ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันศุกร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2556

ข้อเสนอจัดทำประชามติ

รองศาสตราจารย์ พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 

จั่วหัวแบบนี้ ในคอลัมน์คลื่นบูรพา ท่านผู้อ่านที่รักซึ่งคุ้นเคยติดตามคอลัมน์นี้อยู่ คงอ่านเจตนาได้ชัดนะครับว่าต้องการโหนกระแสข่าวในประเทศ แต่จริงๆแล้วไม่เกี่ยวอะไรเลยกับประเด็นทางการบ้านการเมืองในบ้านเราแน่ๆ สัปดาห์นี้ผมจะขอชวนคุยเรื่องราวการเมืองที่กำลังก่อตัวหมาดๆ และอาจจะขยายออกเป็นเรื่องใหญ่ได้ในอนาคตอันใกล้ หากรัฐบาลจีนและพรรคฯไม่เข้ามาดูแลจัดการให้เหมาะสม เรื่องราวเป็นอย่างไร คงต้องย้อนบรรยากาศเล็กน้อย กลับไปที่การผลัดเปลี่ยนถ่ายโอนอำนาจผู้นำจีนที่เพิ่งผ่านมาสดๆร้อนๆเมื่อปลายปีที่แล้ว

         ในคราวแถลงเปิดตัวหัวหน้าคณะผู้นำสูงสุดรุ่นใหม่ ในที่ประชุมสมัชชาฯครั้งที่ผ่านมา ประโยคหนึ่งที่ได้ยินท่านผู้นำใหม่ สี จิ้นผิง กล่าวย้ำอยู่หลายรอบ คือคำว่า “สืบทอดต่อยอดการปฏิรูป-เปิดกว้าง” และก็ดูเหมือนจะสมใจอยากที่ท่านย้ำแล้วย้ำอีก เพราะตลอดช่วงปลายปีเก่าต่อเนื่องปีใหม่ สื่อมวลชนทั้งกระแสหลักของรัฐ และสื่อค่ายเสรีนิยมจีนตามหัวเมืองพัฒนาใหม่(มณฑลทางใต้และชายฝั่ง) รวมไปถึงบรรดาสื่อทางเลือกในโลกอินเตอร์เน็ต ต่างพากันตอบรับกระแสและสะท้อนกลับ เรียกร้องการปฏิรูป-เปิดกว้างรอบใหม่(หลังจากนโยบายปฏิรูป-เปิดกว้างในปลายศตวรรษที่1970)ที่ครอบคลุมกว้างขวางยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการปฏิรูปในภาครัฐ ไปๆมาๆในช่วงต้นปีใหม่นี้ ดูเหมือนรัฐบาลที่ปักกิ่งออกอาการเริ่มหนักใจ ต้องกลับมาทบทวนกันว่ากระแสตอบรับแนวปฏิรูปของภาคประชาชนกลุ่มเสรีนิยมในจีนชักจะไปไกลเกินหรือไม่

ในช่วงระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือนเต็มที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์และนิตยสารหลักๆเกือบทุกฉบับก็ว่าได้ มีคอลัมน์พิเศษวิเคราะห์ถ้อยแถลงว่าด้วยการ “สืบทอดต่อยอดการปฏิรูป-เปิดกว้าง” ไม่ทางหนึ่งก็ทางใด ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศหลายแห่ง เช่นมหาวิทยาลัยปักกิ่ง มีการจัดสัมนาทางวิชาการวิเคราะห์อนาคตประเทศจีนภายหลังการปฏิรูป-เปิดกว้างรอบที่2(2013-?) มีการประชุมทางวิชาการเกี่ยวกับการพัฒนาประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชน การปกครองแบบนิติรัฐ บทบาทที่ลดน้อยลงของพรรคฯและรัฐบาลกลาง การตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาลท้องถิ่นฯลฯ เยอะแยะไปหมดจนอาจเรียกได้ว่าขยายความไปกันใหญ่

มาเมื่อต้นสัปดาห์นี้เอง เกิดปรากฏการณ์ขยายผลที่ไม่ธรรมดาขึ้นในเครือข่ายสังคมออนไลน์ของจีน มีการส่งต่อ “ข้อเสนอเรียกร้องทำประชามติกำหนดแนวนโยบายปฏิรูป” ให้เป็นวาระแห่งชาติ ส่งต่อเผยแพร่กันอย่างกว้างขวาง ข้อเสนอดังกล่าวลงนามโดยนักวิชาการค่ายเสรีนิยมชื่อดังของจีน70กว่ารายทั้งที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย นักคิดนักเขียนชื่อดัง อันที่จริงได้เปิดเผยต่อสาธารณชนมาตั้งแต่วันที่ 26 เดือนธันวาคมปีที่แล้ว นิตยสารหัวก้าวหน้า “หนาน-ฟาง-โจว-ม้อ” (นิตยสารทักษิณสุดสัปดาห์ เป็นนิตยสารในเครือหนังสือพิมพ์ ทักษิณรายวัน หนาน-ฟาง-ยื่อ-เป้า มียอดจำหน่ายกว่า1.6ล้านฉบับทั่วประเทศ) ได้เคยนำข้อเสนอดังกล่าวลงตีพิมพ์แล้วครั้งหนึ่ง แต่ถูกทางการเข้าแทรกแซงการเผยแพร่ มาคราวนี้ เกิดกระแสส่งต่อข้อความเป็นลูกโช่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์โดยเฉพาะไมโครบล๊อกค่ายต่างๆของจีน ดูเหมือนจะเกินกำลังเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจะปิดกั้นได้ กลายเป็นประเด็นดังในวงสนทนาของคนชั้นกลางในประเทศจีนทั่วไป ลุกลามทั่วทั้งประเทศเรียบร้อยแล้ว

ข้อเสนอการทำประชามติดังกล่าว เปิดประเด็นดุเดือดเอาเรื่องอยู่ ผมขออนุญาตแปลผิดแปลถูกแบบงูๆปลาๆให้ดูเป็นตัวอย่างเฉพาะท่อนหัวดังนี้ครับ

          “.... กว่า30ปีภายหลังการปฏิรูป-เปิดกว้าง แม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศจีนจะพัฒนาก้าวหน้าอย่างใหญ่หลวง ทว่าการปฏิรูป-เปิดกว้างในภาครัฐบาล กลับไม่ได้พัฒนาก้าวทันอย่างทัดเทียม หากสิ่งซึ่งเป็นความหวังและความต้องการปฏิรูปของสังคมจีนยังถูกละเลยถ่วงช้า ไม่คืบหน้าทันความเปลี่ยนแปลง อำนาจรัฐยิ่งฟอนเฟะ สร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้นในสังคมจนถึงจุดวิกฤต ประเทศจีนก็เท่ากับได้สูญเสียโอกาสที่ดีในการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ และย่อมหลีกเลี่ยงไม่พ้นการปฏิวัติด้วยกำลัง ที่จะนำไปสู่มิคสัญญีครั้งใหญ่...”

ท่านผู้อ่านที่รัก คงเห็นพ้องกับผมนะครับ ว่าข้อเสนอดังกล่าวเปิดประเด็นดุเดือดเอาการอยู่ เรื่องแบบนี้ไม่ค่อยจะได้เห็นบ่อยนักในประเทศจีน โดยเฉพาะที่จะออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร มีคนลงชื่อด้วยเยอะแยะอย่างนี้ จะเคยมีก็เมื่อ4-5ปีก่อนครั้งหนึ่ง ที่มีการเข้าชื่อเรียกร้องให้แก้ไขความไม่เป็นธรรมทางสังคมและระบบราชการ ลงนามโดยนาย หลิว เสี่ยวปอและนักวิชาการจำนวนหนึ่ง ลงเอยด้วยการที่นายหลิว เสี่ยวปอ(ได้รางวัลโนเบลด้วย)ถูกกักขัง คนอื่นๆที่ร่วมลงชื่อ ก็ถูกคุกคามติดตาม หมดอนาคตเสียผู้เสียคนไปเลย

เนื้อหาข้อเสนอที่เผยแพร่ในคราวนี้ ออกตัวยืนยันว่าเห็นด้วยกับแนวนโยบายของนาย สี จิ้น ผิง ที่จะต้องสือทอดต่อยอดการปฏิรูป-เปิดกว้าง แต่เสนอว่าควรจะต้องทำประชามติเพื่อให้ประชาชนชาวจีนทั้งประเทศ ได้ตระหนักรับรู้ถึงความสำคัญของการปกครองในระบอบนิติรัฐ โดยยึดมั่นในรัฐธรรมนูญจีน ไม่มีใครจะใหญ่ไปกว่ากฎหมายและรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าข้าราชการหรือสมาชิกของพรรคฯ มีเพียงวิธีนี้เท่านั้นที่ประเทศจีนจะสามารถปฏิรูปให้เป็นประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน ไม่ต้องลูบหน้าปะจมูก

ยอมรับครับว่าเป็นพัฒนาการทางการเมืองที่น่าตื่นตาตื่นใจอย่างยิ่ง และน่าจับตาดูว่ารัฐบาลปักกิ่งและพรรคฯจะจัดการกับความคาดหวังครั้งใหญ่นี้อย่างไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น