ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันเสาร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2554

สิบข่าวดังด้านวัฒนธรรมประจำปี 2010

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


                   ก็คล้ายๆกับในประเทศไทยเรา ช่วงระยะเวลานับถอยหลังสิ้นปีเก่าต้อนรับปีใหม่อย่างนี้ บรรดาสื่อมวลชนจีนแขนงต่างๆ เริ่มนำเสนอภาพรวมของรอบปีที่ผ่านมาในรูปแบบการจัดอันดับ 10 สุดยอดข่าวดังข่าวใหญ่ แล้วแต่ว่าใครดูแลด้านไหน ก็พยายามย้อนหลังเปรียบเทียบจัดอันดับว่าที่ผ่านมาทั้งปีมีอะไรเป็นเรื่องเด่นบ้าง ฉนั้นช่วงระยะเวลานี้ หากดูจากหน้าข่าวในหนังสือพิมพ์หรือเว็ปไซต์ออนไลน์ทั้งหลายของจีน ก็จะพบการจัดอันดับ10 ยอดข่าวดังด้านโน้นด้านนี้ทะยอยปรากฏออกมา มีทั้งข่าวดังด้านเศรษฐกิจ ข่าวดังด้านต่างประเทศ ข่าวดังด้านภัยธรรมชาติฯลฯ สำหรับนักเล่าเรื่องอย่างผม ซึ่งมีหน้าที่เสาะหาข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประเทศจีนมานำเสนอท่านผู้อ่านที่รัก ช่วงเวลาแบบนี้ต้องถือว่าเพลินมากเป็นพิเศษ เพราะมีเรื่องราวเยอะแยะให้เลือกคัดมานำเสนอ เรียกว่าถ้าไม่เกรงใจกัน ข่าวการจัดอันดับทำนองนี้ สามารถหากินเล่าติดต่อกันได้อีกเป็นเดือนๆไปถึงปีหน้าเลยทีเดียว
                 ผมจะขออนุญาตนำ10สุดยอดข่าวใหญ่ด้านวัฒนธรรมของจีนมาเสนอท่านผู้อ่าน แต่ก็ต้องขอทำความเข้าใจกันก่อนนะครับว่าเวลาที่พูดถึงประเด็นทางวัฒนธรรมนั้น จีนจะมองในมุมทางเศรษฐกิจมากกว่าอย่างที่เรานิยามวัฒนธรรมกันในประเทศไทย โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับทุนทางวัฒนธรรม ว่าที่จริงก็เป็นฐานของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สมัยใหม่ที่เวลานี้กำลังทำเงินทำทองกันอยู่ในประเทศจีน 10 อันดับที่ผมจะนำเสนอนี้ ผมนำข้อมูลและภาพการจัดอันดับจากนิตยสารปักกิ่งรีวิว และไชน่าเดลี่ มายำใหญ่เสนอตามลำดับดังนี้ครับ
  อันดับที่1 การปฏิรูปธุรกิจสิ่งพิมพ์ภาครัฐ อันนี้เขาก็จัดเป็นเรื่องทางวัฒนธรรม ได้มีความพยายามยกเครื่องสื่อสิ่งพิมพ์ที่เดิมรัฐเป็นเจ้าของ ให้มีความคล่องตัวทางธุรกิจและตอบสนองต่อตลาดได้ดียิ่งขึ้น ตามเป้าหมายภายในสิ้นปีนี้ จะมีสำนักพิพม์ของรัฐกว่า 580 แห่ง ที่จะต้องปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบใหม่ มี10บริษัทที่กำลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าให้กับตลาดโดยรวมอีกกว่า 16,000ล้านหยวน


  อันดับที่2  จีนได้รับการจดทะเบียนมรดกโลกเพิ่มอีกสองแห่ง จากที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่34ที่เมืองบราซิลเลีย ทำให้ปัจจุบัน จีนมีแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม28แห่ง และมรดกโลกทางธรรมชาติอีก8แห่ง ในบัญชีของยูเนสโก



  อันดับที่3  ปรากฏการณ์อวตาร อันเป็นผลสืบเนื่องจากการเปิดฉายภาพยนต์เรื่องอวตาร เพียง3สัปดาห์แรกกวาดเงินไปถึงกว่า100ล้านเหรียญสหรัฐในประเทศจีน ก่อให้เกิดกระแสการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนต์สามมิติในประเทศจีน และยังกระตุ้นให้ผู้คนทั่วโลกรู้จักอุทยานแห่งชาติจางเจียเจี้ย อันเป็นฉากสำคัญที่ใช้ในการถ่ายทำภาพยนต์เรื่องนี้ ส่งผลให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยรวมของจีนคึกคักมากยิ่งขึ้น

  อันดับที่4  การค้นพบแหล่งโบราณคดีใต้น้ำ และการสำรวจขุดค้นซากเรืออับปาง หนานเอ่าหมายเลข 1 ทำให้จีนพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจทางโบราณคดีใต้ท่องสมุทรที่ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น เติมเต็มข้อมูลความรู้ทางประวัติศาสตร์การค้าทางทะเลสมัยโบราณ เครื่องกระเบื้องคุณภาพสูงกว่า2,600ชิ้นที่เก็บกู้ได้ ทำให้เกิดความตืนตัวครั้งใหญ่ในแวดวงโบราณคดีจีน
  อันดับที่5  โซเชี่ยวเน็ตเวิร์ค เว่ยเป่า กลายเป็นสุดยอดสื่อทางอินเตอร์เน็ตจีน ด้วยจำนวนผู้ใช้ชาวจีนกว่า65ล้านคน ได้ทำให้เว่ยเป่ากลายเป็นเครื่อข่ายสังคมบนโลกไซเบอร์ที่ใหญ่ติดอันดับและพุ่งแรงที่สุดของจีน เหนือกว่า ทวิตเตอร์และเฟซบุค



  อันดับที่6  การขยายตัวและเพิ่มมูลค่าของโบราณวัตถุจีน  ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้เกิดปรากฏการณ์เศรษฐีใหม่ของจีนที่ร่ำรวยมหาศาล ไล่ล่าหาซื้อโบราณวัตถุสมบัติของชาติ ที่กระจายไปอยู่ในต่างประเทศ เพื่อนำกลับมาสะสมไว้เองบ้าง บริจาคให้พิพิธภัณฑ์ในประเทศจีนบ้าง กลายเป็นเรื่องฮือฮาแข่งขันกันในหมู่เศรษฐีใหม่เลือดรักชาติ ส่งผลให้ในช่วงหลังราคาโบราณวัตถุของจีนที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนในท้องตลาดพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในเวทีการประมูลในต่างประเทศ ชักนำให้เกิดตลาดงานศิลปะจำลองโบราณวัตถุ ใหญ่และมีมูลค่าไม่น้อยไปกว่าตลาดซื้อขายของแท้ โดยเฉพาะภาพวาดพู่กันจีนและเครื่องกระเบื้องเคลือบสมัยหมิง


  อันดับที่ 7  กระแสนิยมดนตรีคลาสิค ในโอกาสครบรอบ200 ปีวันเกิดโชแปง ปี2010รัฐสภาโปแลนด์ได้ประการให้เป็นปีแห่งการรำลึกถึงคีตกวีเอกท่านนี้ รัฐบาลจีนและโปแลนด์ได้จัดกิจกรรมทางดนตรีและศิลปะที่เกี่ยวข้องขึ้นหลายงานในประเทศ  จะโดยเหตุใดเป็นพิเศษก็ยังหาคนอธิบายให้ชัดเจนไม่ได้ อยู่ๆก็เกิดกระแสคลั่งดนตรีคลาสิคขึ้นมา ยอดจำหน่ายแผ่นซีดีและสินค้าอื่นที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเครื่องดนตรีของที่ระลึก ต่างเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะจีนมีนักดนตรีระดับโลกเช่น หลางหลาง และหลี่หยุนตี้ ซึ่งก็ได้รับชื่อเสียงจากการเล่นเพลงของโชแปง
  อันดับที่8  กระแสการตลาดแบบซื้อยกล็อต สืบเนื่องมาจากการทำตลาดรูปแบบใหม่ทางอินเตอร์เน็ต ที่ส่งเสริมและชักชวนให้ผู้บริโภคชาวจีนหันมารวมกลุ่มกันสั่งซื้อสินค้าประเภทเดียวกันในจำนวนมากๆ โดยมีส่วนลดที่บางครั้งมากถึงร้อยละ 50 ส่งผลให้ในปี 2010 การตลาดขายตรงรูปแบบซื้อยกล็อตนี้แพร่ระบาดไปทั่วทั้งประเทศจีนอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่สินค้าขนาดใหญ่อย่างรถยนต์ไปจนถึงบัตรชมภาพยนต์ กลางเป็นวัฒนธรรมการบริโภครูปแบบใหม่



  อันดับที่9  การค้นพบพระบรมสารีกธาตุ  ในเดือนมิถุนายน2010 เจ้าหน้าที่ด้านมรดกทางวัฒนธรรมของจีน ได้ประกาศการค้นพบพระบรมสารีกธาตุ และนำมาประดิษฐานในวัดฉีเซี่ย เมืองนานจิง เป็นงานใหญ่ประจำปีงานหนึ่ง


  อันดับที่10  เซี้ยงไฮ้ดีสนีย์แลนด์  เมื่อวันที่5 พฤศจิกายน ได้มีการลงนามให้ข้อตกลงก่อสร้างสวนสนุกขนาด1.16 ตรางกิโลเมตร ภายใต้ชื่อเซี้ยงไฮ้ดีสนีย์แลนด์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดบริการได้ในปี 2014 และจะเป็นสิ่งดึงดูดการท่องเที่ยวตัวใหม่ของจีน


                 ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อมูลแบบคร่าวๆ เพราะเนื้อที่จำกัด ไว้ปีใหม่หากมีโอกาสเหมาะๆ ผมอาจนำมาเสนอท่านผู้อ่านโดยละเอียดเป็นเรื่องๆไปอีกทีหนึ่ง ท้ายที่สุดนี้ ในโอกาสที่รับใช้ท่านผู้อ่านที่รักในคอลัมน์คลื่นบูรพามาครบหนึ่งปี เล่าเรื่องไร้สาระผิดพลาดอะไรไปบ้าง ก็ถือโอกาสขออภัย และหวังให้ทุกท่านได้ประสบแต่เรื่องดีๆในปีใหม่ที่จะมาถึงนี้ สวัสดีปีใหม่ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น