ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2555

บทบาทสื่อทางสังคมกับปัญหาพิพาทจีน-ญี่ปุ่น


โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 
          ผมเชื่อว่าหลายวันมานี้ ท่านผู้อ่านซึ่งติดตามข่าวสารต่างประเทศ คงได้เห็นพัฒนาการความขัดแย้งจากกรณีพิพาทหมู่เกาะทางทะเลระหว่างจีนและญี่ปุ่น ขยายตัวรุนแรงเพิ่มมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เรื่องราวความเป็นมาของกรณีพิพาททางทะเลนี้ คงเป็นที่รับรู้อยู่แล้วจากสื่อแขนงต่างๆ รายละเอียดผมเลยจะข้อข้ามไปก่อน แต่มีประเด็นติดใจและเป็นประเด็นที่ผมไม่แน่ใจว่าจะได้มีใครทำการวิเคราะห์ศึกษากันบ้างแล้วหรือไม่ค้างคาอยู่สองเรื่อง สัปดาห์นี้ผมก็เลยจะขออนุญาตชวนท่านผู้อ่านคุยเกี่ยวกับแบบแผนพฤติกรรมและกระเสการประท้วงญี่ปุ่นที่กำลังระบาดไปตามหัวเมืองต่างๆในประเทศจีน ว่ามีที่มาและขยายไปทั่วได้อย่างไร

            เรื่องที่หนึ่ง ภาพชาวจีนวัยรุ่นกลุ่มใหญ่ แห่กันเข้าไปทุบตีทำลายข้าวของตู้กระจกในห้างร้านที่จำหน่ายของนำเข้าจากญี่ปุ่น ภาพฝูงชนชาวจีนนับร้อยๆบุกเข้าไปในสถานกงสุลญี่ปุ่นที่เมืองกวางโจว เซี้ยงไฮ้ ภาพการจุดไฟเผารถยนต์ยี่ห้อญี่ปุ่นบนท้องถนนฯลฯ ได้กลายเป็นภาพที่มีการส่งต่อกันมากมายที่สุดในประวัติการใช้งานประเภทเดียวกันนี้ ในสื่อสังคมออนไลน์ของจีนที่เรียกว่า“วุยป๋อ”(เป็นไมโครบล็อกแบบเดียวกันทวิทเตอร์สัญชาติจีนในเครือ Sina.com ซึ่งเชื่อว่าชาวจีนใช้กันแพร่หลายมากที่สุด) บางภาพเช่นการทุบทำลายรถยนต์โตโยต้า มีการส่งต่อกันมากว่า120ล้านครั้ง สโลแกนต่อต้านไม่ซื้อ ไม่ใช้สินค้าญี่ปุ่น ถูกแชร์ส่งต่อทั้งในวุยป๋อและไมโคร บล๊อคสายพันธุ์อื่นๆรวมกว่า160ล้านครั้ง นับตั้งแต่เริ่มมีประเด็นเรื่องรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศจะซื้อที่ดินบนเกาะเล็ก3แห่ง รอบๆเกาะเตี่ยวหยู (ซิกากุ ในชื่อญี่ปุ่น)จากเอกชนญี่ปุ่นที่ครอบครองอยู่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หากนับเอาความเคลื่อนไหวต่างๆเกี่ยวกับกรณีพิพาทระหว่างจีน-ญี่ปุ่นในคราวนี้ สิ่งหนึ่งที่แลเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ การแพร่ระบาดของข่าวสารและความคิดเห็นของผู้คนชาวจีน(แผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน ฮ่องกง และจากโพ้นทะเล)ที่ดุเดือดมากมายกว่าทุกๆครั้งและทุกๆเหตุการณ์ที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ ทั้งที่เป็นข้อความและรูปภาพ นับเนื่องจากเหตุการณ์เทียนอันเหมินเมื่อ23ปีที่แล้ว นานาชาติที่ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศจีน คงยังไม่เคยมีใครได้พบเห็นการชุมนุมประท้วงกลางถนนที่มีผู้คนชาวจีนมากมาย และแผ่ขยายไปในแปดสิบกว่าหัวเมืองเท่าในครั้งนี้ เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ผิดปรกติอย่างยิ่งในสังคมจีน ในขณะเดียวกัน ผู้ที่รู้จักกลไกการควบคุมเซ็นเซอร์คัดกรองสื่อของจีนดี ก็ต้องประหลาดใจที่เห็นข่าวสารข้อมูลอันส่อไปในทางรุนแรง หรือชักชวนปลุกระดมให้ออกไปก่อความรุนแรง ถูกส่งต่อกระจายข่าวตามสื่อทางสังคมผ่านโทรศัพท์มือถือได้อย่างเสรี ปราศจากปิดกันคัดกรองของเจ้าหน้าที่รัฐได้กว้างขวางอิสระขนาดนี้มาก่อน ปัญหาที่นักวิชาการและผู้เฝ้าติดตามประเทศจีนกำลังงงกันก็คือ เกิดอะไรขึ้นในประเทศจีน ปรากฏการณ์ทั้งหลายเหล่านี้ หากว่าไปตามวัฒนธรรมทางการเมืองปรกติแบบจีน ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เว้นแต่ผู้มีอำนาจในปักกิ่งเจตนาให้เกิดขึ้น

            เรื่องที่สอง ปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนและประเทศต่างๆ เกี่ยวกับเขตแดนในหมู่เกาะทะเลจีน ทั้งทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทว่ามีมาแล้วโดยตลอดประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของจีน เฉพาะกรณีพิพาทหมู่เกาะเตี่ยวหยูกับญี่ปุ่น ก็ต้องเรียกว่าเป็นมหากาพย์ตั้งแต่ปี1970เดี๋ยวๆก็ปะทุขึ้นมาทีหนึ่ง แต่ทุกครั้งจีนก็ปรามคู่พิพาทด้วยการแสดงแสนยานุภาพทางทหารที่เหนือกว่า แล้วเรื่องก็เงียบไป เหตุใดมาคราวนี้ เรื่องราวข้อพิพาทเกี่ยวกับหมู่เกาะแห่งนี้ จึงได้กลายมาเป็นกระแสประท้วงโดยประชาชนชาวจีนขนานใหญ่ ลุกลามจนดูเหมือนสองชาติกำลังเดินเข้าสู่สงครามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รัฐบาลจีนเองในความขัดแย้งครั้งใหม่นี้ ก็ดูเหมือนจะแข็งกร้าวกว่าทุกครั้ง รัฐบาลญี่ปุ่นก็ออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลจีนคุ้มครองผลประโยชน์ของญี่ปุ่นในประเทศจีน และขู่จะให้จีนรับผิดชอบต่อความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้น จนดูกลายเป็นว่าทั้งสองฝ่ายต่างกดดันซึ่งกันและกันจนพากันติดกับเข้าสู่ทางตันของความขัดแย้ง ล่าสุดขณะที่กำลังเคาะต้นฉบับอยู่นี้ ก็เห็นข่าวว่าโรงงานของญี่ปุ่นกว่าสิบแห่งได้ตัดสินใจปิดโรงงานไปแล้ว อีกทั้งมีชาวญี่ปุ่นระดับผู้บริหารจำนวนมาก เดินทางออกจากประเทศจีนไปเรียบร้อย เหตุหลักๆนอกจากปัญหาประท้วงแล้ว วันอังคารที่18กันยายน ยังเป็นวันครบรอบการที่กองทัพญี่ปุ่นกรีฑาเข้ายึดครองประเทศจีนตอนบนในปี1932 เลยเกรงกันว่าเหตุการณ์จะยิ่งรุนแรงหนักขึ้น ความขัดแย้งและปฏิกิริยาโต้ตอบไปมาของทั้งสองฝ่าย เกิดขึ้นในบรรยากาศที่ผิดปรกติยิ่ง จนทำให้อาจคิดไปได้ว่าอาจมีเจตนาแอบแฝง กระแสชาตินิยมที่ถูกปลุกขึ้นและปล่อยให้แพร่ขยายไปอย่างปราศจากการควบคุมในคราวนี้ อาจมีที่มาที่มากกว่าประเด็นพิพาทหมู่เกาะเตี่ยวหยู  ทั้งรัฐบาลจีนและญี่ปุ่น ต่างก็กำลังอยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนถ่ายอำนาจ การจะยอมอ่อนข้อเจรจาโดยสันติ อาจเป็นการแสดงออกถึงความอ่อนแอที่จะไม่เป็นผลดีกับตัวผู้นำที่กำลังจะลงจากอำนาจ ในขณะเดียวกันก็จะก่อให้เกิดปัญหาเผือกร้อนลูกใหญ่โยนใส่ผู้นำชุดใหม่ที่จะก้าวขึ้นสู่อำนาจในปีหน้า ในเวลาเดียวกันก็มีคนใจร้ายวิเคราะห์เลยเถิดไปถึงขั้นว่า บรรยากาศทางเศรษฐกิจที่เริ่มปรากฏปัญหายุ่งยากซับซ้อนมากยิ่งขึ้นทั้งกับจีนและญี่ปุ่น อาจจำเป็นต้องมีปัญหาพิพาททางการเมืองระหว่างประเทศ เข้ามาคั่นบรรยากาศหรือเบี่ยงเบนปัญหาไปชั่วคราว
                   ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ชัดเจนว่าบัดนี้สื่อสังคมออนไลน์ของจีน ได้เข้ามามีบทบาทชี้นำการเคลื่อนไหวทางการเมืองมากอย่างยิ่ง หากจะเปรียบเทียบกันแล้ว อาจจะมีผลกว้างขวางกว่าปรากฏการณ์ทวิตเตอร์กับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในตะวันออกกลางก่อนหน้านี้ ผมเองก็ได้แต่ภาวนาให้เหตุการณ์สงบโดยไว ก่อนที่สื่อออนไลน์แบบวุยป๋อ จะกลายมาเป็นหอกข้างแคร่ของรัฐบาลจีนเองในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น