง ผมไปอ่านพบเข้าก็เลยเกิดร้อนวิชา ไปค้นคว้าหาอ่านข้อมูลเพิ่มในแหล่งอื่นๆประกอบ ขออนุญาตนำมา”ปล่อยของ”ในคอลัมน์นี้ก็แล้วกัน ส่วนหนึ่งของรายงานที่ว่า ให้ข้อมูลล่าสุดและการพยากรณ์ตัวเลขสัดส่วนประชากรที่อยู่ในวัยแรงงานของจีน แสดงให้เห็นว่าในปี2012ที่ผ่านมา สัดส่วนประชากรวัยแรงงานของจีน(อายุระหว่าง15-59ปี)เมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมด มีสัดส่วนหดตัวลดลง จากที่เดิมประชากรวัยแรงงานของจีน ทั้งที่ทำงานอยู่ตามภูมิลำเนาเดิม และที่อพยพเคลื่อนย้ายไปมาหางานทำอยู่ทั่วประเทศ มีมากเพิ่มเติมทุกปี ตัวเลขของปีที่ผ่านมากลับลดลงกว่าเดิม3.45ล้านคน ในทางสถิติ จึงอาจพิจารณาได้ว่า เป็นสัญญาณบอกเหตุ ว่าอัตราการขยายตัวเติบโตของวัยแรงงานในจีน ได้มาถึงจุดสูงสุดแล้วเมื่อปี2011 และนับจากปี2012เป็นต้นไป ไม่ว่าสภาพทางเศรษฐกิจของจีนจะเป็นอย่างไร ดูเหมือนจีนกำลังขยับเคลื่อนตัวเข้าสู่ปัญหาทางประชากรรูปแบบใหม่ ที่จีนยังไม่เคยเจอมาก่อนตั้งแต่เริ่มต้นสถาปนาจีนใหม่เมื่อ1949
          อย่างไรก็ดี ความน่าสนใจของเรื่องนี้ อาจไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขว่าประชากรวัยแรงงานของจีนเพิ่มขึ้นหรือลดลงเท่าใด แต่ความน่าสนใจกลับอยู่ที่ว่า ทันที่หลังจากตัวเลขชุดนี้ถูกเผยแพร่ออกมา ก็ปรากฏมีนักวิชาการทั้งที่เป็นชาวจีนเองและที่เป็นผู้สนใจเรื่องจีนจากภายนอก พากันข้องใจถกเถียงกันเกี่ยวกับเรื่องนี้  อย่างน้อยที่สุดใน3ประการด้วยกัน ประการที่หนึ่ง วิธีการคิดตัวเลขของจีนทั้งประตูขาเข้าสู่วัยการทำงานที่อายุ15ปี และประตูขาออกจากวัยแรงงานที่อายุ59ปี จัดว่าเป็นเรื่องใหม่ เพราะการนับจำนวนสัดส่วนวัยแรงงานงานโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนที่ผ่านมาในอดีต ใช้ตัวเลขช่วงอายุ15-64ปี(ตามแบบที่นานาชาติในประเทศกำลังพัฒนาใช้กัน) แม้ของเดิมอาจไม่ได้สะท้อนภาพความเป็นจริงของสภาวะแรงงานที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะอายุประชากรขาออกจากวัยแรงงาน แต่การนับช่วงอายุแบบใหม่ ก็ใช่ว่าจะสะท้อนภาพได้ดีกว่า เพราะนับตั้งแต่การประกาศใช้การศึกษาภาคบังคับเกือบ20ปีที่ผ่านมา ประชากรจีนที่เข้าสู่วัยแรงงานจริงไม่น่าจะอยู่ที่15ปี อีกทั้งการเหมารวมว่าประชากรวัย5-14ปีในช่วงปี2005 จะทยอยเข้าสู่วัยแรงงานในปี2006-2014ตามลำดับอย่างที่ตัวเลขของสำนักงานสถิติพยายามจะบอก ก็ไม่แน่ว่าจะจริงเสมอไป เพราะยังไม่ได้หักด้วยตัวเลขการเสียชีวิตหลังวัย5ปีของประชากรจีนทั่วประเทศในแต่ละปี
           ประการที่สอง กระแสวิเคราะห์ที่นักวิชาการจำนวนหนึ่งของจีนออกมาเรียกร้องให้ทบทวนนโยบายเรื่องลูกคนเดียว อันสืบเนื่องจากรายงานตัวเลขสถิติประชากรวัยแรงงานดังกล่าวข้างต้น เป็นประเด็นโดยตรงกับภาพรวมประชากรวัยแรงงานของจีนมากน้อยแค่ไหน ประเด็นนี้ผมเข้าใจว่ามีการเถียงกันมากพอสมควร หากดูตัวเลขแบบเจาะลึก จะพบว่าประชากรจีนกลุ่มที่ถือกำเนิดนับตั้งแต่การประกาศใช้ในปี1978 มาถึงตอนนี้นับรวมแล้วเป็นประชากรจีนเกือบ1ใน3ของทั้งหมด อย่างไรก็ดี หากจะผูกเรื่องนโยบายลูกคนเดียวเขากับวิกฤตการณ์แรงงานจีน อาจเหมาะสมกว่าหากจะแยกพิจารณาจากกลุ่มอายุช่วงตั้งแต่34ปีลงมา

ประการที่สาม ตัวเลขสัดส่วนประชากรวัยแรงงานของจีนที่ประกาศเผยแพร่ล่าสุดนี้ จะสามารถนำไปใช้วิเคราะห์เรื่องภาระทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ประชากรวัยแรงงานของจีนต้องแบกรับในอนาคต มากน้อยอย่างไร ได้หรือไม่ และเมื่อใด ประเด็นนี้ก็คงกลายเป็นข้อถกเถียงใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง ประชากรกลุ่มไหนจะกลายเป็นภาระในอนาคต ประชากรกลุ่มไหนจะเป็นรุ่นที่ต้องเริ่มเข้ามารับภาระ รัฐบาลจีนควรจะเริ่มดำเนินการรองรับปัญหาเหล่านี้อย่างไรฯลฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น