ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ธุรกิจจีนกับกระแสไมโครไฟแนนซ์

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

              เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับธุรกิจ SMEs จีนที่กำลังเผชิญกับปัญหารุมเร้าในปี 2012 นี้ เพื่อให้เห็นภาพรวมและไม่เป็นการมองโลกในแง่ร้ายจนเกินไปนัก ผมก็เลยจะขออนุญาตท่านผู้อ่าน นำเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องมาพูดคุยเพิ่มเติมในวันนี้ เนื้อข่าวก็สืบเนื่องมาจากหนังสือพิมพ์ไชน่าเดลีฉบับสดๆ ร้อนๆ วันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ นี่แหละครับ พาดหัวหน้าเศรษฐกิจว่าสถาบันการเงินและสินเชื่อประเภทที่เรียกกันว่า Micro Finance กำลังมาแรง และเป็นที่สนใจให้การสนับสนุนจากภาครัฐของจีน โดยเฉพาะในช่วงปีใหม่นี้ รัฐบาลจีนได้ผ่อนคลายระเบียบข้อบังคับต่างๆ ลงมาก ทั้งหมดนี้เพื่อที่จะกระตุ้นให้เกิดช่องทางสินเชื่อช่องใหม่ สำหรับเป็นที่พึ่งของบรรดาธุรกิจ SMEs ทั้งหลายของจีน
            ว่ากันตามจริงแล้ว สถาบันการเงินเฉพาะกิจขนาดย่อมแบบที่เรียกกันว่า Micro Finance นั้น ไม่ใช่ว่าจะเป็นของใหม่ในประเทศจีนแต่อย่างใด เช่นเดียวกับประเทศสังคมนิยมอื่นๆ ทั่วไป ประเทศจีนเองในสมัยหนึ่ง ก็มีสถาบันการเงินเฉพาะกิจขนาดย่อมที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลให้การสนับสนุนและชี้นำการพัฒนาของวิสาหกิจให้เติบโตไปในแนวทางที่รัฐบาลวางแผนส่งเสริมไว้ อย่างไรก็ดี ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1980 หลังจากที่ระบบเศรษฐกิจชี้นำโดยตลาดเข้ามามีบทบาทอย่างเต็มที่ รัฐบาลจีนตัดสินใจเปิดเสรีเพิ่มมากขึ้น ด้วยการส่งเสริมให้ทุนภายนอกเข้ามาทำหน้าที่นำการลงทุน วิสาหกิจจำนวนมากที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และเป็นภาระกับรัฐบาลทยอยถูกโละขาย ต่างชาติถูกชักชวนให้เข้ามาซื้อกิจการและร่วมลงทุน สถาบันการเงินขนาดย่อมของจีนเดิมๆ ก็ถูกยกเครื่อง เกือบทั้งหมดพัฒนาไปเป็นธนาคารพานิชขนาดใหญ่ทันสมัยมีสาขาไปทั่วประเทศ ดูจากชื่อของธนาคารหลายต่อหลายแห่งในปัจจุบัน ก็ยังมีร่องรอยความเป็นสถาบันการเงินเฉพาะทางในอดีตเหลืออยู่ เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนา ธนาคารเพื่อการเกษตร ธนาคารเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้าง ธนาคารเพื่อส่งเสริมสหกรณ์การผลิตฯลฯ  ใหญ่บ้างเล็กบ้างกระจายกันให้เห็นๆ อยู่ทั่วไป
            ธรรมดาเมื่อกลายมาเป็นธนาคารสมัยใหม่เต็มรูปแบบ วัตถุประสงค์เดิมในการส่งเสริมวิสาหกิจเฉพาะด้านก็เปลี่ยนไป จะโดยรับเอาวัฒนธรรมธนาคารตะวันตกหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ นโยบายการปล่อยกู้ของธนาคารเหล่านี้ เลยมุ่งไปที่การเอาอกเอาใจธุรกิจและโครงการขนาดใหญ่ โอกาสที่ SMEs จีนจะได้ผุดได้เกิดด้วยการสนับสนุนของธนาคารใหญ่ๆเหล่านี้จึงเป็นไปได้น้อยมาก ไหนจะต้องมีทุนค้ำประกัน ไหนจะต้องมีผลการศึกษาความเป็นไปได้และแผนธุรกิจระยะ10-20ปี ไหนจะต้องมีสถาบันการเงินร่วมทุนฯลฯ เงื่อนไขสารพัดเหล่านี้ ไม่เอื้ออำนวยให้ธุรกิจเกิดใหม่หรือธุรกิจขนาดย่อมขนาดกลางของจีนอาศัยพึ่งพาได้
            ในสถานการณ์ปรกติ SMEs จีนส่วนใหญ่จึงเริ่มต้นและเติบโตด้วยการระดมทุนในหมู่เครือญาติเพื่อนสนิท หรือมิเช่นนั้นก็ต้องค้าขายแบบเงินเชื่อหรือใช้บริการของเงินกู้เอกชนนอกระบบธนาคาร แบบเดียวกับบ้านเรายังไงยังงั้น จะดีกว่าหน่อยก็ตรงที่ระบบเครดิตเอกชนของจีน เป็นอะไรที่มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ฝังอยู่แต่เดิมแล้วในวัฒนธรรมจีน กลไกเหล่านี้เองที่เป็นปัจจัยให้ธุรกิจรายเล็กรายน้อยของจีนผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดได้โดยง่าย ทันทีที่รัฐบาลเปิดไฟเขียว ประชาชนหัวการค้ารายเล็กรายน้อยก็เกิดเต็มประเทศ สำเร็จบ้าง ล้มลุกคลุกคลานบ้าง เจ๊งบ้าง ว่ากันไปตามธรรมชาติ
มาบัดนี้ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2012 ต้องเรียกว่าไม่ปรกติ แต่ดูเหมือนธนาคารพานิชของจีนโดยทั่วไปยังดำเนินนโยบายสินเชื่อแบบปรกติ หรือซ้ำร้ายกว่านั้นก็คือเพ่งเล็งเข้มงวดกับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางที่อยู่ในระบบธนาคารหนักยิ่งขึ้นกว่าเดิม ด้วยสัญชาติญาณทางการเงินทั่วไป คือ กลัวรายย่อยเจ๊งมากกว่ากลัวรายใหญ่เบี้ยวหนี้ ในขณะที่ช่องทางระดมทุนหรือหยิบยืมหาเงินกู้ระยะสั้นในระหว่างเอกชนก็ทำได้ลำบาก เพราะต่างคนต่างก็ต้องสงวนสภาพคล่องของตัวเอาไว้ เรียกว่าเอาตัวรอดไว้ก่อน ให้ดอกเบี้ยสูงอย่างไรก็ไม่ขอเสี่ยง อย่างที่ผมเล่าเอาไว้เมื่อคราวที่แล้วว่าปี 2012 เราจะได้เห็น SMEs จีนล้มหายตายจากไปไม่น้อยทีเดียว เว้นเสียแต่จะมีท่อออกซิเจนเสียบจมูกมาช่วยต่อลมหายใจ
            ตั้งแต่ต้นปี 2012 จนถึงตอนนี้ รัฐบาลกลางจีนเห็นสภาพปัญหาและภัยคุกคามที่จ่อหน้าบรรดา SMEs จีนดังกล่าว ได้ทยอยแก้ไขกฎระเบียบทางการเงินมาแล้วอย่างน้อยสามฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ผมเล่ามา เริ่มต้นจากการผ่อนคลายกฎระเบียบให้กับสถาบันการเงินของฮ่องกง ให้สามารถเข้ามาประกอบธุรกิจทางการเงินและสินเชื่อรายย่อยได้กว้างขวางในระดับประเทศ จากที่เดิมอนุญาตไว้เป็นเขตๆ ตามติดมาด้วยการแก้ไขกฎหมายทางการเงิน อนุญาตให้สถาบันการเงินต่างประเทศกว่าสิบราย เช่น Fullerton Credit Services Co บริษัทลูกของเทมาเส็ก (ซึ่งเข้ามาทำธุรกิจทางการเงินตั้งแต่ปีที่แล้ว) สามารถขยายเปิดสาขาให้บริการสินเชื่อรายย่อยแก่ธุรกิจขนาดเล็กของจีนเพิ่มเติมอีกหลายหัวเมือง และล่าสุดกรณีเปิดทางให้สถาบันการเงินสัญชาติตะวันตกสามรายรวมทั้งซิตี้แบงก์ สามารถเข้ามาแข่งขันในตลาดสินเชื่อบุคคลได้อย่างเต็มที่ (จากที่เดิมผูกขาดโดยแบงก์ใหญ่ของจีน) ท่อออกซิเจนต่อลมหายใจใหม่ๆ เหล่านี้ อาจได้ประโยชน์ถึงสองทาง คือทั้งขยายกำลังด้านอุปสงค์ พร้อมๆกับต่ออายุให้ธุรกิจ SMEs จีนในฝั่งอุปทาน  จะเอาอยู่หรือไม่ก็คงต้องรอดูต่อไปครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น