ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ความสัมพันธ์ไทย-จีน 35 ปี

                
โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



                              ท่านผู้อ่านคงได้รับรู้รับทราบไม่ทางตรงก็ทางอ้อมว่าสมาคมมิตรภาพไทย-จีน รัฐสภาไทย กระทรวงการต่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมเป็นข่าวแพร่หลายไปทั่วในหน้าสื่อต่างๆ ปีนี้เป็นปีที่35แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการของสองชาติ  หากนับเอาวันที่ 1 กรกฎาคม 2518 เป็นจุดตั้งต้น วันที่ 1 กรกฎาคม 2553 ที่ผ่านมาก็จะถือว่าครบรอบ 35 ปีตามทำเนียมการทูตสมัยใหม่  ทว่า ท่านผู้อ่านต่างก็รู้ดีว่าประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติ ย้อนลึกไปไกลในประวัติศาสตร์  ไม่ว่าจะอ้างอิงจากเอกสารประวัติศาสตร์ของฝ่ายจีนหรือของชาติตะวันตก  ต่างก็ยืนยันเหมือนกันว่า ไทย-จีนเกี่ยวข้องไปมาหาสู่กันทั้งโดยการค้า วัฒนธรรม และทางการเมืองตั้งแต่ยุคสุโขทัย และดูเหมือนจะมากเป็นพิเศษในสมัยอยุธยา  มาห่างเหินกันก็เมื่อมหาอำนาจตะวันตกได้แผ่อิทธิพลมาถึงซีกโลกตะวันออกในช่วงหลัง  ตามมาด้วยปัญหาการแบ่งค่ายทางการเมืองระหว่างประเทศ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง  กว่าจะกลับมาคบค้ากันใหม่ ก็ทิ้งช่วงไปเสียเป็นเวลานาน
                 เท่าที่ลองสืบค้นดูจากสื่อของทั้งสองฝ่าย ปรากฏว่าในปีนี้มีกิจกรรมที่จะจัดร่วมกันมากมายเลยทีเดียว   ตัวอย่างเช่น  ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน-1 กรกฎาคม 2553 ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเดินทางเยือนกรุงปักกิ่งเพื่อร่วมงานเลี้ยงรับรองฉลองครบรอบ 35 ปีความสัมพันธ์ไทย-จีน ซึ่งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง จะเป็นเจ้าภาพจัดร่วมกับสมาคมมิตรภาพของจีน  ช่วงเวลาใกล้ๆกัน ระหว่าง24 มิถุนายน -1 กรกฎาคม 2553 ท่าน เตช บุนนาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะนำคณะเดินทางไปร่วมงานสัมมนาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-จีนที่นครกวางโจวและนครเซี่ยงไฮ้  ช่วงต้นกันยายน 2553 ศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะจัดสัมมนาด้านการเมือง การต่างประเทศจีน พร้อมเปิดตัวหนังสือการเมืองการปกครองจีน
                 ในประเทศจีน ที่มหานครปักกิ่ง รัฐบาลไทยก็เตรียมจัดงานไว้หลายรายการ การจัดงานเลี้ยงรับรองที่มหาศาลาประชาชนร่วมกับสมาคมมิตรภาพกับต่างประเทศของจีน(30 มิถุนายน 2553)   สัปดาห์ภาพยนตร์ไทย (ต้นเดือนกันยายน 2553) การจัดงานเทศกาลไทย (วันที่ 1-4 กรกฎาคม 2553)  ส่วนสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกวางโจว 0t,uงาน Thai Food and Fruits Festival โดยสถานกงสุลใหญ่ฯ จัดร่วมกับโรงแรม Ritz Carlton Guangzhou (อาทิตย์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม 2553) งานสัมมนาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-จีน โดยสถานกงสุลใหญ่ฯ จัดร่วมกับมหาวิทยาลัยภาษาและการค้าต่างประเทศมณฑลกวางตุ้ง (25 มิถุนายน 2553)  โครงการจัดกิจกรรมสานสัมพันธ์นักศึกษาไทย-จีน (25 มิถุนายน 2553)  งานเทศกาลสินค้าไทยร่วมกับห้างโลตัสซุปเปอร์เซ็นเตอร์ในมณฑลกวางตุ้ง (ปลายเดือนมิถุนายน 2553)  งาน Thai Food and Fruits Festival โดยสถานกงสุลใหญ่ฯ จัดร่วมกับโรงแรม Shangri-La Guangzhou (เดือนกรกฎาคม 2553)  งานเทศกาลไทยในงานกว่างโจวแฟร์ (26 -29 สิงหาคม 2553)   ปิดท้ายที่กวางโจว ด้วยพิธีวางศิลาฤกษ์ของสถานกงสุลใหญ่แห่งใหม่ (พฤศจิกายน 2553)



                 สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง  ก็มีกิจกรรมร่วมฉลองมากมายเช่น การวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างโรงพยาบาลมิตรภาพจีน-ไทย ที่นครคุนหมิง  งานเทศกาลไทย (Thai Festival) การจัดตั้งศูนย์ไทยศึกษา (Thai Studies Center) ที่ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยยูนนา การอัญเชิญพระพุทธรูป ศิลปะสุโขทัยปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก 19 นิ้ว ซึ่งองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) ได้จัดสร้างขึ้นเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2550 ไปประดิษฐานที่วัดป่าเชต์ เมืองจิ่งหง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ส่วนสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ก็มีงานเลี้ยงรับรองฉลองศาลาไทยในงาน Shanghai World Expo การสร้างศาลาไทยที่เกาะผู่โถวซานมอบให้ฝ่ายจีน  สัปดาห์ภาพยนตร์ไทย (17-18 เมษายน 2553)ส่วนสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู  โดยสำนักงานต่างประเทศจะเชิญเยาวชนไทย  ไปร่วมค่ายเยาวชนฤดูร้อนที่ฉงชิ่งและปักกิ่ง การจัดงานสัมมนาวิชาการว่าด้วย ความสัมพันธ์ไทย-จีน โดยผู้ทรงคุณวุฒิ นาย จาง จิ่วหวน อดีตเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย และ ดร. สารสิน วีระผล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ งานเปิดศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมไทย ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ นครเฉิงตู  พิธีเปิดงานเทศกาลไทย  สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซีอานจัดงานเทศกาลไทย  เชิญคณะจีนจากมณฑลกานซู่เยือนไทย สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิงจัดเทศกาลไทย (ด้านการศึกษา) โดยสถานกงสุลใหญ่ฯ จัดร่วมกับสำนักงานการค้าระหว่างประเทศ ณ นครหนานหนิง ที่ Guangxi Science & Technology Museum (11 — 12 มิถุนายน 2553)โครงการความร่วมมือการแสดงวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และ เทคโนโลยีด้านการเกษตรระหว่างไทยกับกว่างซี (เดือนกันยายน 2553 เป็นเวลา 3 อาทิตย์)  และสุดท้ายที่สถานกงสุลใหญ่ฯ ณ เมืองเซี่ยเหมิน  งานเทศกาลอาหารและวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (16-18 กรกฎาคม 2553) งานเทศกาลลอยกระทงประจำปี 2553 กิจกรรมการแข่งกีฬาของสมาคมนักศึกษาไทยมหาวิทยาลัยเซี่ยเหมินและมหาวิทยาลัยหัวเฉียว
                 พิจารณาจากปริมาณกิจกรรมทั้งหมดที่จัดโดยทั้งสองฝ่ายในตลอดทั้งปี  ผมเชื่อว่ามีเกินร้อยรายการ เป็นเครื่องยืนยันที่ดีว่า ทั้งหมดนี้ไม่ใช่การเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสสถาปนาความสัมพันธ์ครบแค่35ปี แต่เป็นผลจากความสัมพันธ์ของสองชาติ ที่มีต่อเนื่องยาวนานมาไม่ต่ำกว่าเจ็ด แปดร้อยปี  ผมเลยอยากเรียกร้องให้กระทรวงการต่างประเทศของเรา เปลี่ยนมุมมองและวิธีลำดับเวลาทางประวัติศาสตร์เสียใหม่ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนนั้น ผูกพันแน่นเหนียวมายาวนานมากว่าเจ็ดร้อยปีเป็นอย่างน้อย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น