ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันอังคารที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2555

หลากมุมมองสถานการณ์สินเชื่อบุคคลจีน

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

              วันหยุดยาว 4 วันซ้อน ที่เพิ่งผ่านไป ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านทั้งหลาย นอกเหนือจากร่วมติดตามงานพระราชพิธีสำคัญถวายความอาลัยรักในสมเด็จพระภคินีเธอเจ้าฟ้า
เพชรรัตนราชสุดาฯ แล้ว คงได้เตรียมการเตรียมงานที่ต้องสะสาง ก่อนจะเจอเทศกาลสงกรานต์วันหยุดยาวที่จะมาถึง ผมเองได้อาศัยช่วงวันหยุดที่ผ่านมา จัดการกับงานที่ค้างสะสมอยู่หลายรายการ ทั้งยังมีเวลาติตามข่าวสารฝั่งจีน ผ่านรายการทีวีดาวเทียมของจีน ได้อย่างต่อเนื่องเต็มอิ่ม เรียกว่ามีเรื่องจะเขียนชวนคุยในคอลัมน์นี้ได้อีกเยอะ ตัวอย่างหนึ่งก็เช่นสกู๊ปข่าวที่ผมได้ชมจากช่องข่าวเศรษฐกิจ cctv2 เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา แรกๆก็ไม่ได้สนใจฟังเป็นพิเศษ นั่งฟังไปเพลินๆ จนสะดุดคำว่าหนี้บัตรเครดิต ถึงได้นั่งลงตั้งใจดูข่าว พบว่าเป็นประเด็นน่าสนใจ อีกทั้งยังสืบเนื่องกับเรื่องที่ผมเคยนำเสนอในคอลัมน์นี้เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ผมก็เลยเข้าไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจากเนื้อข่าวและขอนำมาเล่าสู่ท่านผู้อ่านเพิ่มเติมในสัปดาห์นี้
            ตามเรื่องราวที่เป็นข่าว บัณฑิตสาวจบใหม่รายหนึ่ง ถูกธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตเรียกเก็บเงินค้างจ่ายจำนวน 10,854 หยวน ทั้งที่เป็นหนี้เก่าที่เธอเผลอรูดบัตรไปเพียง 191.11หยวน เมื่อ 5 ปีก่อน เงินต้นเพียง 191.11หยวน กลายมาเป็นยอดหนี้ทบดอกเบี้ยมากถึง10,854หยวน คือประเด็นสำคัญของสารคดีเชิงสืบสวนสอบสวนที่ได้ถูกนำเสนอผ่านจอทีวี แตกประเด็นออกไปอีกหลายเรื่อง เช่น ข้อเท็จจริงที่ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ธนาคารพานิชเจ้าของบัตรเครดิตเกือบทุกราย แข่งขันกันออกบัตรและทำยอดลูกค้า โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือนักศึกษามหาวิทยาลัย ทั้งๆ ที่เป็นกลุ่มซึ่งยังไม่มีรายได้เป็นชิ้นเป็นอัน นับตั้งแต่ปี 1985 เมื่อรัฐบาลจีนเริ่มอนุญาตให้เปิดบริการบัตรเครดิตเป็นต้นมา ถึงเมื่อปลายไตรมาสที่ 3 ของปีก่อน มีจำนวนผู้ถือบัตรเพิ่มขึ้นเป็น 286 ล้านใบ มีการรูดบัตรจับจ่ายผ่านบัตรเครดิตสูงถึง 1.1 ล้านล้านหยวน แต่ในจำนวนนี้ ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตรงเวลา หรือชำระได้ก็ไม่เต็มจำนวน ตัวเลขที่น่าตกใจยิ่งขึ้นก็เช่น ตัวเลขคดีความเกี่ยวกับบัตรเครดิตที่ฟ้องร้องกันในศาลประชาชนนครปักกิ่งเขตที่มีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่มาก ในปี 2009 ปีเดียว  1 ใน 3 ของคดีเกี่ยวข้องกับลูกหนี้ที่เป็นนักศึกษา จนรัฐบาลในเวลานั้นต้องออกมาเพิ่มมาตรการควบคุมการออกบัตร

             มาในปัจจุบัน เมื่อรัฐบาลจีนได้เริ่มผ่อนปรนกฎระเบียบ และเปิดเสรีให้สถาบันการเงินของต่างชาติ สามารถเข้ามาให้บริการสินเชื่อบุคคลได้กว้างขวางขึ้น ปัญหารูปแบบใหม่ก็เริ่มปรากฏ กล่าวคือ แม้จะได้มีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครขอมีบัตรเครดิตเข้มข้นยิ่งขึ้น แต่กลายเป็นว่าธนาคารต่างๆหันมาหารายได้เพิ่มด้วยการคิดค่าธรรมเนียมบริการสารพัดรูปแบบ ประเด็นนี้ก็กลายมาเป็นข่าวที่โจทย์ขานกันมากในหมู่ประชาชนผู้ใช้บริการ อีกทั้งยังลามไปถึงการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการกดเงินสดจากตู้ ATM ของบัตรเดบิต (บัตรจับจ่ายสินค้าหักเงินสดจากบัญชีธนาคารโดยตรง) ตัวอย่างหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาวิจารณ์กันมากก็คือ การทดลองนำเงินสดเข้าบัญชี 500 หยวน แล้วกดเงินสดจากตู้ ATM บัญชีเดียวกันออกมา 500หยวน เครื่องจะแจ้งทันที่ว่าเป็นหนี้ค่าธรรมเนียมกดเงินสด 10 หยวน หากเป็น 1,000 หยวน ก็จะเป็นหนี้ 20 หยวน ในอัตราเดียวกับการกดเงินสดโดยใช้บัตรเครดิต ทั้งที่ในความรู้สึกของประชาชนทั่วไป ค่าธรรมเนียมที่ว่านี้ เป็นการเอาเปรียบที่ยอมรับไม่ได้ และเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาตรวจสอบการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ เหล่านี้ ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  สถานการณ์ของปัญหาสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิตที่ดำเนินอยู่ในประเทศจีนขณะนี้ ส่วนหนึ่งมีที่มาจากพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้ถือบัตรเองที่ยังไม่คุ้นเคยกับรูปแบบการใช้จ่ายเงินด้วยบัตรพลาสติก แต่ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวการการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมของธนาคารเจ้าของบัตรแต่ละแห่ง ยังไม่เป็นมาตรฐานพอ และอาจมีการเรียกเก็บที่จุกจิกมากเกินควร เรื่องแบบนี้ผมเข้าใจว่าในประเทศไทยเราก็เคยประสบมาแล้ว หลายเรื่องจึงฟังดูคุ้นหูมากๆ
              อย่างไรก็ดี จากการค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม ผมคิดว่าปัญหาเรื่องการใช้บัตรเครดิตในประเทศจีน อาจต้องพิจารณาจากมุมมองที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น งานวิจัยที่จัดทำโดยกลุ่มนักวิชาการด้านการเงินการธนาคาร จากสถาบันวิจัยร่วมของมหาวิทยาลัย Nottingham ที่เมืองหนิงโป เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้บัตรเครดิตของผู้บริโภคชาวจีน ปรากฏว่าก็มีข้อมูลน่าสนใจอีกแบบหนึ่ง กล่าวโดยรวมก็คือผู้บริโภคชาวจีนส่วนใหญ่ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจระดับกลางขึ้นไป (อันเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของธนาคาร) นิยมมีบัตรทั้งเครดิตและเดบิตคนละหลายๆใบ แต่ไม่นิยมจับจ่ายซื้อหาสินค้าผ่านบัตรพลาสติกเหล่านี้ เหตุผลหลักๆที่ทีมวิจัยค้นพบก็คือ ชาวจีนส่วนใหญ่ไม่ไว้ใจการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเมื่อเทียบกับการซื้อสินค้าบริการด้วยเงินสด ประการที่สอง วัฒนธรรมการซื้อขายของจีนโดยทั่วไปยังคงเน้นการเจรจาต่อรอง ในเมื่อราคาสินค้ายังไม่นิ่ง การใช้จ่ายด้วยบัตรก็เลยดูสุ่มเสี่ยงที่จะไม่ได้ต่อรองอย่างเต็มที่ ประการที่สาม ชาวจีนมองว่าการซื้อหาสินค้าและบริการผ่านบัตรเครดิตเป็นการก่อหนี้(ซึ่งก็จริง) และไม่รู้สึกสบายใจที่จะคอยวิตกกับยอดหนี้เรียกเก็บทุกๆเดือน ไม่ว่ายอดจะมากหรือน้อยก็ตาม ประการสุดท้าย โครงสร้างพื้นฐานและวัฒนธรรมการค้าของจีนยังคงนิยมการค้าขายด้วยเงินสด ทำให้ยังมีร้านค้าที่พร้อมรับบัตรเครดิตและบัตรเดบิตครองคลุมไม่ทั่วถึงทั้งประเทศ
              ในขณะเดียวกัน ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังจากที่รัฐบาลจีนไฟเขียวให้สถาบันการเงินต่างชาติเข้ามาให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลและบริการบัตรเครดิตได้ง่ายขึ้น ผมก็เห็นรายงานการศึกษาตลาดบัตรเครดิตจีนของแบงค์ต่างชาติ ออกมาในแนวโน้มที่น่าตื่นเต้น น่าลงทุนอย่างยิ่ง ทำให้นึกเอาเองในใจว่า ตลาดจีนเฉพาะในเรื่องสินเชื่อและบัตรเครดิตอย่างเดียว ก็ดูเหมือนมีความหลากหลายมาก ที่เป็นข้อมูลปรากฏทางสื่อจีนก็เป็นแบบหนึ่ง งานศึกษาทางวิชาการก็ไปอีกทาง งานวิเคราะห์ทางการตลาดก็อีกทาง ใครจะทำอะไรคงต้องระวังกันให้มาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น