ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันเสาร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2554

เงินเฟ้อยังไม่จบ

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



                 ปลายสัปดาห์ที่แล้วจนถึงเมื่อวานนี้ ผมเชื่อว่าบรรดาท่านผู้อ่านหลายท่าน ที่มีส่วนได้เสียอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ คงตกอกตกใจกันพอสมควรทีเดียว เพราะอยู่ๆ ก็เกิดอาการ “แดงทั้งกระดาน” ติดต่อกันหลายวัน จนป่านนี้ผมก็ไม่ทราบว่าดัชนีหล่นไปกี่ร้อยจุดแล้ว ผมจำได้ว่าวันแรกที่หุ้นไทยตกเมื่อสัปดาห์ก่อน มีนักวิเคราะห์พากันบอกว่าเป็นเพราะการเมืองในประเทศ แต่พอหุ้นตกต่อกันหลายวัน ก็มีนักวิชาการบางท่านออกมาให้คำอธิบายว่านักลงทุนตกใจมาตรการการเงินของจีน ข่าวว่ารัฐบาลจีนออกมาตรการต่อเนื่องอีกหลายประการเพื่อควบคุมไม่ให้เศรษฐกิจร้อนเกิน เพราะตัวเลขการขยายตัวรวมทั้งปี 2011 ที่ผ่านมา ยังคงอยู่ที่ระดับร้อยละ10 หากไม่ยั้งๆไว้ปีนี้ก็จะร้อนแรงเกิน ผมเองต้องเรียนไว้ก่อนว่าไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ ความรู้ทางธุรกิจการลงทุนก็แทบจะไม่มี แต่ฟังคำอธิบายทั้งสองชุดแล้วก็ยังงงๆอยู่ ไม่แน่ใจว่าไปไงมาไง ถึงได้เกี่ยวข้องมาถึงบ้านเรา ผมก็เลยลองตรวจสอบ ดูข่าวสารทางประเทศจีน ว่ามีอะไรเข้าข่ายที่เขาอ้างถึงกันหรือไม่


                เท่าที่สำรวจดูที่เป็นประเด็นใหญ่ทางเศรษฐกิจของจีนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากเรื่องตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของปีที่แล้วที่ว่าสูงกว่าร้อยละ 10 ยังมีอีกเรื่องที่ใหญ่พอๆกัน คือเรื่องค่าเฉลี่ยดัชนีราคาผู้บริโภคตลอดทั้งปี 2010 ของจีน แต่ว่าตลอดปีที่ผ่านมา รัฐบาลกลางจะได้พยายามควบคุมอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม แต่ตัวเลขเฉลี่ยยังทะลุไปถึงร้อยละ 3.3 สูงกว่าที่เพดานที่คาดไว้เดิมคือร้อยละ 3  ข้อมูลนี้เองที่ทำให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบ พากันเป็นห่วงมากเป็นพิเศษ และเป็นไปได้ว่าคือเงื่อนไขที่แท้จริงของมาตรการต่างๆ ทางการเงิน ที่ทางรัฐบาลทะยอยประกาศออกมาตั้งแต่ต้นปี ตั้งแต่การขึ้นดอกเบี้ย(ซึ่งทะยอยปรับมาตั้งแต่ปีที่แล้ว) การกำหนดสัดส่วนสำรองเงินฝากของธนาคารพานิชย์ การนำเงินสำรองสกุลต่างประเทศออกมาขาย ฯลฯ แต่ดูเหมือนที่ผ่านมา มาตรการเหล่านี้ยังไม่สามารถหยุดดัชนีราคาผู้บริโภคของปีที่แล้วได้ หากสถานการณ์ยังดำเนินซ้ำรอยเหตุการณ์อย่างในปลายปีที่แล้ว ปัญหาใหญ่ที่จะตามมาก็คือเงินเฟ้อ เฉพาะอย่างยิ่งในปี 2011นี้จะเป็นปีแรกของการเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ตามแผน 5 ปีฉบับใหม่นี้ เกือบทุกมณฑลต่างก็วางเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจไว้เกินกว่าร้อยละ 50 ทั้งสิ้น นั้นแปลว่าในแต่ละปีต่างก็วางเป้าไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ฉะนั้นหากจะถามว่าอะไรคือปัญหาเศรษฐกิจระดับมหภาคของจีนในปี 2011 นี้ คำตอบที่นักวิเคราะห์ทุกสำนักในประเทศจีนเห็นตรงกันก็คือ ปัญหาเงินเฟ้อนั่นเอง


                    ผู้อำนวยการสถาบันการคลังและการวิจัยการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน ศาสตราจารย์ซิน ปิง ให้ความเห็นไว้ในเอกสารรายงานของสถาบันเมื่อกลางเดือนนี้ว่า ปริมาณเงินส่วนเกินและสินเชื่อที่หมุนเวียนอยู่ในระบบของจีนคือตัวการสำคัญของเงินเฟ้อ เฉพาะในปีที่ผ่านมามีเงินส่วนเกินและสินเชื่อหมุ่นเวียนอยู่ในระบบมากถึง 7.95ล้านล้านหยวน มากกว่าค่าเฉลี่ยระหว่างปี 2000 ถึง 2005 เกือบ 4 เท่าตัว โอกาสที่ยอดรวมสินเชื่อของปีนี้จะลดต่ำลง จึงแทบเป็นไปไม่ได้ มีแต่จะเพิ่มขึ้น เพราะทุกภาคส่วนเศรษฐกิจต่างก็ยังวางเป้าขยายตัวอยู่ทั้งหมด แรงกดดันให้เกิดเงินเฟ้อจึงต้องเพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่แล้วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


                     การเพิ่มเติมมาตรการต่างๆ เพื่อชะลอความร้อนแรงและควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่เข้มข้นขึ้น จึงเป็นปรากฏการณ์ที่จะได้เห็นกันอีกหลายรอบ ไม่ได้จบง่ายๆ อย่างที่สื่อหลายแขนงพยายามจะนำเสนอต่อสาธารณชนชาวจีน ถ้าถามว่ายังมีมาตรการอื่นอะไรอีกไหมที่รัฐบาลจีนอาจเลือกใช้โดยไม่ต้องไปกดดันธนาคารพานิชย์มากจนเกินไป ก็มีนักวิชาการบางท่านพยายามเสนอทางออกอยู่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น รองอธิบดีกรมพัฒนาการค้าและราคาสินค้า นายโจว หวางจวิน เสนอว่าหากราคาสินค้าจำเป็นพื้นฐานขยับขึ้นมากในไตรมาตรที่หนึ่ง รัฐบาลอาจจำเป็นต้องเข้าแทรกแซงราคา นอกจากนี้ก็มีผู้ที่เห็นด้วยว่าอัตราดอกเบี้ยจะเป็นคำตอบที่ได้ผลมากที่สุด(หากไม่ห่วงเรื่องเงินไหลเข้ามากจนเกินไป) หวาง ชิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำบริษัท Morgan Stanley ประเทศจีน เสนอว่าเพื่อไม่ให้นโยบาบกำหนดสัดส่วนสินเชื่อต่อการสำรองเงินฝากที่รัฐบาลจะประกาศเพิ่มขึ้นในอนาคต สร้างผลกระทบต่อธนาคารพานิชย์มากจนเกินไป รัฐบาลควรจำแนกกลุ่มธนาคารออกตามประเภทและขนาด รวมทั้งควรพิจารณากำหนดสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากสำรองที่เหมาะสมในแต่ละเดือน ให้สอดคล้องกับธรรมชาติการใช้จ่ายในกิจกรรมทางเศรษฐกิจแต่ละเดือน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทางลบจนธุรกิจบางประเภทอาจต้องหยุดชะงักหรือเสียหาย จึงจะนับได้ว่าเป็นนโยบายทางการเงินที่สามารถใช้แก้ปัญหาได้ตรงจุดและไม่สร้างความเสียหายหรือผลข้างเคียงมากจนเกินไป  กระนั้นก็ตาม ผลอย่างหนึ่งที่จะต้องเกิดขึ้นไม่ว่าจีนจะมุ่งใช้มาตรการสกัดกั้นเงินเฟ้อแบบไหนก็ตาม คือค่าเงินหยวน  ตลอดช่วง 6 เดือนหลังของปีที่แล้ว ค่าเงินหยวนต่อเหรียญสหรัฐขยับเพิ่มขึ้นเกินร้อยละ 6 ในปีนี้ยังไม่ทันจะกี่วันดี ค่าเงินหยวนก็เพิ่มค่าทะลุจุดสูงสุดในรอบ 17 ปีเป็น 6.5812หยวน/เหรียญสหรัฐเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปก็ยังเดาไม่ออก แต่ก็เป็นไปได้ว่าจีนอาจถือโอกาสนี้ทุ่มเทเงินหยวนออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น