ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2555

จีนกับรางวัลโนเบล

รองศาสตราจารย์พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                   ในซีกโลกตะวันออก หากกล่าวถึงความยิ่งใหญ่ทางอารยธรรม ปรัชญาความคิดที่ลึกซึ้ง ตลอดจนความมั่งคั่งของผลงานวรรณกรรม ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่รักคงเห็นพ้องต้องกันกับผมว่า ทั้งจีนและอินเดียต่างก็มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ไม่แพ้โลกตะวันตก หลายต่อหลายเรื่องทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดีอาจจะเหนือกว่าด้วยซ้ำ แต่เพราะเงื่อนไขหลายอย่างในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ทำโลกตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่19เป็นต้นมา อะไรๆดูจะถูกชาติตะวันตกนำหน้าไปเสียหมด เพิ่งจะมาในช่วงสิบกว่าปีหลังนี้เอง ที่สถานการณ์อาจเริ่มเปลี่ยนไป เราเริ่มเห็นเทคโนโลยีใหม่ๆที่คิดค้นพัฒนาขึ้นโดยประเทศในฝั่งตะวันออก เศรษฐกิจและความมั่งคั่งเริ่มกระจายมาสู่ตะวันออกมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงนักคิดนักเขียนสำคัญของโลกตะวันออกก็เริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น
                   เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ในงานประกาศเกียรติคุณผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาต่างๆ ก็ปรากฏชื่อนาย หม้อ เอวี๋ยน นักคิดนักเขียนคนสำคัญของจีนเจ้าของงานเขียนนวนิยายเรื่อง “กบ” ได้รับรางวัลโนเบลในสาขาวรรณกรรมรวมอยู่ด้วยท่านหนึ่ง  อย่างไรก็ดีผมต้องขอเรียนท่านผู้อ่านที่รักว่า นี่ไม่ใช่ชาวจีนรายแรกที่ได้รางวัลโนเบล เพราะก่อนหน้านี้ในปี2000 เกา สิงเจี้ยน นักประพันธ์ กวี และผู้เขียนบทชาวจีน ที่ลี้ภัยออกนอกประเทศจีนไปอาศัยอยู่ในฝรั่งเศส(ตอนนี้ได้สัญชาติฝรั่งเศสไปแล้ว) ได้รับการประกาศชื่อให้เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลในสาขาวรรณกรรม มาในปี2010 หลิว เสี่ยวปอ นักเคลื่อนไหวและต่อสู่ด้านสิทธิมนุษยชนชาวจีน ได้รับการประกาศชื่อเป็นผู้ได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แต่เจ้าตัวไม่สามารถเดินทางไปรับรางวัลได้เพราะถูกทางการจีนกักบริเวณควบคุมตัวอยู่ หากพิจารณาจากเงื่อนไขเหล่านี้ กรณีนาย หม้อ เอวี๋ยน จึงเท่ากับเป็นชาวจีนผู้ได้รับรางวัลโนเบลรายแรกที่ประชาชนชาวจีนและรัฐบาลจีนสามารถภาคภูมิใจและร่วมยินดีกับรางวัลดังกล่าวได้อย่างเปิดเผยและเต็มรูปแบบ และเป็นครั้งแรกที่สื่อมวลชนทุกแขนงของจีนนำโดยสื่อใหญ่ของรัฐบาล ติดตามนำเสนอข่าวอย่างพร้อมเพรียง สดๆทันทีที่มีการประกาศรายชื่อจากสวีเดน สถานีโทรทัศน์ของรัฐยุติการแพร่ภาพรายการปรกติ ตัดเข้าสู่ข่าวใหญ่ข่าวด่วนสำคัญชิ้นนี้ เสมือนว่าเป็นครั้งแรกที่ชาวจีนได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ์นี้  แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับกรณีการได้รับรางวัลโนเบลของนายเกา สิงเจี้ยน และหลิว เสี่ยวปอ ซึ่งไม่มีสื่อรายได้กล้านำเสนอหรือกล่าวถึง ผมเองเชื่อมั่นเต็มร้อยว่า ในความเข้าใจของสาธารณชนส่วนใหญ่ในประเทศจีน นายหม้อ เอวี๋ยน จัดเป็นคนจีนคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล

              ปรากฏการณ์และปฏิกิริยาในทำนองเช่นนี้ ว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะภูมิหลังและผลงานที่สองชาวจีนผู้ได้รับรางวัลโนเบลก่อนหน้านี้ได้ทำเอาไว้ เปรียบได้กับการฉีกหน้ารัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์จีนต่อหน้าผู้คนในเวทีโลก งานเขียนส่วนใหญ่ของเกา สิงเจี้ยน (ในประเทศไทยผมเห็นมีผู้แปลงานวรรณกรรมของท่านอยู่ชิ้นหนึ่ง คือ “ขุนเขาแห่งจิตวิญญาณ”) มุ่งสะท้อนภาพความเหลี่ยมล้ำและปัญหาในประเทศจีนที่เป็นผลิตผลของพรรคคอมมิวนิสต์ ในขณะที่บทบาททางการเมืองของหลิว เสี่ยวปอก็เคลื่อนไหวโจมตีประเด็นสิทธิมนุษยชนในจีน เฉพาะอย่างยิ่งการละเมิดสิทธิเสรีภาพโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หลายปีมานี้ทั้งรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงแสดงออกอย่างเปิดเผยว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับรางวัลโนเบล ในทำนองว่าเป็นองค์กรที่มีเจตนาทางการเมืองแอบแฝงและบ่อนทำลายภาพลักษณ์ของประเทศอื่นๆที่มีระบอบการปกครองที่แตกต่างและไม่เห็นด้วยกับเหล่ามหาอำนาจในตะวันตก ผู้ได้รับรางวัลส่วนใหญ่ก็เป็นชาวตะวันตกหรือจากกลุ่มประเทศที่ถูกครอบงำโดยมหาอำนาจตะวันตก ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายท่านคงได้เคยทราบข่าวกันมาบ้างว่า จีนถึงกับจัดตั้งรางวัลเชิดชูเกียรติ์ขึ้นมาต่างหากเพื่อประกาศตัวแข่งกับรางวัลโนเบล
                   มาคราวนี้ นาย หม้อ เอวี๋ยน ผู้ได้รับการเชิดชูโนเบลในสาขาวรรณกรรม เป็นสมาชิกของพรรคฯ เป็นอุปนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศจีนภายใต้การจัดตั้งของรัฐบาล ผลงานของเขาทั้งหมดเป็นไปในทิศทางของพรรคฯ ได้รับการเชิดชูยกย่องโดยรัฐบาลจีน และได้รับการสนับสนุนเผยแพร่ทั่วประเทศอย่างกว้างขวาง งานจำนวนมากได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศทั้งโดยสำนักพิมพ์ในต่างประเทศ และโดยการส่งเสริมให้จัดแปลโดยรัฐบาลและองค์กรต่างๆในประเทศจีนเอง งานเขียนชิ้นสำคัญเช่น “ข้าวฟ่างสีแดง” ก็ได้รับการสนับสนุนให้จัดสร้างเป็นภาพยนตร์ซึ่งกำกับโดยจาง อวี้โหมว บอกเล่าเรื่องราวในประเทศจีนนับจากการเข้ายึดครองของผู้รุกรานชาวญี่ปุ่นจนถึงการสร้างชาติของพรรคคอมมิวนิสต์
                     อันที่จริงการที่นักเขียนชาวจีนได้รับการยกย่องเชิดชูด้วยรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ต้องถือว่าเป็นข่าวดีและเป็นเรื่องดีของคนจีนทั้งประเทศ แต่สำหรับพรรคฯ รัฐบาลและตัวของคุณหม้อ เอวี๋ยนเองอาจจะต้องปรับตัวรับสถานการณ์และคำถามในอนาคต เช่น ตกลงในเวลานี้จีนมีนโยบายหรือท่าทีอย่างไรกับรางวัลโนเบล และจะมีท่าทีอย่างไรกับผู้ที่เคยได้รางวัลนี้มาแล้ว เช่นนาย เกา สิงเจี้ยน และนายหลิว เสี่ยวปอ จะยอมรับและให้การเชิดชูย้อนหลังหรือไม่ จีนยังจะคงส่งเสริมให้มีการสร้างเวทีเชิดชูเกียรติ์คู่ขนานกับรางวัลโนเบลต่อไปอย่างไร หรือตัวนายหม้อ เอวี๋ยนเองจะสามารถสร้างสรรค์งานที่วิพากษ์มากกว่าที่ผ่านมาได้หรือไม่ ฯลฯ ไปๆมาๆอาจกลายเป็นทุกข์ลาภก็ได้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น