ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ปฏิรูประบบสาธารณสุขจีน

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



                 ท่านผู้อ่านที่รักซึ่งติดตามข่าวสารต่างประเทศเป็นประจำ คงพอได้ทราบข่าวเรื่องความพยายามในการปฏิรูประบบสาธารณสุขของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในช่วงที่ผ่านมา นโยบายทางด้านการสาธารณสุขดูจะกลายมาเป็นประเด็นใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ ถึงขั้นเป็นปัจจัยได้เสียกันทางการเมืองในโลกสมัยใหม่เลยทีเดียว เรื่องสุขอนามัยและบริการรักษาพยาบาลในสังคมสมัยใหม่ ได้กลายเป็นความสนใจของสาธารณชนไม่แพ้ประเด็นนโยบายเศรษฐกิจในหลายประเทศ เห็นได้ชัดแม้แต่ประเทศไทยเราเอง เวลามีการเลือกตั้งทั่วไป หนึ่งในนโยบายหลักที่ประชาชนจับตามอง ก็ได้แก่นโยบายของพรรคการเมืองว่าด้วยการบริการด้านสาธารณสุข จะรักษาฟรีหรือไม่ฟรี ถ้าฟรีจะฟรีแค่ไหนฯลฯ
                  ประเทศจีนเองในระยะหลังนับแต่มีการพัฒนาต่อเนื่องมาร่วมสามสิบปี สังคมเปลี่ยนแปลงไปมาก รวมถึงความเปลี่ยนแปลงเรื่องการรักษาพยาบาลของผู้คนที่เริ่มจะมีปัญหาไม่เท่าเทียม ปัญหาค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงมาก ปัญหาความขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ และอื่นๆอีกมาก ในที่สุดรัฐบาลจีนโดยนโยบายของพรรคฯ ก็จำต้องตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องของประชาชน  ตัดสินใจปฏิรูประบบบริการสาธารณสุขของประเทศ ตั้งแต่เมื่อเมษายนปีที่แล้ว  โดยทุ่มงบประมาณต่อเนื่องสามปีมากกว่า8.5แสนล้านหยวน หรือประมาณเกือบห้าล้านล้านบาทไทย
                 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวเกี่ยวกับการปฏิรูประบบสาธารณสุขจีน ก็เลยมีปรากฏต่อเนื่องบนหน้าสื่อทั่วไปของจีน ในโอกาสที่ครบรอบหนึ่งปีของการปฏิรูปฯ  ประจวบเหมาะกับต้นสัปดาห์ก็มีข่าวอื้อฉาวในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งของเมืองฮาร์บิน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ที่ใช้ยาหมดอายุกับเด็กหลายราย ส่งผลให้เจ็บป่วยรุนแรงและมีเด็กเสียชีวิตอีกต่างหาก ผู้คนทั่วไปก็เลยให้ความสนใจติดตามในโอกาสครบรอบหนึ่งปีของการปฏิรูปฯ ว่าตกลงได้มรรคได้ผลมีความเปลี่ยนแปลงดีขึ้นหรือไม่แค่ไหน เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งท่านประธาน หู จิ่น-เทา และรองนายกรัฐมนตรี ลี่ เค่อ-เฉียง ต่างออกมาให้สัมภาษณ์เรียกร้องทุกหน่วยงานให้เร่งรัดกระบวนการปฏิรูประบบสาธารณสุข แต่จะด้วยความโชคร้ายของข่าวเด็กที่เสียชีวิตที่เมืองฮาร์บินหรือเปล่าก็ไม่ทราบ เสียงตอบรับจากสื่อและสาธารณชนดูเหมือนไม่ค่อยจะประทับใจในผลงานการปฏิรูปหนึ่งปีที่ผ่านมา เอาแค่เรื่องการให้บริการทางการแพทย์อย่างทั่วถึงพอเพียงเรื่องเดียว ก็สอบตกแล้วในสายตาชาวบ้าน
                 เมื่อตอนเริ่มต้นแผนการปฏิรูประบบสาธารณสุขในเดือนเมษายน2009 พรรค(โดยสภาแห่งรัฐ)และรัฐบาล ว่าที่จริงก็ได้ตั้งเป้าหมายการปฏิรูปไว้เกินไปหน่อย  ผมเองขี้เกียจจะแปลงร่างเป็นนักวิเคราะห์วิจารณ์ซึ่งก็มีอยู่เกลื่อนบ้านเต็มเมืองไปหมดแล้ว จะไม่ขอฟันธงว่าประเทศจีนทำสำเร็จหรือไม่สำเร็จอย่างไรในหนึ่งปี เอาเป็นว่าขอเล่าสู่ท่านผู้อ่านว่าเขาตั้งเป้าไว้อย่างไร แล้วในรอบหนึ่งปีนี้ทำอะไรไปบ้าง  เรื่องใหญ่เรื่องแรกที่จีนตั้งเป้าไว้ก็คือการขยายระบบประกันสุขภาพให้ครอบคลุมประชากรทั้งประเทศพันสองร้อยกว่าล้านคน ฟังดูอาจคุ้นหูคล้ายบ้านเรา  ที่ผ่านมาหนึ่งปีมีผู้คนในเขตชนบท833ล้านคน เข้าร่วมอยู่ในระบบสหกรณ์รักษาสุขภาพชนบทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ส่วนในเขตเมืองก็มีแรงงานที่เข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ400ล้านคน ส่งผลให้ในพื้นที่ชนบทบางแห่งวงเงินสิทธิประโยชน์คุ้มครองการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นเกือบหกเท่าตัวของรายได้เฉลี่ย(รายได้เฉลี่ยต่อหัวในชนบท อยู่ที่ประมาณ5,000หยวนต่อปี)  พูดง่ายๆก็คือ มีคนมาร่วมเฉลี่ยค่ารักษาพยาบาลในระบบมากขึ้น ก็เลยจ่ายได้มากขึ้น
                 เป้าหมายใหญ่ที่สองก็คือการจัดทำบัญชียาหลักในระบบพร้อมทั้งกำหนดราคากลาง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาที่จำเป็นต่อการรักษาในราคาที่พอจ่ายได้  เป้าหมายนี้ดูเหมือนจะช้าหน่อย เพราะจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีเพียงหนึ่งในสามของสถานีสาธารณสุขท้องถิ่นทั่วประเทศ ที่สามารถปรับใช้บัญชียาหลัก307รายการได้จริง ในขณะที่โรงพยาบาลชุมชนของรัฐในเขตเมืองทำได้เพียงร้อยละ45 แต่ก็ยังดีที่สามารถทำให้ราคายาโดยรวมของเขตที่เข้าโครงการแล้ว ลดลงได้ประมาณร้อยละ30
                 เป้าหมายที่สาม คือการเร่งเพิ่มจำนวนโรงพยาบาลท้องถิ่นที่ให้บริการในระดับรากหญ้าอีก5,689แห่ง หนึ่งปีที่ผ่านมาก่อสร้างหรือปรับปรุงสถานที่จนเปิดให้บริการได้แล้วร้อยละ45 ในขณะเดียวกัน รัฐบาลท้องถิ่นในแต่ละแห่งก็ได้ร่วมพัฒนาจนสามารถเพิ่มสถานีสาธารณสุขชุมชนอีกกว่าหมื่นแห่ง และสร้างคลินิกหมู่บ้านได้อีกเจ็ดหมื่นแห่ง
                 ดูจากตัวเลขทั้งข้างต้นคนไทยอย่างเราฟังแล้วคงนึกชื่นชม แต่ต้องจินตนาการนะครับว่าประเทศเขาใหญ่กว่าเรามาก ประชากรก็มากเป็นพันล้าน และที่สำคัญรวยกว่าเราเยอะ แต่แม้จะสร้างสถานีสาธารณสุขหรือคลินิกหมู่บ้านได้เพิ่มมากขึ้น ปัญหาหลักที่จีนต้องเผชิญในเวลานี้คือ ขาดบุคลากรทางการแพทย์ ในพื้นที่ชนบทส่วนใหญ่ รัฐบาลต้องใช้วิธีฝึกอบรมอาสาสมัครหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขพื้นฐานให้มาทำหน้าที่แทน และใช้ระบบส่งต่อคนไข้อาการเจ็บป่วยรุนแรงไปให้โรงพยาบาลหลักอีกที่หนึ่ง เงื่อนไขสำคัญที่การปฏิรูปจะสำเร็จหรือไม่ จึงอาจไม่ได้อยู่ที่งบประมาณ  สำหรับประเทศจีน การพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์เป็นเรื่องต้องใช้เวลา ยิ่งแพทย์ทั่วไปที่จะรักษาคนไข้ในชนบทยิ่งยาก เพราะหมอทุกคนก็ฝันอย่างจะเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ผ่าสมอง เปลี่ยนไต เปลี่ยนหัวใจ ปลูกถ่ายอวัยวะเทียม ซึ่งได้ทั้งเงินและชื่อเสียง การจะผลิตแพทย์ทั่วไปที่จะทำหน้าที่รักษาโรคหวัด โรคติดเชื้อ หรือทำแผลสดไปตลอดชีวิตในคลินิกหมู่บ้านห่างไกล เป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น