ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันเสาร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2555

การเมืองแบบฮ่องกง


โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์

สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 
           ในภาษาจีนมีคำพังเพยอยู่วลีหนึ่ง “โชคร้าย ไม่มาเดี่ยว” เทียบเป็นไทยเราก็คงทำนองว่า “เคราะห์ซ้ำ กรรมซัด”ช่วงนี้หากท่านผู้อ่านสังเกตติดตามข่าวสารจากประเทศจีนเป็นประจำทุกเช้าเย็นเหมือนอย่างผม คงได้เห็นข่าวในทางร้ายๆเสียมาก จะเรียกอีกที่ว่า “พระศุกร์เข้า พระเสาร์แทรก” ก็คงได้ ทั้งน้ำท่วม แผ่นดินไหว แม่น้ำลากลายเป็นสีเลือดฯลฯ ปรากฏเป็นข่าวใหญ่ในสื่อระดับนานาชาติไปทุกสำนัก กลบข่าวนักกีฬาพาราลิมปิกของจีนไปเรียบร้อย ผมเองสัปดาห์นี้ก็เลยงงๆ ไม่รู้จะนำเสนอเรื่องราวอะไรดีที่พอจะเป็นเรื่องชูใจได้บ้าง เลยตัดสินใจขออนุญาตพาท่านผู้อ่าน เลี้ยวออกนอกประเทศจีน ไปดูบรรยากาศและผลการเลือกตั้งสส.ในเกาะฮ่องกงกันดีกว่า
              เมื่อวันอาทิตย์ที่9ที่ผ่านมา มีการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติของฮ่องกง(LEGCO ) ต้องเรียกว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่จะตัดสินอนาคตการทำงานของท่านผู้ว่าฯ เหลียง ชุน-อิง(ชื่อทางการเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหาร แต่ผมขอเรียกผู้ว่าฯตามแบบคนจีนเค้า) เพราะหลายเดือนมานี้บรรยากาศออกไปในทางไม่ดีเท่าไรนักสำหรับท่านผู้ว่าฯที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น “เด็กสายตรงของรัฐบาลปักกิ่ง”เฉพาะอย่างยิ่งต่อเนื่องมาหลายเดือนตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ที่พรรคฝ่ายค้านกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยแบบเต็มใบ ได้ทยอยออกมาขุดคุ้ยเรื่องส่วนตัวและภรรยา  ภายหลังผลการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผู้ว่าเหลียงคงหายใจหายคอได้ลำบากยิ่งขึ้น ขณะที่ผมกำลังเขียนต้นฉบับอยู่นี้  ดูเหมือนในเว็บไซต์กกต.ของฮ่องกงจะยังไม่มีการประกาศผลการเลือกตั้ง แต่คะแนนอย่างไม่เป็นทางการมีเผยแพร่ตั้งแต่เมื่อวันจันทร์แล้ว ว่ากลุ่มนิยมประชาธิปไตยฮ่องกงอันเป็นฝ่ายตรงข้ามกับปักกิ่ง น่าจะได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น
             จากข้อมูลล่าสุดที่มี การเลือกตั้งคราวนี้ มีพรรคต่างๆลงสมัครกัน20พรรคในส่วนสส.เขต แต่ในส่วนสส.กลุ่มอาชีพมีผู้สมัครอิสระเข้ามาด้วย ถึงตรงนี้คงต้องอธิบายเพิ่มว่าฮ่องกงมีสส.ทั้งหมด70ที่นั่ง แยกเป็นสส.เขต35ที่นั่ง สส.จากกลุ่มอาชีพอีก35ที่นั่ง หากจะว่ากันตามข้อมูลที่สรุปได้ตอนนี้ ฝ่ายนิยมปักกิ่งได้สส.เขต17ที่นั่ง สส.จากกลุ่มอาชีพ26ที่นั่ง รวมเป็น43ที่นั่ง ฝ่ายนิยมประชาธิปไตยได้สส.เขต18ที่นั่ง สส.จากกลุ่มอาชีพ9ที่นั่ง รวมเป็น27ที่นั่ง แม้ฝ่ายประชาธิปไตยจะได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น แต่ผมก็เห็นข่าวนายอัลเบิร์ท โฮ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยฮ่องกงประกาศรับผิดชอบลาออก เพราะคะแนนส่วนของพรรคหายไปมาก ทำนองว่าฝ่ายนิยมประชาธิปไตยตัดคะแนนกันเองในหลายเขต
                ว่าไปแล้ว ผลการเลือกตั้งที่ออกมา ต่างไปจากที่นักวิเคราะห์หลายสำนักได้คาดการณ์กันไว้เล็กน้อย เพราะก่อนหน้านี้กระแสการต่อต้านอำนาจของปักกิ่งดูท่าทางมาแรงมาก บวกเข้ากับนโยบายบรรจุวิชารักชาติแผ่นดินจีนให้นักเรียนชั้นประถมของท่านผู้ว่าฯ ก็เลยสร้างกระแสให้ชาวฮ่องกงค่อนไปในทางหมั่นไส้และไม่ไว้วางใจ นักวิเคราะห์ทางการเมืองเลยเชื่อกันว่า เลือกตั้งเที่ยวนี้ ฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยน่าจะเข้าสภามาได้มาก และอาจจะเอาชนะฝ่ายนิยมปักกิ่ง เที่ยวนี้ฝ่ายนิยมประชาธิปไตยดูเหมือนได้ใจได้เสียง แต่ยังได้คะแนนไม่มากพอ อะไรเป็นเหตุให้การเลือกตั้งออกมาในแนวทางนี้ คงตอบให้ชัดได้ยาก แต่เฉพาะหน้าปัจจัยที่เห็นๆกันอยู่ ฝ่ายค้านหรือพวกนิยมประชาธิปไตยจัด ดูเหมือนจะไม่เป็นเอกภาพเท่าไรนัก แม้จนนาที่สุดท้ายวันรับสมัครผู้เข้ารับการเลือกตั้ง ผมยังเห็นมีข่าวทะเลาะกันเรื่องเขตพื้นที่ เคลียร์กันไม่ลง ท้ายสุดคงไม่พ้นตัดคะแนนกันเอง เรื่องขาดเอกภาพนี้เห็นเป็นมาหลายเวที รวมทั้งระดับความเข้มข้นของการต่อต้านการบังคับใช้นโยบายจากปักกิ่ง แต่ละกลุ่มต่างก็มีแนวทางของตน เรียกว่าแยกย้ายกันเข้าตี พอถึงเวลาก็เลิกเอาเฉยๆ ปัจจัยอย่างที่สองที่มีการพูดกันมากก็คือ แม้คราวนี้คนจะออกมาใช้สิทธิ์กันมาก คือร้อยละ53ของจำนวนผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด3.4ล้านคน มากกว่าคราวเลือกตั้งปี2008 ที่ออกกันมาเพียงร้อยละ45.2 แต่คำถามคือพวกที่อ้างว่าต้องการให้ฮ่องกงเป็นประชาธิปไตย และพวกที่กล่าวหาว่าปักกิ่งครอบงำการเมืองฮ่องกง อยู่ในกลุ่มที่ออกมาลงคะแนน หรืออยู่ในกลุ่มที่นอนหลับอยู่กะบ้าน ในบรรดาผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ส่วนใหญ่ก็ยังตอบตัวเองไม่ได้ว่า ตกลงต้องการเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ หรือต้องการเห็นเศรษฐกิจฮ่องกงขยายตัวต่อเชื่อมเป็นเนื้อเดียวกับเศรษฐกิจจีน พอสองจิตสองใจตอบไม่ได้ ก็เลยตัดสินใจนอนอยู่กะบ้าน ไม่ยอมออกมาทำหน้าที่หรือเปล่า
              ปัจจัยข้อที่สองนี้ เป็นเรื่องที่ชาวบ้านร้านตลาดทั่วไปพูดกันมากในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ก่อนหน้านั้นมีบทความวิเคราะห์เศรษฐกิจเปรียบเทียบ ระหว่างการขยายตัวของฮ่องกงกับสิงคโปร์ลงตีพิมพ์ในประเทศจีน และถูกนำมาพิมพ์ซ้ำในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของฮ่องกงที่เป็นฉบับภาษาจีน เนื้อความทำนองว่า คนฮ่องกงจำนวนมากไม่พอใจที่เห็นเศรษฐกิจของสิงคโปร์ขยายล้ำหน้าไปไกล ทั้งที่เมื่อก่อนเป็นรองฮ่องกงอยู่มาก ในช่วงเกือบ20ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจ( GDP) ของฮ่องกงขยายตัวได้เพียงร้อยละ3.96โดยเฉลี่ย ในขณะที่สิงคโปร์ที่เคยเป็นรองกลับขยายได้ถึงร้อยละ6.6โดยเฉลี่ย ชาวฮ่องกงมัวแต่โทษว่าเป็นเพราะเมื่อรวมกับจีนแผ่นดินใหญ่แล้วทำให้เศรษฐกิจแย่ลง แต่ไม่เคยไตร่ตรองดูว่าความวุ่นวายทางการเมืองภายใน ที่ชาวฮ่องกงก่อขึ้น (จากการประท้วงผู้ว่าฯ ประท้วงปักกิ่ง ประท้วงสิทธิมนุษยชนฯลฯ) ได้บั่นทอนบรรยากาศการลงทุนไปมากแค่ไหน ในขณะที่สิงคโปร์มีบรรยากาศทางการเมืองที่สงบเรียบร้อยมากกว่า หากชาวฮ่องกงมีความจริงใจที่จะร่วมกันสร้างเศรษฐกิจให้ก้าวหน้า และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่(ไม่เฉพาะคนชั้นกลางเรื่องมาก บ่นมาก)บนเกาะฮ่องกง ก็ย่อมสามารถทำได้ และจะทำได้ดีกว่าสิงคโปร์ แต่ชาวฮ่องกงควรต้องยุติการทำให้เรื่องทุกเรื่องเป็นประเด็นทางการเมืองและความขัดแย้งระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และเกาะฮ่องกงไปเสียหมด
            บทความชิ้นดังกล่าวในสายตานักประชาธิปไตย อาจถือได้ว่าเป็นการข่มขู่หรือแบล็คเมล์ทางการเมือง ทำนองว่าจะเอาประชาธิปไตยเต็มใบ หรือจะเอาปากท้องเป็นเรื่องใหญ่ แต่ดูเหมือนประชาชนชาวฮ่องกงจำนวนไม่น้อย ไม่รู้สึกว่าโดนข่มขู่ และอาจได้ตัดสินใจไปแล้วในการเลือกตั้งคราวนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น