ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2556

นวนิยายออนไลน์

รองศาสตราจารย์ พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ มีข่าวสารเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายในประเทศจีนหลายเรื่องด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นทางการเมืองของการแสดงออกเรื่องเสรีภาพของสื่อในประเทศจีน จนเกิดการเดินขบวนกดดันผู้บริหารสำนักพิมพ์หนาน-ฟางในเมืองกวางโจว สืบเนื่องมาจากเรื่องที่ผมนำเสนอไปแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน เรื่องสภาพภูมิอากาศที่หนาวจัด เรื่องตัวเลขส่งออกของไตรมาสสุดท้ายปีที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่าที่คาดหมาย และอื่นๆอีกมาก มากจนผมตาลายเลือกไม่ถูกว่าจะนำเสนออะไรดี สุดท้ายตัดสินใจชวนท่านผู้อ่านที่รักหลบออกจากเรื่องเครียดๆ หาเรื่องเบาๆแต่น่าสนใจมาเป็นประเด็นพูดคุยในสัปดาห์นี้แทน

สักร่วมเดือนหนึ่งมาแล้ว หากจำไม่ผิด ผมไปพบข้อมูลจากเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเครือข่ายอินเตอร์เน็ตจีน(CNNIC) อันเป็นหน่วยงานการสื่อสารกลางของประเทศจีน อ้างอิงข้อมูลการสำรวจเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตของตะวันตกและของจีนเอง ปรากฏว่าเวลานี้มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตชาวจีนมากเกือบ600ล้านราย นอกจากนี้เนื้อหาภาษาจีนในโลกอินเตอร์เน็ต หรือที่เรียกกันว่าเว็บคอนเท้นท์ภาษาจีน ก็มีมากถึง1ใน4ของเว็บคอนเท้นท์ทั้งโลก(ที่เป็นภาษาอังกฤษมีอยู่ประมาณร้อยละ56) และยังคาดการณ์กันว่าด้วยอัตราการเติบโตขนาดนี้ จีนและภาษาจีนจะเป็นเจ้าของพื้นที่เว็บคอนเท้นท์ที่ใหญ่ที่สุดในเวลาอันไม่นานนี้ กิจกรรมที่ชาวเน็ตของจีนทำกันเรียงตามลำดับดังนี้ คือ อ่านข่าวสาร สืบค้นข้อมูล ดูสาระบันเทิงรูปแบบต่างๆ สื่อสารกันบนเครือข่ายสังคมออนไลน์  เช็คจดหมายอีเล็กทรอนิกส์ ซื้อขายสินค้า และชำระค่าบริการต่างๆ
ในบรรดาเว็บคอนเท้นท์ทั้งหลายที่เป็นภาษาจีน ที่น่าจับตาติดตามความเติบโตเป็นพิเศษ ดูเหมือนจะเป็นเนื้อหาประเภทนวนิยายออนไลน์ ที่ว่านี้หมายถึงการนำเสนอนวนิยายใหม่ที่ผู้แต่งสมัยใหม่ใช้พื้นที่บนอินเตอร์เน็ตในการนำเสนอ และผู้อ่านก็นั่งติดตามอ่านกันที่ละตอนๆบนหน้าเว็บนั่นเอง ไม่ได้หมายรวมถึงเว็บไซต์ที่ให้บริการดาวน์โหลดหนังสือที่มีอยู่แล้ว ในรูปแบบหนังสืออีเล็กทรอนิกส์ที่มีอยู่มากมายหลายพันเว็บไซต์ทั้งโหลดฟรีและทั้งที่เสียเงินซื้อ จากข้อมูลของนิตยสารปักกิ่งรีวิวฉบับสัปดาห์ที่แล้ว เว็บไซต์ที่นำเสนอผลงานนวนิยายออนไลน์เหล่านี้ ปีหนึ่งๆสร้างรายได้ให้ทั้งเจ้าของเว็บและนักแต่งนิยายมือใหม่ เป็นจำนวนเงินไม่น้อย และดูเหมือนเติบโตเพิ่มขึ้นทุกๆปี  นักเขียนที่มีรายได้สูงสุดรายหนึ่ง คือนาย จาง-เหวย ผู้ใช้นามปากกา ถัง-เจีย-ซาน-เส้า เฉพาะสามปีที่ผ่านมาได้รับส่วนแบ่งจากรายได้โฆษณา(ที่คิดตามจำนวนครั้งของการเข้าชมเว็บ)จากเจ้าของเว็บสูงถึง 33 ล้านหยวน นี้ยังไม่นับรวมรายได้จากการที่นวนิยายของเขาได้รับการติดต่อซื้อลิขสิทธิ์ มาตีพิมพ์เป็นตัวเล่มกระดาษอีกจำนวนหลายล้าน มูลค่ารวมของเงินรายได้จากการโฆษณาในเว็บไชต์นวนิยายออนไลน์ชั้นนำ20เว็บไซต์ มีการประมาณการกันว่าน่าจะสูงกว่า 300 ล้านหยวนในปีที่ผ่านมา ส่วนแบ่งค่าโฆษณาที่จ่ายให้กับนักเขียนนวนิยายรวมกันในปีที่แล้วเฉพาะในเว็บไซต์ชั้นนำที่ว่า น่าจะไม่ต่ำกว่า 178 ล้านหยวน 

พัฒนาการของนวนิยายออนไลน์ในประเทศจีนนั้น ว่าที่จริงก็มีจุดเริ่มต้นไม่เกิน10ปี จากเว็บที่ให้บริการดาวน์โหลดหนังสือและนิยายคลาสสิกแบบฟรี ค่อยๆพัฒนามาเป็นการขายหนังสือออนไลน์ และขยับมาเป็นให้บริการดาวน์โหลดนวนิยายออนไลน์ทั้งฟรีและเสียเงิน จนเวลานี้อาจกล่าวได้ว่ากำลังกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของหนังสือเล่มมากยิ่งๆขึ้น และในเวลาเดียวกัน ก็เปิดพื้นที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับนักเขียนหน้าใหม่ให้ได้แจ้งเกิด โดยไม่ต้องพึ่งพาหรืออาศัยเส้นสายในการแจ้งเกิดกับสำนักพิมพ์  อย่างไรก็ดี นักเขียนนิยายออนไลน์หน้าใหม่เหล่านี้ แม้ว่าจะประสบความสำเร็จมีผู้คนติดตามอ่านงาน และมีรายได้ดีไม่แพ้อาชีพอื่น แต่ที่แตกต่างจากนักเขียนในลักษณะจารีตเดิมๆก็คือ นักเขียนหน้าใหม่เหล่านี้มักไม่เป็นที่รู้จักของสังคมในวงกว้างเท่าใดนัก ด้วยเหตุที่ว่างานเขียนนวนิยายออนไลน์เกือบทั้งหมด จะเป็นงานเขียนที่มีผู้อ่านเฉพาะกลุ่มกล่าวคือเป็นผู้อ่านที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นเริ่มต้น จนถึงคนทำงานที่อยู่ในช่วงอายุไม่เกิน30ปี กลุ่มผู้อ่านเหล่านี้หากเปรียบไปแล้ว ยังถือว่าไม่ใคร่มีอิทธิพลต่อสังคมและวัฒนธรรมภูมิปัญญาของจีน ซึ่งแน่นอนว่ายังคงเป็นโลกของนักเขียนและผู้อ่านรุ่นใหญ่กว่าที่อาศัยสื่อสารเผยแพร่อิทธิพลทางความคิดผ่านงานเขียนในรูปแบบหนังสือเล่ม

 อย่างไรก็ดีหากพิจารณาในแง่บวก ในอีกไม่เกินสิบปีจากนี้ บทบาทของนักเขียนออนไลน์ นวนิยายออนไลน์ และผู้อ่านออนไลน์ ต่อสังคมและภูมิปัญญาจีน คงมีเพิ่มมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แนวโน้มนี้พิสูจน์ได้ไม่ยากจากการที่สำนักพิมพ์มาตรฐานหลายต่อหลายแห่งในประเทศจีน เริ่มจับตาดูความเคลื่อนไหวของโลกนวนิยายออนไลน์ และพร้อมที่จะฉกตัวงานเขียนและนักเขียนที่ได้รับความนิยมสูงในโลกออนไลน์ มาตีพิมพ์เป็นตัวเล่มเพื่อวางขาย ในทำนองเดียวกับปรากฏการณ์นวนิยายกำลังภายในของจีนในช่วงทศวรรษที่1960-1970 ที่มีจุดกำเนิดจากการเขียนนิยายเป็นตอนๆลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวันของฮ่องกงและไต้หวัน เพื่อกลุ่มผู้อ่านที่เป็นชายจีนวัยกลางคน จนได้รับความนิยมอย่างสูงถึงขนาดขายสิทธิ์ให้กับหนังสือพิมพ์อื่นๆในชุมชนจีนโพ้นทะเลไปพิมพ์ต่อเป็นตอนย่อยๆ ก่อนที่จะกลายมาเป็นหนังสือเล่มที่ประสบความสำเร็จมีผู้อ่านเพิ่มมากขึ้นในทุกช่วงอายุ อนาคตของนิยายออนไลน์จีนและนักเขียนออนไลน์จะเป็นอย่างไรนั้น จึงเป็นเรื่องน่าสนใจ ไม่ใช่เพียงในประเด็นของธุรกิจออนไลน์หรือธุรกิจสิ่งพิมพ์จีนเท่านั้น แต่ยังอาจกลายเป็นกระแสของสื่อทางเลือก ที่จะมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรม ความคิด และสังคมจีนในอนาคตด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น