ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2555

อาชีพข้าราชการจีน


             โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์

สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 
2สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมต้องขออภัยท่านผู้อ่านที่รักด้วยที่หายหน้าไป ไม่ได้ส่งการบ้านประจำวันพุธ วิ่งตะลอนไปมาหลายแห่งอยู่ในประเทศจีน หาเวลาเขียนบทความส่งไม่ได้จริงๆ เลยต้องแจ้งมาทางกอง บก.ของดไปสองสัปดาห์ พุธนี้ส่งการบ้านตามปรกติครับ ที่ไปประเทศจีนเที่ยวนี้ ก็หลายงานด้วยกัน คือไปงานวิจัยส่วนตัวที่รับผิดชอบอยู่ ไปเยี่ยมเยือนมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งในนครปักกิ่งที่คุ้นเคยรู้จักและมีงานวิจัยเกี่ยวข้องติดต่อกันอยู่ อีกทั้งยังได้รับความกรุณาจากบริษัทเจริญโภคภัณฑ์สำนักงานนครปักกิ่ง พาไปเยี่ยมชมโครงการพัฒนาเกษตรแผนใหม่ ที่ทางบริษัทร่วมกับรัฐบาลปีกกิ่งและกลุ่มเกษตรกรจีนในตำบลผิงกู่นอกเมืองปักกิ่ง(โทษฐานที่เขียนพาดพิงถึงเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน เขาก็เลยพาไปดูซะเลย จะได้เข้าใจอย่างถูกต้อง) ทั้งโครงการใช้เกษตรกรเพียง80กว่าคน แต่เลี้ยงและบริหารจัดการไก่ไข่ได้ถึง3.5ล้านตัว น่าทึ่งและน่าชื่นชมอย่างยิ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีการทำฟาร์มสมัยใหม่ของทางเจริญโภคภัณฑ์ในประเทศจีน ท้ายสุดก็เดินทางไปเยี่ยมเยือนมิตรเก่าแก่ที่สถานีวิทยุนานาชาติจีน(CRI) แต่ที่จะเป็นประเด็นพูดคุยในคอลัมน์สัปดาห์นี้ จะขอเอาเรื่องที่ไม่ได้ไปดูงานมาเล่าสู่กันก่อน เรื่องที่ไปดูงานมา จะขอทะยอยไปเล่าในคราวหลัง (เก็บไว้ใช้ตอนคิดหาเรื่องเขียนไม่ได้)

                เรื่องที่จะนำมาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังในสัปดาห์นี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากหัวข้อการสนทนาบนโต๊ะอาหารมื้อเที่ยงก่อนที่จะเดินทางกลับประเทศไทย หลังจากที่ผมเดินทางไปเยี่ยมเพื่อนๆที่ทำงานอยู่สถานี CRI ในตอนเช้าวันเสาร์เสร็จ เขาก็ชวนออกมาทานข้าวเป็นมื้อเลี้ยงส่ง ระหว่างทานข้าวก็แลกเปลี่ยนข่าวสารในประเทศไทย-จีน คุยไปเรื่อยๆจนเข้าเรื่องจราจร ผมก็ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการจราจรในกรุงปักกิ่ง เพื่อนชาวจีนจึงให้ข้อมูลว่ารถติดมาก เนื่องจากช่วงที่ผ่านมามีการสอบข้อเขียนผู้สมัครเข้ารับราชการ ทำให้มีผู้คนจากที่ต่างๆเพิ่มเข้ามาในปักกิ่ง ผมก็เกิดสงสัยจึงชวนคุยเรื่องการสอบบรรจุเข้าเป็นข้าราชการของจีน ได้ความรู้ใหม่เพิ่มมามากทีเดียว

                ผมเข้าใจเอาเองว่า ในช่วงกว่า20ปีมานี้ ความนิยมแห่กันไปสมัครสอบเป็นข้าราชการของหนุ่มสาวชาวจีนลดลงเรื่อยๆ ในสมัยก่อนที่จะเริ่มนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบเปิดกว้าง อาชีพรับราชการส่วนกลาง ดูจะเป็นเป้าหมายเดียวในชีวิตของบรรดาบัณฑิตจบใหม่จากรั้วมหาวิทยาลัย แต่เมื่อจีนเข้าสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และตำแหน่งงานใหม่ๆก็มีหลากหลายเพิ่มมากขึ้น ทำให้ตัวเลขและอัตราการแข่งขันในการสอบบรรจุเป็นข้าราชการลดลงเรื่อยๆ จนเกิดเป็นสำนวนว่า “ปี๋เยวี่ย เซี่ยไฮ่” คือบัณฑิตสำเร็จการศึกษา มีเท่าไรก็แหวกว่ายไหลเข้าสู่ท้องทะเลธุรกิจการค้าหมด ผลิตเท่าไรก็ไม่พอใช้(ช่วงกลางทศวรรษ1990 มีบัณฑิตจบปีละประมาณ1.5ล้านคน) เพราะเชื่อกันว่าเป็นช่องทางสู่ความร่ำรวยและก้าวหน้า อย่างไรก็ดี มาในช่วงหลัง ปรากฏการณ์เริ่มย้อนกลับ เมื่อจีนต้องเผชิญสภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจ กระแสความนิยมที่จะแข่งขันสอบบรรจุเข้ารับราชการ ก็กลับมาแรงอีกครั้ง เรียกกันทั่วไปว่าเหมือนเป็นหม้อข้าวทองคำ การสอบข้อเขียนเพื่อบรรจุเข้ารับราชการล่าสุดที่ผ่านมา ประมาณว่ามีผู้สำเร็จการศึกษาทั้งจบใหม่และจบเก่ากว่า1.4ล้านคน แข่งขันกันเข้าสอบข้อเขียนเพื่อบรรจุเข้าในตำแหน่งว่างประมาณ20,800ตำแหน่งราชการส่วนกลางทั่วประเทศ(พนักงานของรัฐบาลท้องถิ่น ฟังมาว่าแยกสอบเองต่างหาก และมีผู้สมัครแข่งขันอีกหลายล้านคน) จากจำนวนบัณฑิตจบใหม่เกือบ7ล้านคนในปีนี้

                  อาการกลับลำอยากเป็นข้าราชการของบรรดาบัณฑิตจบใหม่เหล่านี้ สะท้อนให้เห็นอะไรหลายอย่าง ที่แน่ๆประการแรก ภาวะเฟื้องฟูของเศรษฐกิจจีนที่รับรู้โดยชาวจีนเอง ได้มาถึงจุดอิ่มตัวแล้ว แม้ว่ารายได้เริ่มต้นจากการเป็นข้าราชการพลเรือนจีนจะต่ำกว่าอาชีพค้าขายของชำ แต่หนุ่มสาวจำนวนมากก็พร้อมที่จะเลือกอย่างแรก เพราะเป็นอาชีพที่มั่นคงกว่าการเสี่ยงทำธุรกิจเองหรือแย่งหางานทำกับบริษัทเอกชนที่ไม่มีความมั่นคง ประการที่สอง สถานะทางสังคมของความเป็นข้าราชการยังคงฝั่งแน่นอยู่ในวัฒนธรรมอำนาจนิยมของจีนไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าในบางห่วงเวลา การเป็นนักธุรกิจหรือผู้บริหารบริษัทเอกชนจะดูดีมีเงินมีทองกว่า แต่ความเชื่อเรื่องข้าราชการและอำนาจรัฐ ก็ไม่จางไปจากสังคมจีนได้ง่ายๆ ประการที่สาม ชาวจีนจำนวนไม่น้อยเชื่อกันว่าอาชีพรับราชการไม่เพียงแต่จะมั่นคง มีศักดิ์ศรี เผลออาจรวยตามน้ำได้ด้วย คนกลุ่มนี้แม้มีไม่มาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าข่าวการคอรัปชั่น การรับผลประโยชน์ตอบแทนการอำนวยความสะดวกฯลฯ เป็นเรื่องที่มีอยู่และเกิดขึ้นจริงในสังคมจีน แม้จะมีข่าวการลงโทษข้าราชการฉ้อราษฎร์ปรากฏให้เห็นเป็นระยะๆ แต่ก็เชื่อแน่ว่ายังมีผู้เห็นอาชีพรับราชการเป็นช่องทางรวยลัดอยู่ไม่น้อย ประการสุดท้าย ไม่ว่าอาชีพรับราชการจะให้เงินตอบแทนต่ำอย่างไร แต่ประโยชน์ที่ชัดเจนอย่างหนึ่งที่เหนือกว่า ก็คือสิทธิ์ในเรื่องที่พักอาศัยและสวัสดิการรักษาพยาบาลตลอดชีพ ซึ่งหากคิดเป็นตัวเงินแล้วก็ไม่น้อยเลย

                   ในจำนวนข้าราชการพลเรือนกว่า6.8ล้านคนโดยประมาณของจีน คงคล้ายๆกับของไทยเรา คือมีทั้งคนที่อยากเข้าและคนที่อยากออก บัณฑิตใหม่ที่กำลังสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเข้าในปีนี้ อาจสมหวังหรืออาจผิดหวังในระยะยาว เพราะจากสถิติมีเพียง40,000กว่าคนเท่านั้นที่ได้ทำงานประจำอยู่ในกรมกองตามเมืองใหญ่ทันสมัย ที่เหลือนอกนั้นอาจพบว่าอาชีพข้าราชการในหัวเมืองเขตชนบทไม่ก้าวหน้า และอาจไม่มีช่องทางแสวงหาความเติบโตหรือรายได้พิเศษใดๆเลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น