ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันเสาร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2555

ขยะอิเล็กทรอนิกส์

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หลังจากที่ผมเขียนเรื่องตัวเลขที่แท้จริงของเศรษฐกิจจีนออกไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ปรากฏว่าเป็นเรื่องครับ มีท่านที่รู้จักหลายท่านโทรมาถามข้อมูลเพิ่มเติมมากมายหลายท่าน อีกทั้งขอให้เอาตัวเลขทางเศรษฐกิจด้านอื่นๆของจีนมาเผยแพร่เพิ่ม ทำนองว่าจะให้วิเคราะห์เป็นรายอุตสาหกรรมเลยที่เดียว ทำซะยังกับว่าผมเป็นผู้อยู่เบื้องหลังวิกฤติที่อาจจะกำลังมาถึงครั้งใหม่นี้ ผมคงต้องขออภัยด้วย ถ้าเนื้อหาในคอลัมน์คลื่นบูรพาคราวที่แล้วจะเป็นเหตุให้บางท่านตื่นตกใจไป ผมเพียงทำหน้าที่หาเรื่องหาราวมานำเสนอเล่าสู่กันฟัง เกิดอะไรขึ้นในประเทศจีน ใครว่าอย่างไร ตัวเลขเป็นอย่างไร ผมก็เล่าไปตามนั้น ไม่ได้มีฉันทาคติหรืออคติใดๆทั้งสิ้น อีกประการสำคัญก็คือ ผมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญอะไรทางด้านเศรษฐกิจเลยแม้แต่น้อย สัปดาห์นี้เลยจะขอเลี่ยงเรื่องราวที่แสลงใจ ชวนท่านผู้อ่านที่รักคุยเรื่องสิ่งแวดล้อมแทน
เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา มีข่าวเล็กๆอยู่ชิ้นหนึ่งปรากฏอยู่ในวารสารคอมพิวเตอร์ชื่อดังของจีน ว่าด้วยการบังคับใช้ระเบียบฉบับใหม่ของจีน ซึ่งมีผลทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆในประเทศจีนต้องบวกภาษีสิ่งแวดล้อมเพิ่มเข้าไปอีกประมาณชิ้นละ7-15หยวน มากน้อยแล้วแต่ว่าเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ ตู้เย็น ทีวี เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ หรืออื่นๆ ที่จริงระเบียบใหม่นี้ได้ประกาศใช้มาตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมแล้ว แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ในประเทศจีนยังไม่ค่อยได้รับรู้อะไรกันมากนัก กว่าจะรู้ก็คงอีกสักระยะเมื่อถึงคราวจะต้องหาซื้อทีวีหรือคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่นั่นแหละ มาตรการออกระเบียบใหม่เที่ยวนี้ นัยว่าเป็นการเดินหน้าเอาจริงเอาจังเรื่องสิ่งแวดล้อม หลังจากที่ประเทศจีนถูกกล่าวขานจากทั่วโลกว่ามีอัตราการเพิ่มของมลพิษสิ่งแวดล้อมที่มากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก เงินที่เก็บเป็นภาษีสิ่งแวดล้อมนี้ รัฐบาลจีนจะนำไปใช้สนับสนุนส่งเสริมให้กับบรรดาโรงงานกำจัดขยะทั้งหลาย(ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอกชน) ให้สามารถทำการคัดแยกและกำจัดขยะที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น เมื่อรวมเข้ากับกองทุนสิ่งแวดล้อมเดิมที่มีอยู่แล้ว เอกชนหรือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จะมีเงินทุนใช้ในการจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์เฉลี่ยระหว่าง35-85หยวนต่อหนึ่งเครื่อง ในเวลาเดียวกันก็จะมีเงินอีกก้อนหนึ่งสำหรับตอบแทนแก่ผู้บริโภคที่นำเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่ามาส่งให้โรงงานกำจัดขยะ แทนที่จะขายต่อในราคาถูกให้กับคนรับซื้อของเก่าที่เอาไปถอดชิ้นส่วนขายอย่างไม่ถูกต้องและก่อให้เกิดมลพิษ
กว่าสิบปีที่ผ่านมา ประเทศจีนได้กลายเป็นศูนย์กลางรับซื้อขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าสารพัดชนิดถูกขนส่งทางเรือจากทั่วโลกมายังจีน เพื่อที่จะแยกชิ้นส่วนเพื่อนำเอา ทองแดง เหล็ก พลาสติก และโลหะสำคัญอีกหลายชนิดกลับมาใช้งานใหม่ บวกเข้ากับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมและแบบแผนการบริโภคของจีนสมัยใหม่ ทำให้จีนมีปัญหาด้านมลพิษเพิ่มมากขึ้นจนรัฐบาลเริ่มวิตกกังวล เฉพาะในวงการคัดแยกขยะซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานคัดแยกของเอกชน รัฐบาลท้องถิ่นยังไม่สามารถเข้าไปควบคุมหรือวางมาตรฐานการคัดแยกและกำจัดขยะพิษได้ ตัวอย่างเช่นการคัดแยกสายทองแดงในเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนใหญ่ยังคงใช้วิธง่ายๆคือการเผาเพื่อเอาทองแดงออกจากเปลือกหุ้มพลาสติก โดยไม่ได้คำนึงถึงมลพิษจากการเผาไหม้และสารเคมีหรือโลหะพิษอื่นๆที่ถูกเผาไฟในคราวเดียวกัน
ตัวอย่างปัญหาขยะพิษที่คนจีนด้วยกันเองมักกล่าวถึง ได้แก่ตำบลเล็กๆแห่งหนึ่งนอกเมืองกวางโจว ถูกขนานนามว่าเป็นเมืองหลวงของขยะอิเล็กทรอนิกส์ มีโรงคัดแยกขยะระดับครัวเรือนกระจุกกันอยู่กว่า5,000แห่ง ประชากรกว่า200,000ในตำบลและหมู่บ้านใกล้เคียง เกี่ยวข้องโดยตรงทางใดทางหนึ่งกับอุตสาหกรรมการคัดแยกขยะเหล่านี้ เชื่อกันว่าในจำนวนขยะอีเล็กทรอนิเกือบ5ล้านตันต่อปี(2.3ล้านตันภายในประเทศ กับอีกไม่น้อยกว่า3ล้านตันที่นำเข้า)กว่าครึ่งถูกนำมาคัดแยกในมณฑลกวางตงและส่งกลับไปใช้ใหม่ในอุตสาหกรรมต่างๆของจีน จากผลการสำรวจคุณภาพชีวิตประชากรจีนที่เปิดเผยอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปีที่แล้ว ดูจากเครื่องใช้ไฟฟ้าหลักห้ารายการสำคัญ(หรือที่เรียกกันเล่นๆในการตลาดของจีนว่า5ลูกพี่ใหญ่เครื่องใช้ไฟฟ้า) ครัวเรือนจีนมีทีวีรวมทั้งประเทศ520ล้านเครื่อง มีตู้เย็นใช้ประมาณ300ล้านเครื่อง มีเครื่องซักผ้าอยู่อีกประมาณ320ล้านเครื่อง เครื่องปรับอากาศอีก330ล้านเครื่อง และมีเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะอยู่300ล้านชุด ในแต่ละปีมีเครื่องใช้ไฟฟ้าบิ๊กไฟล์เหล่านี้ถูกโยนทิ้งข้างถนนหรือขายให้กับพวกเก็บของเก่าหลายสิบล้านชิ้น ทั้งนี้ยังไม่รวมขยะอิเล็กทรอนิกส์อีกมหาศาลจากอุปกรณ์พกพาเช่นกล้องถ่ายรูปดิจิตอลและโทรศัพท์มือถือ ที่มีอายุใช้งานสั้นกว่าเพราะแฟชั่นมันเปลี่ยนเร็วก็เลยถูกโยนทิ้งเร็วตามไปด้วย ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้รณรงค์ขยายกำลังการอุปโภคและบริโภคภายในประเทศเพื่อทดแทนการส่งออกที่ชะลอตัว สถานการณ์สิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ก็ดูจะเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ไม่เพียงในหัวเมืองขนาดใหญ่เท่านั้น ตอนนี้ปัญหาขยะพิษและเศษชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ใช้แล้ว ได้กลายเป็นปัญหาของเกือบทุกภูมิภาคในประเทศจีนไปแล้ว
สถานการณ์ขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่ใช่เป็นปัญหาลำพังภายในประเทศของจีน ประเทศที่พัฒนาแล้วในตะวันตกก็มีส่วนต้องร่วมรับผิดชอบไม่แพ้กัน ด้วยนโยบายและมาตรการที่เข้มงวด รัฐบาลในประเทศแถบตะวันตกบังคับให้ภาคอุตสาหกรรม มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงในการกำจัดซากขยะพิษและขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ตนผลิตจำหน่าย ทว่าอุตสาหกรรมจำนวนมากเลือกที่จะส่งออกขยะเหล่านี้ไปยังประเทศจีนและอินเดีย เพราะมีต้นทุนถูกกว่าที่จะทำการกำจัดเองอย่างถูกต้องตามกฎหมายที่เข้มงวดภายในประเทศของตัว ฉนั้นปัญหาทั้งหลายทางมลพิษที่เกิดจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศจีน รวมทั้งคุณภาพชีวิตและความเสี่ยงภัยที่แรงงานจีนเผชิญอยู่ ฝรั่งทั้งหลายจึงถือว่าต้องร่วมรับผิดชอบด้วยไม่มากก็น้อย ไม่ใช่จะมายืนชี้นิ้ววิพากษ์วิจารณ์จีนอยู่ฝ่ายเดียว
ในบ้านเราเอง ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่รักก็คงคุ้นเคยกับภาพคนเก็บของเก่าสุมไฟเผาขดสายไฟเพื่อเอาทองแดง หรือหลายท่านคงยังจำข่าวเหตุการณ์ซาเล็งแงะเครื่องเอ็กซเรย์เก่าจนโดนสารกัมมันตรังสีเจ็บป่วยไปเมื่อหลายปีก่อน หลายท่านอาจกำลังสงสัยแบบเดียวกับผมว่าบรรดาโทนศัพท์มือถือเก่าตกรุ่น ทีวีจอแก้วใหญ่ๆหนาๆที่ทิ้งแล้ว คอมพิวเตอร์รุ่นเก่า ตอนนี้ไปกองรวมกันอยู่ที่ไหน ได้มีการกำจัดอย่างถูกต้องแล้วหรือไม่อย่างไร หรือรอเวลาปะทุเป็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อมในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น