ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ยุทธศาสตร์อุดมศึกษาจีน

รองศาสตราจารย์ พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                 ผมจำได้ว่าเมื่อปีที่แล้วได้เคยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับแผนพัฒนาฯฉบับที่12ของจีนในคอลัมน์นี่ไปแล้วครั้งหนึ่ง และได้เคยชี้ประเด็นว่าจีนกำลังเร่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ครั้งใหญ่ เพื่อเตรียมการสำหรับการยกระดับโครงสร้างการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการบริการ สัปดาห์นี้ได้ไปอ่านพบผลการศึกษาเกี่ยวกับการขยายตัวของอุดมศึกษาจีนจากหนังสือพิมพ์ เดอะนิวยอร์ค์ไทม์ ฉบับออนไลน์ เห็นว่าน่าสนใจ ก็เลยไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อนำมาเป็นหัวข้อชวนคุยประจำสัปดาห์นี้

                 อย่างที่ได้เคยนำเสนอไปแล้วว่า ประเทศจีนปัจจุบัน กำลังเผชิญกับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจขนานใหญ่ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมและภาคการบริการตามแผนพัฒนาฯฉบับที่12 แม้ว่าที่ผ่านมาจีนจะประสบความสำเร็จขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมาก จนก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีขนาดทางเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่สองของโลก แต่เมื่อพิจารณาจากรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรอย่างที่เป็นอยู่ จีนยังคงต้องลงแรงอีกมากในการพัฒนา หรือต่อให้จีนสามารถขยายตัวต่อเนื่องจนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก อย่างที่ได้มีการพยากรณ์กันไว้ แต่โอกาสที่จีนจะกระโดดข้ามจากการเป็นประเทศรายได้ระดับล่าง-กลาง มาเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ประชาชนมีรายได้สูง ยังดูเป็นเรื่องห่างไกลอยู่มาก ทั้งนี้เพราะที่ผ่านมา การพัฒนาและเติบโตของเศรษฐกิจจีนอาศัยการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่มีความได้เปรียบเรื่องต้นทุนสิ่งแวดล้อมต่ำค่าจ้างแรงงานราคาถูก  ชดเชยกับต้นทุนวัตถุดิบและค่าพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้สินค้าจีนสามารถเปิดตลาดได้อย่างกว้าง

                 ภายใต้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ข้อได้เปรียบในอดีตของจีน อาจกลับกลายมาเป็นจุดอ่อน เพราะตลาดที่เคยรองรับสินค้าเดิมๆจากจีน ได้สูญเสียกำลังซื้อไปมาก โอกาสที่เศรษฐกิจจีนจะสามารถขยายตัวต่อเนื่อง จึ่งอยู่ที่การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมและบริการ ไปสู่สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หากเป็นไปตามแผนนี้ จีนต้องปรับโครงสร้างกองทัพแรงงานภายในประเทศครั้งใหญ่ จากแรงงานไร้ฝีมือ มาเป็นแรงงานที่ผ่านการศึกษาและทักษะฝีมือขั้นสูง ตรงจุดนี้เองที่สถาบันอุดมศึกษาของจีนเข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องโดยตรง

               ภายใต้แผนพัฒนาฯฉบับใหม่ จีนตั้งเป้าหมายว่าจะต้องมีแรงงานฝีมือที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไปรวมไม่น้อยกว่า 195ล้านคนภายในปี ค.ศ.2020 ในการนี้รัฐบาลจีนได้ทุ่มเทเงินอัดฉีดพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ปีละ 250,000ล้านหยวน ให้กับการศึกษาในทุกระดับ อย่างไรก็ดี การพัฒนากำลังคนเพื่อเตรียมรับการปรับโครงสร้างการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและบริการนี้ รัฐบาลกลางได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมและลงทุนจัดการศึกษาเพิ่มเติม เป็นการลดภาระของภาครัฐไปส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับอุดมศึกษา ปีเป้าหมาย195ล้านคนภายในค.ศ.2020 ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ลำพังเพียงมหาวิทยาลัยจีนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ที่รับนักศึกษาได้ประมาณปีละ6.8ล้านคน คงต้องใช้เวลาอีกนานมากกว่าจะสำเร็จ และก็คงไม่เพียงพอทันกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมจีน โดยเฉพาะการผลิตบัณฑิตกลุ่มเป้าหมายในอุตสาหกรรมตามแผนฯเช่น พลังงานทดแทน เครื่องยนต์ประหยัดพลังงาน การปรับสภาพสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีสารสนเทศ เครื่องจักรกลระดับนาโน ยานยนต์ประหยัดพลังงานฯลฯ อุตสาหกรรมแนวใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงเหล่านี้ ต้องการบัณฑิตที่ได้รับการศึกษาและฝึกอบรมเป็นการเฉพาะ ศึกษาและทำงานฝึกอบรมควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมจริง การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยจีนแบบเดิมๆ ไม่สามารถตอบโจทย์และเร่งผลิตบัณฑิตกลุ่มนี้ได้

                 ในขณะเดียวกัน การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงภายในประเทศ ข้อเท็จจริงที่ว่าจีนได้ใช้เงินสะสมจำนวนมหาศาล เข้าซื้อกิจการในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ ขยายฐานการผลิตในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในต่างประเทศที่เจริญล้ำหน้ากว่าจีน ทำให้อุตสาหกรรมและธุรกิจจีนเหล่านี้ ต้องการแรงงานมีฝีมือและนักบริหารจัดการที่มีคุณภาพสูงมีความรู้ทางภาษาฯลฯ เพื่อส่งไปดูแลกิจการโพ้นทะเลของจีนอีกเป็นจำนวนมาก  ทำให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของจีนเองเกิดความจำเป็นที่ต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของตนเอง ในปัจจุบันเราจึงสามารถพบเห็นสถาบันอุดมศึกษาจำนวนมากทยอยเกิดขึ้นในประเทศจีน ทั้งที่เป็นวิทยาลัยเฉพาะทาง และที่เป็นมหาวิทยาลัยเต็มรูปแบบ ลงทุนและจัดการศึกษาโดยภาคเอกชน เพื่อป้อนแรงงานมีฝีมือเข้าสู่อุตสาหกรรมในเครือของตน ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัย Geely University ที่จัดตั้งโดยกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนในปักกิ่งโดยกลุ่มบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของจีน มีนักศึกษาร่วมทุกชั้นปี กว่า20,000คน เน้นสาขาวิชาวิศวกรรมยานยนต์เป็นหลัก นอกจากนั้นก็ยังมีมหาวิทยาลัยที่เน้นทางด้านการจัดการ ธุรกิจโรงแรม วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ที่ลงทุนและบริหารโดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ไม่เพียงเฉพาะบริษัทและอุตสาหกรรมของจีนเท่านั้นที่ต้องการบัณฑิตคุณภาพสูงตรงสายงานอาชีพ บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่เข้าไปลงทุนในจีนหรือทำธุรกิจร่วมกับจีน ต่างก็มีความต้องการแรงงานขั้นสูงในระดับปริญญาจากมหาวิทยาลัยของจีนเช่นกัน

               ตอนนี้เลยดูเหมือนจะกลายเป็นยุคทองของการอุดมศึกษาจีน ในทำนองเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นแล้วในสหรัฐอเมริกาสมัยทศวรรษที่1950 หลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงใหม่ๆ สหรัฐฯตัดสินใจทุ่มเทงบประมาณจัดการศึกษาเปิดมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เปลี่ยนนักรบทหารผ่านศึกมาเป็นบัณฑิตปริญญาตรีป้อนตลาดแรงงานให้กับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตในเวลานั้น กรณีของจีนจะเป็นอย่างไร สำเร็จหรือไม่แค่ไหน ต้องติดตามดูครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น