ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ธุรกิจ SMEs จีนปี 2012

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
ปี  2012 ท่าทางจะไม่ใช่ปีที่ดีเท่าไรนัก สำหรับบรรดาธุรกิจเพื่อการส่งออกของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เรียกกันว่า SMEs ทั้งหลาย แม้ว่าโดยภาพรวมตั้งแต่ต้นปี รัฐบาลจีนจะได้พยายามปลอบใจผู้ประกอบการทั้งหลาย ว่า จีนจะยังคงนโยบายเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจลงแรงเกินไป แต่ก็เป็นที่รับรู้กันดีในหมู่ผู้ประกอบการว่า คงมีแต่ธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้นที่จะสามารถฝ่าวิกฤติการส่งออกเที่ยวนี้ไปได้ ความหวังว่าจะสามารถรอดตายกันทั้งหมดนั้น คงจะยากอยู่สักหน่อย ที่ผมเกริ่นนำเสียน่าหดหู่เช่นนี้ ไม่ใช่ว่าจะยกเมฆขึ้นมาเองนะครับ แต่ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เปิดสำรวจดูจากบรรดาสื่อจีนสายธุรกิจต่างๆ ที่ทำการวิเคราะห์กันแล้ว ออกมาในแนวนี้เกือบทั้งหมด สัปดาห์นี้ผมก็เลยจะขอชวนท่านผู้อ่าน ทั้งที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจค้าๆ ขายๆและท่านที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรง ลองสำรวจติดตามดูว่าทำไมแนวโน้มการส่งออกของผู้ประกอบการจีนในปี 2012  จึงได้มีปัญหามากมายนัก
นิตยสารปักกิ่งรีวิวฉบับวางตลาดล่าสุด รายงานผลการศึกษาภาวการณ์ส่งออกสินค้าจีนในปี 2012 ของศูนย์วิจัยและพัฒนาวิสาหกิจจีน สังกัดสภาที่ปรึกษาของรัฐบาล ระบุว่า สินค้าจีนจะพบกับการแข่งขันและอุปสรรคครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สมัยใหม่นับแต่จีนเปิดประเทศ สาเหตุหลักๆ มาจากปัจจัยด้านอุปสงค์ต่อสินค้าจีนที่ลดลงอย่างมาก ทั้งต่างประเทศและภายในประเทศ ในขณะที่ค่าจ้างแรงงานภายในประเทศและต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น นอกจากนี้ยังต้องพบกับปัญหาแทรกเรื่องต้นทุนในการรักษาสิ่งแวดล้อมตามมาตรการใหม่ของรัฐบาลจีน ปัญหาขาดแคลนที่ดิน และปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินหยวนที่สูงค่าขึ้น ทั้งหมดนี้รวมกันแล้วทำให้สถานการณ์น่าหนักใจกว่าเมื่อตอนเกิดวิกฤติปี 2008 เสียด้วยซ้ำ
นับตั้งแต่จีนปฏิรูประบบเศรษฐกิจมากว่าสามสิบปี เรามักคุ้นเคยแต่กับข่าวสารการขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้งของธุรกิจในภาคส่วนต่างๆ ข่าวประเทศจีนดึงเงินลงทุนเข้าประเทศได้ปีละมากๆ ข่าวจีนพัฒนาด้านโน้นด้านนี้อย่างรวดเร็ว ข่าวประเทศจีนแกร่งจนสามารถออกไปลงทุนนอกประเทศ ฯลฯ ราวกับว่าไม่มีใครหรืออะไรจะมาฉุดเศรษฐกิจจีนไว้ได้ จนเมื่อ 3-4 ปี มานี้เอง ที่ข่าวแง่ลบเริ่มจะมีออกมา ทั้งนี้ก็คงหนีไม่พ้นสาเหตุจากวิกฤตการณ์ในสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก ซึ่งเป็นตลาดสำคัญของสินค้า อย่างไรก็ดี ดูเหมือนในช่วงแรกๆ หรือแม้เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ใครต่อใครก็ยังคาดหวังว่าความแข็งแกร่งของจีนจะพอช่วยพยุงไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายเกินไป พูดง่ายๆ ก็คือ คิดจะฝากผีฝากไข้ไว้กับประเทศจีนนั่นเอง  แต่มาถึงนาทีนี้ ผมเองก็ชักไม่ค่อยแน่ใจว่าความหวังทั้งหลายนี้จะยังหนักแน่นยึดถืออยู่ได้หรือไม่
ดูจากตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เราคงเห็นชัดว่าอัตราการขยายตัวของจีนเริ่มจะลดระดับลง ไม่ได้เห็นเลขสองหลักมาหลายปีแล้ว ยิ่งเมื่อเข้าไปดูในภาคการผลิตแยกประเภท ตัวเลขที่พบในส่วนของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เห็นแล้วก็ยิ่งน่าตกใจ เพราะนอกจากจะไม่มีการขยายตัวที่ชัดเจนแล้ว จำนวนธุรกิจที่เลิกกิจการไปก็มีเพิ่มมากขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือ มีผู้ประกอบการที่ปิดกิจการมากกว่าที่เปิดใหม่ จนทำให้หน่วยงานภาครัฐของจีนที่มีหน้าที่ดูแลธุรกิจ SMEs ต้องออกมาหามาตรการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นมาตรการลดภาระด้านภาษี  การส่งเสริมการแสวงหาตลาด การปรับปรุงด้านต้นทุนการผลิตและเทคโนโลยีเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานที่ไม่จำเป็น ฯลฯ กระนั้นก็ยังไม่มีใครกล้ายืนยันได้ว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเหล่านี้ จะสามารถอยู่รอดฝ่าปี 2012 ไปได้ทั้งหมด
หากพิจารณาจากเป้าหมายการพัฒนาที่ปรากฏอยู่ในแผนห้าปีฉบับที่12 ของจีน ในแต่ละปีนับตั้งแต่ 2011 ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของจีนจะต้องขยายตัวเพิ่มไม่น้อยกว่าร้อยละ 8 ต่อปี โดยมีรายได้รวมเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 6 ต่อปี เฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจขนาดกลางที่อยู่ในภาคบริการซึ่งเป็นความหวังหลักในการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ยังมีช่องว่างอยู่อีกมาก อีกทั้งจะเป็นภาคส่วนที่สามารถจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นได้ด้วย ทว่าผ่านมาแล้วร่วมปีนับตั้งแต่เริ่มเข้าแผนฉบับที่ 12 อย่างจริงจัง ดูเหมือนตัวเลขเหล่านั้นยังไม่บรรลุเป้า และดูเหมือนโอกาสจะได้ตามเป้าหมายในปี 2012 นี้ ก็ยิ่งริบหรี่ลงอีก เวลานี้งานหนักก็เลยไปตกอยู่กับหน่วยงานราชการที่จะต้องเร่งหาหนทางเยียวยาแก้ไข ไม่ให้กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กเหล่านี้ มีอันต้องล้มหายเลิกกิจการไป หลักๆ ก็คือ การเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงให้บริการด้านต่างๆที่จับมือกันฟันฝ่าปีที่ยากลำบากนี้ไปให้จงได้
ที่ผมเอาเรื่องราวเกี่ยวกับธุรกิจ SMEs ของจีน มาเล่าให้ฟัง อาจดูยังเป็นเรื่องไกลตัวและล่วงหน้าก่อนเวลาไปสักหน่อย แต่ข้อเท็จจริงก็คือ หากธุรกิจจีนขนาดกลางและขนาดเล็กเหล่านี้ไม่สามารถอยู่รอดเติบโตได้ในเงื่อนไขสิ่งแวดล้อมและการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไปในประเทศจีน เตรียมใจไว้ได้เลยครับ ว่าเราจะได้เห็นผู้ประกอบการจีนอีกนับล้าน (นอกเหนือจากที่เดินกันเต็มเมืองไทยอยู่แล้ว ) พาเหรดกันออกมาหาช่องทางทำมาหากินแข่งขันในภูมิภาคเพิ่มมากยิ่งขึ้น ด้วยปัจจัยดึงดูดของแหล่งวัตถุดิบราคาถูกและตลาดที่ยังมีช่องว่างเหลืออยู่ ถึงเวลานั้นก็คงไม่ใช่เรื่องไกลตัวแล้ว สำคัญว่าบรรดาผู้ประกอบการของไทยทั้งใหญ่ทั้งเล็กจะเตรียมการตั้งรับไหวหรือไม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น