ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ชุมชนเกษตรกรรมจีนสมัยใหม่

รองศาสตราจารย์ พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
            หลายสัปดาห์มานี้ ผมได้มีโอกาสไปเปิดหูเปิดตารับฟังเรื่องราวเกี่ยวกับภาคการเกษตรของจีนในสองเวทีด้วยกัน เวทีแรกเป็นผลการศึกษาวิจัยของนักวิชาการรุ่นใหม่ไฟแรง ที่ศึกษาเกี่ยวกับปัญหาจากนโยบายเศรษฐกิจของจีนที่มีต่อสังคมในชนบทจีน อีกเวทีหนึ่งเป็นการติดตามผู้ใหญ่ไปรับฟังเรื่องราวเกี่ยวกับธุรกิจของกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ของไทย ที่ไปประสบความสำเร็จอย่างมากในประเทศจีน และได้มีส่วนช่วยในการพัฒนาภาคการเกษตรตามนโยบาย ชุมชนเกษตรสมัยใหม่ ของรัฐบาลจีน ฟังแล้วก็ได้อารมณ์ไปคนละแบบ ไม่กล้าตัดสินใจว่าอันไหนอะไรเป็นจริงมากกว่ากัน ประกอบกับประเทศจีนก็ใหญ่มากคงยากจะเหมือนกันไปหมด ผมก็เลยขอเชื่อไว้ก่อนว่าที่ไปฟังมาคงถูกทั้งคู่ สัปดาห์นี้จะขอเกริ่นเรื่องและเล่าในส่วนที่สองก่อน สัปดาห์หน้าจะเอาของนักวิชาการมาเสนอเทียบเคียง
            ว่าตามจริงแล้ว นโยบายปฏิรูปภาคการเกษตรหรือชนบทจีน(อย่างที่ผมเคยเขียนถึงในคอลัมน์นี้) มีที่มาตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน สาเหตุหลักๆของปัญหาในภาคการเกษตรจีน อย่างที่คงรับทราบกันดี ว่าได้รับผลกระทบอันสืบเนื่องมาจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีนในช่วง20ปีแรก  หัวเมืองทางแถบชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกได้รับการกระตุ้นอัดฉีด ทั้งจากนโยบายของรัฐ เงินลงทุนจากภายนอก และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้พัฒนาอย่างก้าวกระโดดไปมาก การเติบโตและพัฒนาของเมืองนี่เอง ได้ดึงดูดเอาทรัพยากร แรงงาน และทีดินในภาคการเกษตรเดิม ทำให้สังคมและวิถีการผลิตเดิมในชนบทจีนเปลี่ยนไปมาก ที่เป็นปัญหาใหญ่ลำดับต้นๆเลยก็คือเรื่องแรงงาน คนหนุ่มสาวหรือวัยกลางคนที่ยังมีแรงทำงาน ต่างก็มุ่งหน้าเข้าไปเป็นแรงงานอพยพตามหัวเมืองสำคัญที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูง ทำให้ไร่นาปศุสัตว์ในชนบทถูกทอดทิ้ง แรงงานผู้สูงอายุที่ยังเหลืออยู่ในชนบท ก็จำทนทำงานกันไปแบบไม่มีอนาคตซังกะตายและไม่มีประสิทธิภาพ ครัวเรือนที่ขาดคนหนุ่มคนสาวหรือหัวหน้าครอบครัวที่จะอยู่ประจำ ก็เกิดปัญหาทางสังคมตามมา ในซีกสังคมเมืองเอง แรงงานอพยพจำนวนมากที่แห่กันเข้าไปหวังจะขุดทองหาเงินส่งกลับบ้าน เอาเข้าจริงก็เผชิญกับปัญหาสารพัดมากกว่าจะเป็นโชคลาภ สภาพการจ้างงานที่ไม่เป็นระเบียบแบบแผน ค่าครองชีพที่สูง การขาดแคลนสวัสดิการที่จำเป็น ในที่สุดก็ก่อปัญหากับสังคมเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรียกว่าเป็นปัญหาด้วยกันทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นชนบทที่ต้นทางหรือเมืองใหญ่ที่ปลายทาง
             มาในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษที่1990 หลังจากที่ปัญหาการล่มสลายของสังคมชนบทขยายไปทั่วทั้งประเทศจีน หรืออย่างที่รู้จักกันในชื่อ ปัญหาสามเกษตร(ซาน หนง เวิ้น ถี) คือเกษตรกรมีปัญหา การเพาะปลูกมีปัญหา และสังคมชนบทมีปัญหา รัฐบาลจีนได้รณรงค์ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและจ้างงานขึ้นในชนบท เพื่อป้องกันไม่ให้แรงงานต้องอพยพออกมากจนเกินไป ภายใต้สโลแกนที่ว่า จากท้องนา แต่ไม่จากบ้านเกิด(หลีถู่ ปู้หลีเซียง) สถาบันการเงินของจีนถูกกำหนดให้ส่งเสริมสินเชื่อแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กในชนบทมากเป็นพิเศษ รัฐบาลท้องถิ่นก็มีโปรโมชั่นพิเศษอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในชนบทจีน เพราะเป็นที่ทราบดีว่าหนุ่มสาวสมัยใหม่จำนวนมากอพยพเข้าเมืองก็เพราะต้องการหนีออกจากกิจกรรมทำไร่ไถนาในหมู่บ้าน การรณรงค์ให้เกิดวิสาหกิจและการจ้างงานในชนบท เชื่อกันว่าจะสามารถรักษาสังคมชนบทจีนไว้ได้ในระดับหนึ่ง แม้จะยังไม่สามารถพัฒนาภาคการเกษตรให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นก็ตาม
               มาเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง ชนบทจีนก็เจอเข้ากับปัญหาใหม่(ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าปัญหาเก่าจะหมดไปแล้วนะครับ) กล่าวคือมีการแย่งชิงทรัพยากรเกิดขึ้นระหว่างภาคอุตสาหกรรมขนาดเล็กขนาดย่อมและภาคธุรกิจบริการฝ่ายหนึ่ง กับภาคการเกษตรอีกฝ่ายหนึ่ง ที่เห็นเด่นชัดคือเรื่องที่ดิน แปลงนาที่เคยอุดมสมบูรณ์จำนวนมาก ถูกเปลี่ยนไปใช้ประโยชน์ในภาคการผลิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจรูปแบบอื่น ทั้งนี้เพราะผลตอบแทนเฉพาะหน้าที่ดีกว่า ทำให้พื้นที่หลายแห่งในประเทศจีนอาจต้องเผชิญกับปัญหาความมั่นคงทางอาหารในอนาคต ยิ่งไปกว่านั่น การเร่งส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางขนาดเล็กจำนวนมาก ก็ทำให้เกิดโรงงานหลังบ้านหรืออุตสาหกรรมขนาดเล็กในครัวเรือน ส่วนใหญ่ก็รับโล๊ะเครื่องจักรมือสองและเทคโนโลยีการผลิตที่ล้าหลังราคาถูกไม่ได้มาตรฐาน สิ้นเปลืองพลังงานและก่อให้เกิดปัญหามลพิษกระจายไปในเขตชนบท กระทบไปถึงเรื่องความปลอดภัยในผลผลิตทางเกษตร การปนเปื้อนสารพิษในอาหารแปรรูปที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐานจากโรงงานเล็กโรงงานน้อยทั้งหลาย
                  ในปี2005 ผลจากที่ประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่5สมัยที่16 และที่ประชุมสมัชชาประชาชนในปีถัดมา ได้กำหนดเป็นนโยบายให้รัฐบาลจีนเร่งฟื้นฟู ชุมชนการเกษตรสมัยใหม่ตามแนวทางสังคมนิยม(เซ่อหุ้ยจู่อวี่ ซินหนงชุน) โดยกำหนดให้มีเป้าหมายสำคัญ5ประการคือ 1) การผลิตที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ 2) ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร 3) ยกระดับสังคมให้เป็นอารยะ 4) สะอาดปลอดมลพิษ และ 5) บริหารจัดการโดยหลักประชาธิปไตย
                ณ ตรงจุดนี้เอง ที่กลุ่มธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์(หรือที่ในประเทศจีนรู้จักกันดีกว่าภายใต้ชื่อ เจิ้งต้าจี๋ถวน )ได้เข้าไปมีส่วนร่วมให้การสนับสนุน เรียกว่าจัดเต็ม ทั้งลงทุนให้ ทั้งใส่เทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่เท่าเทียมหรือดีกว่ามาตรฐานในประเทศตะวันตก ทั้งฝึกอบรมเกษตรกร ทั้งจัดการรองรับทางการตลาดเต็มรูปแบบ เกษตรกรรายย่อยเดิมรวมกลุ่มเป็นหน่วยการผลิตเดียว แต่ด้วยความช่วยเหลือของเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย เกษตรกรเพียงไม่กี่คนสามารถดูแลฟาร์มขนาดใหญ่ ดูแลไก่ไข่ไก่เนื้อได้เป็นแสนตัว ทำให้แรงงานที่เหลือสามารถพัฒนาไปสู่อาชีพเสริมอื่นๆได้มากขึ้น เรียกว่ามีรายได้เพิ่มเป็นสองทาง แต่มากกว่าเดิมหลายเท่าตัว
                มองในแง่มุมนักวิชาการ ผมเชื่อว่าบรรดานักเศรษฐศาสตร์ องค์กรพัฒนาเอกชนแบบในบ้านเรา หรือสายที่เป็นกลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมือง คงมีประเด็นที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้มาก เพราะมองว่าเป็นการก้าวไปสู่เกษตรกรรมแบบพันธะสัญญาและการกินรวบในวงจรการผลิต แต่จากข้อมูลที่ผมสำรวจพบ โครงการทำนองเช่นนี้ในสายตาของเกษตรกรจีน สื่อมวลชนจีน หรือแม้นักวิชาการสายเศรษฐศาสตร์การเกษตรของจีน ได้กลายเป็นต้นแบบที่ได้รับการกล่าวขานยกย่องอย่างมาก ผมเองไม่แน่ใจว่าจนถึงเวลานี้เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ดำเนินการส่งเสริมช่วยเหลือในทำนองนี้ไปแล้วกี่แห่งในประเทศจีน แต่เท่าที่เห็นผ่านสื่อมวลชนจีนแขนงต่างๆ เดาว่าคงหลายสิบแห่งแล้ว และก็คงใช้เงินไปจำนวนมหาศาล ผมคงขอไม่ไปถกเถียงกันในเชิงวิชาการ เอาแค่ว่าหากถือเป็นกิจกรรมเชิง CSR ที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ทำให้กับสังคมจีน   ผมเชื่อว่างานนี้ได้ผลเกินคุ้มทีเดียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น